Cold Stone Creamery ร้านไอศกรีม ที่เพิ่มเสน่ห์ให้ไอศกรีม ด้วยการนำไป “ผัด”

Cold Stone Creamery ร้านไอศกรีม ที่เพิ่มเสน่ห์ให้ไอศกรีม ด้วยการนำไป “ผัด”

26 มิ.ย. 2021
ปกติร้านไอศกรีมทั่วไป จะใช้วิธีการตักไอศกรีมเป็นลูกกลม ๆ แล้วแต่งหน้าให้สวย น่ากิน ด้วยท็อปปิงหลากชนิด
แต่ถ้าใครมีโอกาสแวะมาที่ร้าน Cold Stone Creamery ร้านไอศกรีมมิกซ์อินสุดพรีเมียม จากสหรัฐอเมริกา จะพบว่า หน้าตาของไอศกรีมร้านนี้ แตกต่างจากร้านทั่วไปอย่างสิ้นเชิง
เพราะไอศกรีมของ Cold Stone Creamery จะไม่ใช้วิธีการตักเสิร์ฟเป็นลูก แต่เมื่อลูกค้าเลือกรสชาติไอศกรีม และท็อปปิงที่ชอบได้แล้ว ทางร้านจะต้องนำไอศกรีม (ซึ่งบางคนอาจจะเลือกมากกว่า 1 รสชาติ) พร้อมด้วยท็อปปิง ไปผัดบนแท่นหินแกรนิต ที่มีอุณหภูมิประมาณ -8 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันไม่ให้ไอศกรีมละลาย​
เพื่อมิกซ์ส่วนผสมทุกอย่างเข้าด้วยกัน ให้เป็นเสมือนเนื้อเดียวกัน ตามคอนเซปต์ของ Cold Stone Creamery ที่เป็นร้านไอศกรีมแนว Mix-in
คำถามคือ ทำไมไอศกรีมของ Cold Stone Creamery ถึงต้องนำไปผัดก่อนเสิร์ฟ ? แล้วขั้นตอนการผัดนี้ มีมาตั้งแต่แรก หรือว่ามาเพิ่มเพื่อเป็นกิมมิกทีหลัง ?
คำตอบทั้งหมด เริ่มต้นจากสามีภรรยา นามว่า Donald และ Susan Sutherland
ด้วยความที่ทั้งคู่อยากลิ้มรสไอศกรีม ที่ไม่ได้ให้ความรู้สึกราวกับของหวาน ที่ออกจากช่องแช่แข็ง
ขณะเดียวกันก็ไม่ได้อยากสัมผัสกับความละมุนของไอศกรีม แบบซอฟต์เสิร์ฟซะทีเดียว แต่ต้องการไอศกรีมที่มีความนุ่มเนียนละเอียด จึงพยายามออกตามหาไอศกรีมที่ถูกใจ แต่ก็ไม่เจอสักที
ทั้งคู่เลยตัดสินใจพัฒนาสูตรไอศกรีม ในจินตนาการของตัวเองขึ้นมาเองซะเลย
ซึ่งสูตรที่ว่าก็คือ การปรับสัดส่วนของไขมัน ให้อยู่ที่ 12-14% เพื่อให้เนื้อไอศกรีมที่ออกมา มีความนุ่มเนียนละเอียด
ขณะที่ไอศกรีมปกติ จะมีไขมันอยู่ที่ 10-18% และถ้าเป็นไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ จะมีไขมันเพียง 3-6%
หลังจากคิดค้นไอศกรีมสูตรใหม่ได้แล้ว คุณ Donald และคุณ Susan ก็ไม่รอช้า ตัดสินใจเปิด Cold Stone Creamery สาขาแรก ที่เมืองเทมป์ ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1988 หรือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว
ซึ่งหากเทียบกับแบรนด์ไอศกรีมระดับตำนาน ที่มีอยู่ในตลาดสมัยนั้น ต้องถือว่า Cold Stone Creamery เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่อายุน้อย
ปัจจุบัน 
- Dairy Queen มีอายุ 81 ปี
- Baskin-Robbins มีอายุ 76 ปี
- Swensen's มีอายุ 73 ปี
- Häagen-Dazs มีอายุ 60 ปี
- Ben & Jerry's มีอายุ 43 ปี
และด้วยความที่เป็นแบรนด์โนเนม แถมยังมาแจ้งเกิดทีหลัง จึงไม่แปลกเลย ที่ช่วงแรก ๆ Cold Stone Creamery จะไม่ประสบความสำเร็จในโลกไอศกรีม
จนเรียกได้ว่า 15 เดือนแรกที่เปิดกิจการ แทบจะเป็นฝันร้ายของ Cold Stone Creamery ก็ไม่ผิด เพราะทุกวันที่เปิดร้าน คุณ Donald และ Susan แทบไม่มีลูกค้า
แต่แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยน เมื่อวันหนึ่ง มีสื่อท้องถิ่นมาทำข่าว และช่วยโปรโมตความดีงามของรสชาติไอศกรีมที่ไม่เหมือนใครนี้
ทำให้ Cold Stone Creamery เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย หลังจากเปิดให้บริการเพียง 2 ปี Cold Stone Creamery ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก
จนสามารถขยายสาขาไปอีกหลายแห่ง และในปี ค.ศ. 1995 ก็เริ่มขายแฟรนไชส์ จนสามารถขยายสาขาทั่วสหรัฐอเมริกาได้อย่างรวดเร็ว ก่อนจะกระจายไปเปิดสาขาทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
ซึ่งบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) เจ้าของเชนร้านอาหารและของหวานที่หลายคนคุ้นเคย อย่าง​ KFC, Mister Donut, Chabuton, Pepper Lunch, The Terrace, Yoshinoya และอีกมากมาย
เป็นผู้นำความอร่อยในแบบฉบับของ Cold Stone Creamery มาเปิดสาขาแรกในประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 2010 หรือเมื่อ 11 ปีก่อน
ถามว่า อะไรทำให้ Cold Stone Creamery จากแบรนด์โนเนม สามารถแจ้งเกิดมาเทียบชั้นแบรนด์ไอศกรีมระดับตำนานได้
เหตุผลหลัก ๆ คือ ความแตกต่าง ตั้งแต่สูตรในการทำไอศกรีม ที่นอกจากจะทำสดใหม่ทุกวัน ยังมีรสชาติและรสสัมผัสไม่เหมือนใคร
รวมทั้งไอเดียในการทำการตลาดที่ให้ลูกค้าได้ออกแบบ “การสร้างสรรค์ของหวาน” ในแบบของตัวเองไม่พอ 
ยังสร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้ลูกค้า ด้วยการเสิร์ฟไอศกรีม ที่ไม่ใช่แค่ตักเป็นสกูป แล้วเติมท็อปปิงลงไปในไอศกรีมเฉย ๆ
แต่อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่า Cold Stone Creamery มีอาวุธลับสำคัญ​ คือ Cold Stone หรือ หินแกรนิตแช่แข็ง อยู่ด้านหลังเคาน์เตอร์ ใช้สำหรับผัดไอศกรีมหลากหลายรสชาติและท็อปปิงให้เข้ากัน เพิ่มความสนุกในการกินไอศกรีมให้ลูกค้า ตักคำเดียวก็ได้ครบรส
และเพราะทุกเมนูถูกออกแบบให้ต้องผัดนี้เอง ทำให้หน้าตาของไอศกรีมของ Cold Stone Creamery จะไม่ได้เป็นสกูปก้อนกลม ๆ แต่เป็นไอศกรีมรูปทรงแปลก ๆ
ซึ่งคอนเซปต์ในการผัดไอศกรีมนี้ คุณ Donald และ Susan ไม่ได้เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาแต่อย่างใด แต่เป็นการต่อยอดไอเดียของ คุณ Steve Herrell จากร้าน Steve's Ice Cream ซึ่งคิดค้นการผัดไอศกรีมมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1973
เพราะอยากให้ Cold Stone Creamery เป็นมากกว่าร้านไอศกรีม แต่ลูกค้ามาแล้ว ต้องได้ดื่มด่ำกับประสบการณ์ที่น่าจดจำ
และอีกหนึ่งกิมมิกน่ารัก ๆ ที่ใครที่เป็นสาวกของ Cold Stone Creamery คุ้นเคยเป็นอย่างดี คือ การตั้งชื่อไซซ์ไอศกรีมของ Cold Stone Creamery แทนที่จะเรียกว่า เป็นไซซ์ S, M, L หรือ เล็ก, กลาง, ใหญ่
Cold Stone Creamery ตั้งชื่อเป็น Like It, Love It และ Gotta Have It
แม้ทางแบรนด์จะไม่ได้เฉลยว่า เพราะอะไรถึงตั้งชื่อแบบนี้ แต่เป็นไปได้ว่า Cold Stone Creamery อาจจะอยากให้ชื่อเหล่านี้ เป็นตัวช่วยอธิบายความรู้สึกของลูกค้า เวลาอยู่หน้าเคาน์เตอร์แล้วพนักงานถามว่า จะรับไอศกรีมไซซ์ไหนดี ?
เพราะในวันนี้ ที่เราอาจจะแค่อยากเติมความหวานให้ร่างกายเพียงเล็กน้อย
ก็อาจจะเลือกขนาด Like It หรือ Love It ซึ่งถ้าเทียบก็ประมาณไซซ์เล็กหรือกลาง
แต่ในวันที่ร่างกายต้องการความหวานขั้นสุด เราอาจจะอยากตะโกนออกไปอย่างไม่ลังเลว่า Gotta Have It
เพราะหมายความว่า เราจะได้ฟินกับไอศกรีมถ้วยโต ขนาด 340 กรัม เลยทีเดียว..
ซึ่งข้อดีของการที่ไม่ต้องเอ่ยปากออกไปว่า ขอไอศกรีมถ้วยใหญ่สุด หรือ ไซซ์ L มันคงทำให้เรารู้สึกผิดกับตัวเองน้อยลงเป็นกอง..
อ้างอิง :
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.