กรณีศึกษา เชลล์ชวนชิม กับภารกิจแอบแฝง

กรณีศึกษา เชลล์ชวนชิม กับภารกิจแอบแฝง

19 ก.ย. 2019
นักชิมในอดีตหลายคน เวลาจะเลือกทานอาหาร Street Food สักร้าน
สิ่งแรกที่เขาจะมองหาคือ ป้ายการันตีความอร่อยที่ชื่อว่า เชลล์ชวนชิม
แต่แล้วอยู่ๆ เชลล์ชวนชิม ก็หายไปเฉยๆ จนมาวันนี้ป้าย เชลล์ชวนชิม
ได้กลับมาอีกครั้ง ด้วยวิธีคิดที่ แตกต่างไปจากเดิม
MarketThink เลยพามาสะกดรอยตำนาน ป้ายการันตีความอร่อยที่มีอายุ 58 ปี
ไล่ตั้งแต่ จุดเริ่มต้น - การหายไป - และการกลับมาครั้งใหม่
เชลล์ชวนชิม เกิดจาก ม.จ.ภีศเดช รัชนี ซึ่งตอนนั้นทำงานในตำแหน่ง
ผู้จัดการส่งเสริมการขายและโฆษณา บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด
โดยมีความคิดที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมทำอาหารคนไทยจากที่นิยมใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิงทำอาหาร เปลี่ยนมาเป็นการใช้แก๊สหุ้งต้ม ซึ่งหากทำสำเร็จก็จะทำให้บริษัท เชลล์ฯ สามารถจะขายแก๊สได้มากขึ้น
เลยมาปรึกษาหาไอเดียกับ มรว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์
จึงได้บทสรุปกันว่า เป็นการแนะนำร้านอาหารอร่อยๆ ทั่วประเทศ พร้อมติดป้าย “เชลล์ชวนชิม”
ทำให้ ณ เวลานั้น บริษัท เชลล์ฯ ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตระเวนชิมร้านอาหารทั่วประเทศ
ร้านไหนอร่อยก็จะติดป้ายโลโก้ของ “เชลล์ชวนชิม” โดยยุคแรกเป็นรูปหอยเชลล์
ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นรูปชามลายคราม
อีกทั้งยังมีการเขียนแนะนำร้านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ในยุคนั้น
ทั้ง สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์, นิตยสารฟ้าเมืองไทย และ นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
แต่แล้วจุดเปลี่ยนของ “เชลล์ชวนชิม” ก็เกิดขึ้น
เมื่อผู้สนับสนุนหลักอย่างบริษัท เชลล์ฯ ขายกิจการแก๊สหุงต้ม ให้แก่ เวิลด์แก๊ส
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ทำให้ในเวลาต่อมา บริษัท เชลล์ฯ ตัดสินใจยกเลิกการสนับสนุน “เชลล์ชวนชิม” ในช่วงปี พ.ศ. 2554 เพราะตัวเองก็เลิกธุรกิจแก๊สหุงต้ม
ทำให้เวลานั้น มรว.ถนัดศรี เองก็เลือกจะเดินหน้าต่อแต่เปลี่ยนชื่อเป็น “ถนัดศรีชวนชิม” ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ (ปัจจุบันท่านเสียชีวิตในวัย 93 ปี)
เมื่อเวลาผ่านไป 8 ปี บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ก็เลือกที่จะนำ เชลล์ชวนชิม กลับมาอีกครั้ง โดยให้ ม.ล. ภาสันต์ สวัสดิวัตน์ ลูกชายคนเล็กของ มรว. ถนัดศรี มารับหน้าที่ในการรีวิวร้านอาหาร
เพียงแต่ครั้งนี้รูปแบบนำเสนอเปลี่ยนไปจากหน้ากระดาษมาเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ผ่าน Facebook, YouTube, website โดยวางแผนที่จะแนะนำร้านอาหารอร่อยใหม่ๆ มากกว่า 100 ร้านภายในสิ้นปีนี้
ส่วนเป้าหมายการกลับมาของ “เชลล์ชวนชิม”ครั้งนี้
บริษัทฯ มีแผนการที่จะนำร้านอาหารที่ได้รับตราเชลล์ชวนชิม
มาเปิดให้บริการที่สถานีบริการน้ำมันเชลล์ทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
ซึ่งวิธีคิดของบริษัท เชลล์ฯ ในการทำธุรกิจรีวิวร้านอาหาร
ก็ไม่ได้แตกต่างจากไอเดียตั้งต้นของ บริษัท มิชลิน ผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ สัญชาติฝรั่งเศส
โดย มิชลิน ไกด์ มีจุดเริ่มต้นด้วยการรีวิว โรงแรมและร้านอาหาร ในประเทศฝรั่งเศสก่อน
โดยมีเป้าหมายแอบแฝงคือให้คนออกเดินทางโดยรถยนต์มากขึ้น
เพื่อเพิ่มยอดขายยางรถยนต์ให้แก่ตัวเอง
จากวันนั้นถึงวันนี้ มิชลินไกด์ กลับมาไกลเกินกว่าที่คิด เพราะมีการจัดอันดับ
ร้านอาหารและโรงแรมมากกว่า 40,000 แห่งในกว่า 24 ประเทศทั่วโลก
อีกทั้ง มิชลินไกด์ ยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่บริษัท มิชลิน นอกจากขายยางรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลัก
เพราะรู้หรือไม่ว่าในปี 2560 ที่ มิชลิน ไกด์ มาติดดาวให้ร้านอาหารในกรุงเทพ
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต้องจ่ายเงิน 4.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 131 ล้านบาท เป็นค่าลิขสิทธิ์ “มิชลิน สตาร์”
ส่วนการกลับมาของ เชลล์ชวนชิม ครั้งนี้จะทำได้เหมือน มิชลินไกด์ หรือไม่
ที่สามารถหารายได้จากธุรกิจรีวิวร้านอาหารได้อย่างมหาศาล
ก็คงขึ้นอยู่กับว่าบริษัทเชลล์ฯ จะจริงจังกับธุรกิจรีวิวร้านอาหารมากน้อยแค่ไหน ?
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
References : ข่าวประชาสัมพันธ์ บริษัท เชลล์ แห่งประเทศไทย จำกัด, วิกิพีเดีย, shellshuanshim, ผู้จัดการ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.