ไทยพาณิชย์ แนะธุรกิจ SMEs ให้ทำ Business Matching เพื่อสร้างโอกาสเติบโต ท่ามกลางวิกฤติ

ไทยพาณิชย์ แนะธุรกิจ SMEs ให้ทำ Business Matching เพื่อสร้างโอกาสเติบโต ท่ามกลางวิกฤติ

15 มิ.ย. 2021
ในยุคที่ธุรกิจแข่งขันกันอย่างดุเดือดอยู่แล้ว ยังต้องถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ระลอกแล้วระลอกเล่าอย่างไม่รู้จบ
และด้วยภาวะเศรษฐกิจดำดิ่งแบบนี้ การต่อสู้เพียงลำพัง เพื่อพาธุรกิจให้อยู่รอดและไปต่อให้ได้ ดูจะเป็นเรื่องยากลำบาก แม้จะงัดกลยุทธ์กับแทบทุกกระบวนท่าแต่ธุรกิจก็ยังลุ่ม ๆ ดอน ๆ
เราลองมาเปิดโอกาสให้ธุรกิจได้พบเจอเครือข่ายใหม่ ๆ เพราะหากได้สานต่อกับคู่เจรจาที่ลงตัว ธุรกิจเราอาจจะไม่ใช่เพียงแค่รอด แต่จะไปได้ไกลและขยายตัวได้กว้างกว่าที่คาดเสียอีก
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า “ทุกวันนี้มีหน่วยงานมากมายที่พร้อมเป็นตัวกลางในการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน
ซึ่งองค์กรเหล่านี้มีเครือข่ายธุรกิจที่หลากหลาย และมีศักยภาพที่จะนำพาเราให้ไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจโดยตรง จึงเป็นเหมือนทางลัดให้ธุรกิจไม่ต้องเสียเวลาในการตามหาเนื้อคู่ และสามารถจูงมือกันก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว
ธนาคารไทยพาณิชย์ เองเป็นองค์กรหนึ่งที่ช่วยเป็นตัวกลางในการทำ Business Matching โดยมีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจให้กับลูกค้า SMEs อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งการจับคู่ระหว่างธุรกิจในประเทศด้วยกัน และการจับคู่กับธุรกิจในต่างประเทศ ได้เห็นทั้งเคสที่ประสบความสำเร็จและที่ล้มเหลวในการเจรจามานับไม่ถ้วน
จึงขอแบ่งปันประสบการณ์ช่วยแนะนำผู้ประกอบการ เตรียมตัวให้พร้อมก่อนลงสนาม Business Matching เพื่อไม่ให้โอกาสหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย
1) ประเมินศักยภาพของธุรกิจของตัวเอง
นับเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อเริ่มคิดที่จะออกไปเสาะหาโอกาสจากการจับคู่ธุรกิจ
เราต้องรู้ว่าธุรกิจเรามีจุดแข็งและแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดอย่างไร รวมถึงกำลังการผลิตและการให้บริการสามารถรองรับได้มากน้อยเพียงใด
เพราะช่วยทำให้รู้ว่า เราจะสามารถนำสิ่งที่มีช่วยเติมเต็มและต่อยอดให้กับคู่เจรจาอย่างไรได้บ้าง
และยังช่วยให้การเลือกคู่เจรจาเป็นไปอย่างเหมาะสมหรือเลือกเจรจาได้ถูกคู่ นั่นเอง
2) ศึกษาข้อมูลของคู่เจรจา รวมถึงคู่ค้าเดิม
โปรดจำไว้ว่า รู้เขา รู้เรา รู้คู่แข่ง โอกาสชนะยิ่งมีมาก พยายามศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากเอกสารที่ตัวกลางในการเจรจาเตรียมให้เท่านั้น เช่น รายงานบริษัท เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ตลอดจนข่าวที่เกี่ยวข้อง
เพราะจะทำให้เราเข้าใจและมองเห็นคู่เจรจาของเราได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ยังมีช่องว่างตรงไหนที่จะเป็นโอกาสของเรา เขาชอบคู่ค้าแบบไหน คู่ค้าเดิมช่วยเติมเต็มสิ่งใดไปแล้วบ้าง สิ่งนั้นมีจุดอ่อนที่ธุรกิจของเราจะช่วยพัฒนาต่อได้อย่างไร
3) เตรียมพรีเซนเตชันสำคัญ ที่บ่งบอกความสามารถขององค์กรให้พร้อม
เพราะการเจรจาธุรกิจในแต่ละรอบ จะมีเวลาสำหรับการนำเสนอข้อมูลที่จำกัด เอกสารเพิ่มเติม หรือประวัติของบริษัทโดยย่อ จะช่วยให้คู่เจรจาเห็นความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และศักยภาพภาพของเราได้แจ่มชัด
นอกจากนี้ แนะนำให้เพิ่มเอกสารเช่น เกียรติบัตร ใบรับรอง รางวัลที่เคยได้รับ ผลงานที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับที่ใดมาแล้วบ้าง สร้างผลลัพธ์ให้กับคู่ค้าอย่างไร
ข้อมูลแต่ละประเภทควรจัดทำให้กระชับ อ่านและเข้าใจได้ง่าย ภายใน 1 หน้ากระดาษ
4) ฝึกฝนจนชำนาญ
หลายครั้งที่ได้เห็นคู่เจรจาธุรกิจตกม้าตาย เพียงเพราะขาดทักษะในการนำเสนอ ทั้งที่องค์กรมีจุดแข็งมากเพียงพอ
เราเชื่อว่าทักษะการนำเสนอ และบุคลิกของผู้นำเสนอเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ แนะนำให้ลิสต์หัวข้อที่จะนำเสนออย่างเป็นลำดับ กระชับข้อมูล นำเสนอเฉพาะไฮไลต์ที่สะท้อนถึงความสามารถและความแตกต่างของธุรกิจ
เราจะต้องสร้างความประทับใจให้ได้ภายใต้เวลาที่มี บุคลิกของผู้เจรจาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นตัวแทนขององค์กร สะท้อนภาพลักษณ์ขององค์กรได้อีกทางหนึ่ง จึงควรฝึกบุคลิกภาพ และซ้อมพูดโดยการเปล่งเสียงออกมาและจับเวลาเหมือนอยู่ในสถานการณ์จริง
การฝึกฝนจนชำนาญ จะช่วยลดความประหม่า และช่วยให้เราจัดการข้อมูลกับเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5) คาดการณ์คำถามที่อาจเกิดขึ้นและเตรียมแนวคำตอบไว้ล่วงหน้า
อยากให้คุณเปลี่ยนความวิตกกังวลจากการถูกตั้งคำถาม มาเป็นความดีใจ เพราะนั่นแสดงว่าคู่เจรจาสนใจธุรกิจของคุณ อาจกำลังคิดหาแนวทางที่ไปต่อด้วยกัน
หลักสำคัญในขั้นตอนนี้ คือ ระงับความตื่นเต้น มีสติในการฟังคำถาม และตอบคำถามให้ตรงประเด็น สั้น และกระชับ
6) ติดตามความคืบหน้าหลังจบงาน
สิ่งที่ทำมาจะสูญเปล่าหากละเลยขั้นตอนนี้ไป การเจรจาธุรกิจทุกครั้งต้องอย่าลืมแลกเปลี่ยนนามบัตร หรือแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่ออื่น ๆ เด็ดขาด
เพื่อประโยชน์ในการติดตามผลเจรจา หรือนัดหมายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติม อีกทั้งเป็นโอกาสในการสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกค้า SMEs ธนาคารไทยพาณิชย์ มีแผนจัดกิจกรรม Business Matching ตลอดทั้งปี โดยในเดือนกรกฎาคม 2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) จะร่วมกันจัดกิจกรรม Online Business Matching
จับคู่ธุรกิจระหว่างลูกค้า SMEs ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยทั้งระบบ กับผู้มีอำนาจตัดสินใจในการจัดซื้อของบริษัทแสนสิริโดยตรง ซึ่งเป็น fast lane ของการจับคู่ธุรกิจที่ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วไป
นอกจากนี้ ยังมีโครงการจับคู่ระหว่างลูกค้า SMEs กับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ SMEs เสนอโครงการขอรับทุน สำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจ ทุนละ 250,000 บาท และ 10,000 บาทแบบให้เปล่า
รวมถึงการเปิดเวที Matching ให้ SMEs ทางด้านดิจิทัล ได้นำเสนอธุรกิจเพื่อคัดเลือกให้มีรายชื่อใน Service Provider ของดีป้า ช่วยเบิกทางสู่การเป็นผู้ให้บริการแก่บริษัทธุรกิจในเครือข่ายของดีป้าในอนาคต
ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องก้าวข้ามกรอบความคิดเดิม ยอมรับให้ได้ว่าไม่มีใครเก่งและถนัดในทุกเรื่อง โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลเช่นนี้ ยืนบนลำแข้งทำธุรกิจเพียงลำพัง ดูจะไม่ทันการณ์สำหรับโลกธุรกิจในปัจจุบัน
ลองมาลงสนาม Business Matching เปิดโอกาสได้เจอธุรกิจที่ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มากมาย ที่เราอาจไม่เคยรู้จักมาก่อน
เข้ามาช่วยเสริมต่อธุรกิจซึ่งและกัน ให้พร้อมก้าวไปข้างหน้า และแข่งขันได้อย่างเต็มศักยภาพ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.