KitKat ขนมที่เกิดจาก ไอเดียของ พนักงานในโรงงาน

KitKat ขนมที่เกิดจาก ไอเดียของ พนักงานในโรงงาน

19 มิ.ย. 2021
ขนมเวเฟอร์แท่ง เคลือบช็อกโกแลต ที่ติดมากับสโลแกน “คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท” อันเป็นซิกเนเชอร์ของแบรนด์
ซึ่งเป็นขนมโปรดของใครหลาย ๆ คน
รู้หรือไม่ว่า คิทแคท (KitKat) เป็นหนึ่งในขนมที่ขายดีสุดในโลก
โดยเฉลี่ยแล้ว ทุก ๆ วินาที คิทแคทจะขายได้ 540 แท่ง
หรือคิดเป็นกว่า 17,600 ล้านแท่งต่อปี..
ที่น่าสนใจคือ ขนมระดับตำนานนี้ ไม่ได้เกิดจากความคิดของ นักธุรกิจผู้ยิ่งใหญ่ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านขนม
แต่เกิดมาจากไอเดียของ พนักงานธรรมดา ๆ ในโรงงานผลิตขนมแห่งหนึ่ง
ความหวานของคิทแคท มีจุดเริ่มต้นมาจาก บริษัทและโรงงานผลิตขนมที่ชื่อว่า Rowntree's ในเมืองยอร์ก ประเทศอังกฤษ
ในปี 1920 Rowntree's ได้ลองเปิดตัวช็อกโกแลตบรรจุกล่องชื่อ คิทแคท
แต่พอวางจำหน่ายได้สักระยะ ด้วยความที่สินค้าไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไร
บวกกับ Rowntree's ต้องการหันไปโฟกัสกับการผลิตและทำตลาดขนมแบรนด์อื่น อย่าง Black Magic และ Dairy Box แทน
ทำให้ คิทแคท สูญเสียส่วนแบ่งการตลาดเรื่อย ๆ และต้องยกเลิกการผลิตไปในที่สุด
แต่ชื่อคิทแคท ก็กลับเข้ามาสู่สังเวียนอีกครั้ง ในปี 1935
เมื่อคนงานในโรงงาน Rowntree's คนหนึ่ง ได้เสนอว่า โรงงานน่าจะผลิตขนม แบบที่สามารถพกพาและเก็บใส่กระเป๋าไปทำงานได้ เผื่อเอาไว้กินยามว่าง
Rowntree's จึงนำไอเดียนั้น มาสร้างเป็นขนมเวเฟอร์กรอบเคลือบช็อกโกแลต แบบ 4 แท่ง วางเรียงกัน
ซึ่งแต่ละแท่งจะสามารถหักเพื่อแบ่งกินได้
และห่อด้วยแพ็กเกจจิงสีแดง ขนาดใส่กระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกง ได้พอดี ๆ
ภายใต้ชื่อแบรนด์ “โรวน์ทรี ช็อกโกแลต คริสป์” ไปวางจำหน่ายที่เมืองลอนดอน และทางตอนใต้ของอังกฤษ
ซึ่งพอเริ่มจำหน่ายได้ 2 ปี “โรวน์ทรี ช็อกโกแลต คริสป์” ก็ถูกเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น “คิทแคท ช็อกโกแลต คริสป์” แทน
และในปี 1940 หลังจากประสบความสำเร็จในอังกฤษแล้ว บริษัทก็ได้มองหาโอกาสในตลาดใหม่ ๆ
โดยเริ่มส่งออก คิทแคท ช็อกโกแลต คริสป์ ไปยังประเทศแคนาดา, แอฟริกาใต้, ไอร์แลนด์, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
แต่ด้วยสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทำให้นม ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญ ประสบกับภาวะขาดแคลน
บริษัทจึงจำเป็นต้องหยุดการผลิตช็อกโกแลตสูตรเดิมไว้ก่อน
แล้วหันมาใช้ดาร์กช็อกโกแลต หรือช็อกโกแลตเข้มข้นที่ไม่ผสมนม แทนชั่วคราว
พร้อมกับเปลี่ยนแพ็กเกจจิง จากสีแดง เป็นสีน้ำเงิน เพื่อสื่อถึงสูตรที่เปลี่ยนไป
หลังจากสงครามสิ้นสุด และซัปพลายของนม เริ่มกลับสู่สมดุล
บริษัทก็กลับมาใช้ช็อกโกแลตสูตรเดิมที่ผสมนมอีกครั้ง เปลี่ยนแพ็กเกจจิงกลับไปเป็นสีแดง
และเปลี่ยนชื่อแบรนด์ คิทแคท ช็อกโกแลต คริสป์ เป็น “คิทแคท” เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและเรียกชื่อแบรนด์
สำหรับสโลแกนในตำนานของ คิทแคท
ในปี 1957 คุณ Donald Gilles ผู้บริหารของ JWT Orland ที่ลอนดอน
ได้สร้างสรรค์ประโยคโฆษณาติดหูอย่าง “Have a Break, Have a KitKat” ขึ้นมาให้กับคิทแคท
หรือในเวอร์ชันที่คนไทยคุ้นหูว่า “คิดจะพัก คิดถึงคิทแคท”
ซึ่งนับเป็นหนึ่งในประโยคโฆษณา ที่ถูกใช้มายาวนานที่สุดในโลก
และในประโยค ที่มีคำว่า Break นอกจากจะแปลว่า หยุดพัก แล้ว
ยังแปลว่า หัก อีกด้วย ซึ่งเข้ากับคอนเซปต์ของคิทแคท ที่ออกแบบมาเป็นแท่ง ๆ ไว้ให้ค่อย ๆ หักกิน นั่นเอง
แล้วธุรกิจของคิทแคท ก็เติบโตขึ้นไปอีกระดับ หลังจาก Rowntree's ได้เข้าไปสร้างโรงงานกระจายสินค้าแห่งใหม่ ที่ประเทศเยอรมนี เมื่อปี 1970
เพื่อเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้า ไปสู่ประเทศในแถบยุโรปทั้งหมด
พร้อมกับทำสัญญากับบริษัท เฮอร์ชีย์ (Hershey) ให้สิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายคิทแคทในสหรัฐอเมริกา แต่เพียงผู้เดียว
เรื่องทั้งหมดนี้ ทำให้แบรนด์คิทแคท เป็นที่รู้จักกันในตลาดโลกอย่างรวดเร็ว และยอดขายเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ด้วยความสำเร็จของคิทแคท จึงไปสะดุดตาของบริษัท เนสท์เล่ (Nestlé)
และเนสท์เล่ เลยตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของ Rowntree's ในปี 1988
ทำให้ เนสท์เล่ เป็นเจ้าของสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่ายคิทแคททั่วโลก ยกเว้นในสหรัฐอเมริกา นับแต่นั้นมา
ปัจจุบัน คิทแคท ถูกผลิตอยู่ใน 18 ประเทศทั่วโลก ภายใต้การดูแลของบริษัท เนสท์เล่
ได้แก่ บราซิล, เม็กซิโก, สหราชอาณาจักร, แคนาดา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, แอฟริกาใต้, เยอรมนี, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, จีน, มาเลเซีย, ไทย, อินเดีย, ตุรกี, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บัลแกเรีย และแอลจีเรีย
ส่วนในสหรัฐอเมริกา จะอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท เฮอร์ชีย์
ที่น่าสนใจคือ ขนาดและจำนวนแท่งในคิทแคท 1 ห่อ อาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
อาทิ ที่ออสเตรเลียและฝรั่งเศส มีจำหน่ายแบบขนาดสิบสองแท่ง สำหรับทั้งครอบครัว
ที่ญี่ปุ่น มีจำหน่ายแบบขนาดเล็ก ครึ่งหนึ่งของขนาดปกติ
และในบางประเทศ มีจำหน่ายแบบขนาดสามแท่ง
ซึ่งนอกจากรสช็อกโกแลตแล้ว คิทแคท ยังได้สร้างสรรค์และออกรสชาติใหม่ ๆ มาให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลอง แบบไม่มีเบื่อ
ประเดิมด้วยรสส้ม ที่วางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อปี 1996 ในอังกฤษ
ตามด้วยรสมินต์, รสคาราเมล และอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยมีทั้งแบบรสที่จำหน่ายตลอดทั้งปี กับแบบที่มีจำนวนจำกัด วางจำหน่ายเฉพาะในบางช่วงเท่านั้น
ซึ่งบางรสชาติก็ได้รับความนิยม บางรสชาติก็ไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ถึงจะมีรสที่ไม่ติดตลาดเป็นจำนวนมาก แต่คิทแคทก็ไม่หยุดที่จะเดินหน้าพัฒนาและออกรสชาติใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
ซึ่งประเทศที่คิทแคท ออกนวัตกรรมรสชาติมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น
โดยมีคิทแคทให้เลือกซื้อมากกว่า 300 รสเลยทีเดียว..
ความหลากหลายของคิทแคทในญี่ปุ่น เกิดจากทางเนสท์เล่ ต้องการให้แบรนด์คิทแคท สามารถเป็นหนึ่งเดียวกับวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นได้
โดยปกติคนญี่ปุ่นในแต่ละพื้นที่ จะมีความภูมิใจในจุดเด่นของจังหวัดหรือท้องถิ่นของตัวเอง
คิทแคท เลยนำจุดเด่นเหล่านั้น มาสร้างเป็นรสชาติต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ หรือสร้างรสชาติที่หาไม่ได้จากที่ไหน
อาทิ รสมันม่วง จากโอกินาวะ, รสโมมิจิ มันจู จากฮิโรชิมะ, รสวาซาบิ จากชิซูโอกะ, รสชาเขียวมัตจะ จากเกียวโต
นอกจากนี้ ชื่อคิทแคทในภาษาญี่ปุ่น จะออกเสียงว่า “คิตโตะ คัตสึ”
ซึ่งมีความหมายว่า “จะต้องชนะอย่างแน่นอน”
คนญี่ปุ่นจึงนิยมซื้อคิทแคท ไปเป็นของขวัญนำโชคให้กันอีกด้วย
เรื่องทั้งหมดนี้ นอกจากจะทำให้คิทแคท สามารถเข้าถึงและครองใจกลุ่มลูกค้าชาวญี่ปุ่นแล้ว
ด้วยความแปลกใหม่ของรสชาติ ยังทำให้คิทแคทในญี่ปุ่น เป็นอีกของฝากยอดฮิต ของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เมื่อมาญี่ปุ่น ก็ต้องหิ้วกลับไปฝากเพื่อนฝูง หรือคนในครอบครัว
เส้นทางของ คิทแคท ได้ให้ข้อสรุปที่ว่า
จริง ๆ แล้วนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่จะประสบความสำเร็จ
อาจเกิดขึ้นจากแนวคิดของ คนที่อยู่หน้างาน หรือ พนักงานที่อยู่กับลูกค้าโดยตรง
การเปิดใจรับฟังความเห็นหรือแนวคิดของพวกเขาเหล่านั้น
อาจนำมาซึ่งมุมมองหรือโอกาสทางธุรกิจ ที่คิดไม่ถึงมาก่อน และได้ผลลัพธ์ที่ดี
ดังเช่น Rowntree's ที่หากมองผ่านไอเดียของพนักงานในโรงงานหนึ่งคน ที่อยากได้ขนมพกพาใส่กระเป๋าได้ และมองว่ามันไร้สาระ
วันนี้ ก็คงไม่มีคิทแคทแบบที่เรารู้จัก เก็บไว้ให้หักกิน ในเวลาพักกัน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.