สวนสยาม สวนสนุกในความทรงจำ ของใครหลายคน กำลังเจอฝันร้าย

สวนสยาม สวนสนุกในความทรงจำ ของใครหลายคน กำลังเจอฝันร้าย

24 มิ.ย. 2021
พูดถึงสวนสนุกในฝัน หลายคนคงนึกถึง Disneyland หรือไม่ก็ Universal Studios
แต่ถ้านึกถึงสวนสนุก ที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคน คงหนีไม่พ้น “สวนสยาม”
ซึ่งตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น “สยามอะเมซิ่งพาร์ค” (Siam Amazing Park)
สำหรับบางคน สวนสยาม คือสถานที่พักผ่อนของครอบครัวในวันหยุด
หรือไม่ก็เป็นสถานที่แห่งความทรงจำในวัยเด็ก เพราะต่อให้ที่บ้านไม่พาไป โรงเรียน​ก็พาไปทัศนศึกษา
แต่ใครจะคิดว่า วันนี้สวนสยาม สถานที่ที่เคยเต็มไปด้วยความสนุก
จะเงียบเหงา ไร้เสียงหัวเราะและรอยยิ้ม..
แล้วสวนสยาม มีที่มาอย่างไร ?
และทำไมสวนสยาม ถึงกำลังเจอกับฝันร้าย ?
สวนสยาม เป็นสวนสนุกแห่งที่ 3 ของไทย (แห่งแรกคือ แฮปปี้แลนด์ แห่งที่ 2 คือ แดนเนรมิต)
เปิดให้บริการเมื่อปี พ.ศ. 2523 หรือเมื่อ 41 ปีที่แล้ว
ผู้ที่สร้างตำนานสวนสนุก ที่มีจุดขายอันไม่เหมือนใคร อย่างทะเลเทียมที่ใหญ่สุดในโลกและสไลเดอร์ยักษ์หลากสีความสูง 7 ชั้น เป็นแลนด์มาร์ก คือ คุณไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ
ชายผู้ไม่ได้มีประสบการณ์ในธุรกิจสวนสนุกมาก่อน
แต่เลือกเดินหน้าอภิโปรเจกต์ ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้าน เพราะถือคติ “เสียตังค์ไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้”
คุณไชยวัฒน์ เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะยากจน กว่าจะได้เข้าโรงเรียนก็อายุ 11-12 ปีแล้ว
เพื่อจะออกมาช่วยหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้เรียนได้แค่ 2 ปี ก็ต้องไปทำเรื่องขอสอบข้ามชั้น เพื่อให้ได้วุฒิ ป.4 จะได้ออกมาช่วยแม่ขายของ
ด้วยความที่ครอบครัวมีพี่น้องถึง 8 คน เงินที่หาได้ไม่พอจุนเจือครอบครัว
คุณไชยวัฒน์ จึงขอแม่ไปทำงานนอกบ้าน เริ่มจากการเป็นกระเป๋ารถเมล์
แต่ทำได้ไม่นาน แม่ก็ให้ลาออก เพราะอาชีพกระเป๋ารถเมล์สมัยนั้นค่อนข้างอันตราย บางครั้งมีการต่อยตีกัน เพื่อแย่งผู้โดยสาร
โชคดีที่ตอนเป็นกระเป๋ารถเมล์ คุณไชยวัฒน์ ได้มีโอกาสเรียนขับรถจนเป็น
จึงผันตัวเองมาเป็นคนขับรถรับ-ส่งของที่ตลาด กัดฟันทำงานหนักวันละ 20 ชั่วโมง อยู่หลายปี
จนพอมีเงินเก็บบ้าง เลยเลิกอาชีพนี้
หลังจากนั้นจับพลัดจับผลู มาทำธุรกิจเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด ตามคำแนะนำของอาจารย์ที่ ม.เกษตรศาสตร์
ปรากฏว่าธุรกิจไปได้ดี จึงเริ่มสร้างฐานะ จนลืมตาอ้าปากได้
ต่อมามีคนแนะนำให้เข้าสู่วงการจัดสรรที่ดิน ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณไชยวัฒน์ กลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่อายุเพียง 20 ต้น ๆ
แล้วจากนักพัฒนาที่ดิน มาสู่เจ้าของสวนสยาม ได้อย่างไร ?
ผู้ที่จุดประกายให้คุณไชยวัฒน์ คิดจะมาทำสวนสนุก คือ คุณชาตรี โสภณพนิช อดีตประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ
โดยตอนแรก ตั้งใจว่าจะลงขันกัน ซื้อลิขสิทธิ์​ Disneyland มาเปิดบนที่ดินย่านมีนบุรี ซึ่งมีอยู่ 1,000 ไร่
พื้นที่ครึ่งหนึ่ง จะทำเป็นหมู่บ้านจัดสรร อีกครึ่งหนึ่ง ทำเป็นสวนสนุก เพื่อให้ลูกบ้านใช้พักผ่อนหย่อนใจ
แต่หลังจากศึกษาถึงความเป็นไปได้ ปรากฏว่า แผนที่เปิด Disneyland มีอันต้องล่ม เพราะติดเงื่อนไขหลายอย่าง
โดยเฉพาะเรื่องระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพราะหากย้อนไปเมื่อ 40 ปีที่แล้ว หากจะมามีนบุรี ยังมีแค่เส้นทางเดียว รถไฟฟ้า รถใต้ดินก็ยังไม่มี ​
ยิ่งไลฟ์สไตล์คนไทยกับการเที่ยวสวนสนุก ไม่ต้องพูดถึง คนไทยยังไม่อิน
พอบวกลบคูณหารแล้วไม่คุ้ม กลุ่มนักลงทุนที่เคยคิดว่าจะลงขัน ก็เริ่มถอนตัว
แต่คุณไชยวัฒน์ไม่ถอดใจ แม้จะเหลือคนเดียว ก็ยังพร้อมเทหมดหน้าตัก
เพราะให้สัมภาษณ์ออกสื่อไปแล้วว่า มีโปรเจกต์จะทำสวนสนุกในเมืองไทย เลยไม่อยากเสียหน้า เสียเครดิต
แล้วทำไมต้องทำสวนสนุก ที่มาพร้อมคอนเซปต์ทะเล-กรุงเทพฯ
คุณไชยวัฒน์ ไปศึกษาจนพบว่า ที่ญี่ปุ่นมีสวนสนุก ที่มีสวนน้ำขนาดเล็กใจกลางโตเกียว
โดยใช้วิธีจำลองทะเล ทำคลื่นไว้ให้เล่น เลยคิดว่าจะนำไอเดียนี้มาทำ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อย
คุณไชยวัฒน์ ไม่เพียงต้องกู้เงินมาสานฝันที่อยากจะสร้างสวนสนุก แต่ยังต้องยอมเฉือนเนื้อ ทยอยขายบริษัทในเครือจนหมด รวมถึงที่ดินที่มี
ซึ่งใช้เวลาสิบกว่าปี กว่าจะจ่ายหนี้ที่นำมาใช้ลงทุนทำสวนสยามจนหมด
ถ้าเป็นหลายคน การทำธุรกิจที่ต้องอยู่กับกองหนี้มหาศาลมานานขนาดนี้ อาจจะทำให้เข็ดขยาด
แต่สำหรับผู้ชายที่ชื่อไชยวัฒน์ ลองคิดจะทำอะไรแล้ว ไม่มีคำว่าท้อหรือถอย
พอสวนสยามเริ่มมีกำไร เขาก็ตัดสินใจกู้เงินก้อนโตจากธนาคาร มาซื้อเครื่องเล่น และใช้เวลาอีก 7 ปี ผ่อนธนาคารจนหมด​​
ปัจจุบัน คุณไชยวัฒน์ ได้ส่งไม้ต่อให้ทายาททั้ง 3 คน ได้แก่ คุณสิทธิศักดิ์ เหลืองอมรเลิศ, คุณวุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ
และคุณจิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา เข้ามารับช่วงธุรกิจ
พร้อมรีแบรนด์สวนสยาม ให้เป็นมากกว่าสวนสนุกและสวนน้ำ
แต่เป็นแหล่งความบันเทิงที่ครบครัน สำหรับคนทุกเพศทุกวัย ภายใต้ชื่อใหม่ คือ “สยามอะเมซิ่งพาร์ค”
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วที่ผ่านมา ผลประกอบการของสวนสยาม เป็นอย่างไร
ผลประกอบการบริษัท สยามพาร์ค บางกอก จำกัด
ปี 2561 รายได้ 379 ล้านบาท กำไร 1 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 355 ล้านบาท ขาดทุน 35 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 159 ล้านบาท ขาดทุน 89 ล้านบาท
ผลประกอบการบริษัท สยามพาร์คซิตี้ จำกัด
ปี 2561 รายได้ 28 ล้านบาท กำไร 7 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 27 ล้านบาท กำไร 4 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 29 ล้านบาท กำไร 11 ล้านบาท
เมื่อรวมรายได้ทั้ง 2 บริษัท จะเห็นว่า ที่ผ่านมา สวนสยามมีรายได้หลักร้อยล้านบาท ก็จริง
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา ธุรกิจสวนสนุกไทย ต่างกำลังเผชิญกับความท้าทาย เพราะมีคู่แข่งใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาแย่งลูกค้า
ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวของสวนน้ำ หรือสวนสนุกในร่ม ในไทย
ไปจนถึงสวนสนุกในต่างประเทศ ที่ได้อานิสงส์จากค่าตั๋วเครื่องบินที่ถูกลง จนสามารถบินไปสัมผัสประสบการณ์ได้ง่ายกว่าสมัยก่อน
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็ยังไม่เลวร้ายเท่าวิกฤติโรคระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้
ทำให้สวนสนุกไม่ใช่สถานที่ที่ชวนให้สนุกสมชื่อ แต่กลายเป็นสถานที่อันแสนเงียบเหงา
แถมเมื่อไม่นานมานี้ ยังมีข่าวว่า สยามอะเมซิ่งพาร์ค ต้องขายที่ดินส่วนหนึ่งของสวนสนุก
ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของโซนไดโนโธเปีย, ท่องป่าแอฟริกา และแกรนด์ แคนยอน เอ็กซ์เพรส
เพื่อนำเงินมาต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ และต่อยอดเมกะโปรเจกต์อย่าง “Bangkok World”
นับว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่เจอมรสุมไม่น้อย
จากนี้คงต้องติดตามว่า เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น สวนสยามเวอร์ชันอัปเกรด
จะสามารถตื่นจากฝันร้าย และโดนใจพอ ที่จะทำให้ผู้คนที่อยู่ในช่วงโหยหาบรรยากาศแห่งความสนุกสนาน อยากจะไปเช็กอินหรือไม่..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ ที่มาของชื่อสวนสยาม เกิดจากการที่คุณไชยวัฒน์ สังเกตว่า
เวลาไปต่างประเทศ ถ้าบอกว่า มาจากประเทศไทย ฝรั่งจะไม่รู้จัก ต้องบอกว่า มาจากสยาม
คุณไชยวัฒน์ เลยตั้งชื่อว่า “สวนสยาม” ​เพื่อให้ชื่อสวนสนุกติดหู ทั้งในหมู่คนไทยและต่างชาติ
อ้างอิง :
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-https://www.youtube.com/watch?v=PWM7bAQPu24
-https://www.siamamazingpark.com/about-milestone
-https://www.posttoday.com/politic/report/381826
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.