ถอดแนวคิด การปรับโมเดลธุรกิจในแบบฉบับ BGC

ถอดแนวคิด การปรับโมเดลธุรกิจในแบบฉบับ BGC

7 มิ.ย. 2021
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีข้อจำกัดในการเข้าแข่งขัน (High barrier to entry) สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่
เพราะต้องใช้เงินลงทุนในการเริ่มต้นจำนวนมาก และต้องเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย บวกกับอาศัยความเชี่ยวชาญในธุรกิจ
ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่ครองส่วนแบ่งในตลาดอยู่เพียงไม่กี่ราย
โดยผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีกำลังการผลิตรวมสูงสุดในประเทศไทยคือ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส หรือ BGC
ซึ่งจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมหลายภูมิภาคทั่วโลก
ล่าสุด จากการขยายตัวของยอดขายบรรจุภัณฑ์แก้วที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
BGC จึงเตรียมลงทุนก่อสร้างเตาหลอมแก้วแห่งใหม่ที่จังหวัดราชบุรี ซึ่งมีกำลังการผลิต 400 ตันต่อวัน
ด้วยงบลงทุน 1,600 ล้านบาท และคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน
โดยยังเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รองรับการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วทั้งในและต่างประเทศ
แต่การเติบโตยังไม่หยุดเพียงเท่านี้ เพราะ BGC เตรียมปรับโมเดลสู่การเป็นผู้นำด้านบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร (Total
Packaging Solutions)
ภายใต้กลยุทธ์ที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) ควบคู่กับการขยายการส่งออกในกลุ่มลูกค้าที่มีอัตรากำไรดี
และที่สำคัญคือ การเติบโตแบบ Inorganic Growth หรือการมองหาโอกาสควบรวมกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว
เรียกว่า BGC จะมีผลิตภัณฑ์หลากหลายครอบคลุมตั้งแต่บรรจุภัณฑ์แก้ว ฟิล์มพลาสติก ฝาพลาสติก ขวด PET หลอดพรีฟอร์ม และกล่องกระดาษลูกฟูก
โดยเฉพาะธุรกิจบรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติกที่บริษัทฯ สนใจเป็นพิเศษ
เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากบรรจุภัณฑ์แก้วได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง
การพัฒนาธุรกิจสู่ Total Packaging Solutions จะเพิ่มแต้มต่อทางธุรกิจและเพิ่มยอดขายสินค้าต่อลูกค้าแต่ละรายมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีเฉพาะบรรจุภัณฑ์แก้ว ก็สามารถนำเสนอสินค้าอื่น ๆ เช่น ฝา กล่องกระดาษ ฟิล์มพลาสติก (ฉลาก) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเพิ่มรายได้ให้เติบโตเท่าตัว จากระดับหมื่นล้านบาท เป็น 25,000 ล้านบาท ภายในปี 2025
โดยการที่ธุรกิจของ BGC มีความหลากหลายมากขึ้นนั้น ยังช่วยลดโอกาสที่บรรจุภัณฑ์แก้วจะถูกแทนที่ (Disrupt) ในอนาคต จากบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ
เพราะบริษัทฯ จะสามารถสร้างบรรจุภัณฑ์ทางเลือกใหม่ ๆ
ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ด้านสุขภาพ ความสะดวก ความปลอดภัย
หรือบรรจุภัณฑ์ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ที่กำลังมาแรงในช่วงเวลานี้
รวมถึงกระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่น รองรับรูปแบบความต้องการและปริมาณที่แตกต่างได้อย่างครอบคลุม
แน่นอนว่าปัจจัยที่จะส่งให้ BGC ไปถึงเป้าหมายเหล่านี้คือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนกระบวนการผลิต และนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และบริการ
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ คุณค่า และความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม จากวิกฤต COVID-19 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศอยู่ในขณะนี้
ทำให้อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
รวมถึงตลาดบรรจุภัณฑ์แก้ว ซึ่งค่อนข้างทรงตัวตามการบริโภคภายในประเทศ
แต่ BGC ก็ผ่านบทพิสูจน์นี้มาได้อย่างแข็งแกร่ง ด้วยรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ผ่านมา
จากการบริหารต้นทุนและสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ประกอบกับมีมาตรการที่รัดกุม
การปรับโมเดลธุรกิจของ BGC ในครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ที่น่าจับตามองของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย
และยังเป็นตัวอย่างการปรับตัวของผู้ประกอบการระดับ Big Player ที่เชื่อว่าจะสร้างแรงกระเพื่อมในตลาด …
References
- รายงานประจำปี 2563 ของ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส
- เอกสารประกอบการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ของ บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.