อาณาจักร อายิโนะโมะโต๊ะ มีแบรนด์อะไรบ้าง ?

อาณาจักร อายิโนะโมะโต๊ะ มีแบรนด์อะไรบ้าง ?

5 ก.ค. 2021
ทุกคนรู้จัก อายิโนะโมะโต๊ะ ผ่านผลิตภัณฑ์ผงชูรส และโฆษณาที่โปรโมตว่ามีรส “อูมามิ”
แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจากผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะแล้ว
อาณาจักรอายิโนะโมะโต๊ะ ยังมีแบรนด์และผลิตภัณฑ์อื่นอีกนับไม่ถ้วน ที่ทำตลาดอยู่
ซึ่งก็อาจแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ
อย่างในประเทศไทยเอง แบรนด์ที่กลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ ดำเนินการผลิตและทำตลาดอยู่ ก็จะมี
- ผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ “ตราถ้วยแดง”
- ผงปรุงรสและซุปก้อนกึ่งสำเร็จรูป “รสดี”
- กาแฟกระป๋องและกาแฟชนิดผง “เบอร์ดี้”
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ยำยำ จัมโบ้”
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ยำยำ ช้างน้อย”
- ซอสปรุงรสและอาหารแช่แข็ง “อายิโนะโมะโต๊ะ”
- ซอสปรุงรสสไตล์ญี่ปุ่น “ทาคูมิ อายิ”
- ผงปรุงรสหมูชนิดเข้มข้น “มีทพลัส”
- น้ำตาล “ไลท์ ชูการ์”
- เครื่องดื่มโปรตีนรสช็อกโกแลต “พรอตตี้”
- ปุ๋ยอินทรีย์เคมี “อายิโฟล” และ “อามิเมท” เป็นต้น
รู้หรือไม่ว่า บริษัทแม่ของกลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ หรือ Ajinomoto Co., Inc.
จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว และตลาดหลักทรัพย์เบอร์ซา มาเลเซีย
ซึ่งมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 441,200 ล้านบาท
และปัจจุบัน มีบริษัทในเครือกว่า 135 แห่ง ตั้งอยู่ใน 36 ประเทศ
ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในแถบเอเชีย เช่น ไทย, จีน, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, เกาหลีใต้, อินเดีย
รวมถึงมีสินค้าภายใต้อาณาจักรอายิโนะโมะโต๊ะ วางจำหน่ายมากกว่า 130 ประเทศทั่วโลก
แล้วความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรธุรกิจจากแดนปลาดิบนี้ มีจุดเริ่มต้นอย่างไร
และคำว่า อูมามิ เกี่ยวอะไรกับ อายิโนะโมะโต๊ะ ?
เรื่องของเรื่องต้องย้อนไปหาคำตอบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2451
โดยตอนนั้น ศ.ดร.คิคุนาเอะ อิเคดะ แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว
บังเอิญได้สัมผัสกับรสชาติของ น้ำซุปที่ได้จากการต้มสาหร่ายทะเลคอมบุ
แล้วเกิดสงสัยว่า ทำไมน้ำซุปนี้ถึงมีรสชาติอร่อยกลมกล่อม
ซึ่งเป็นรสชาติที่มีเอกลักษณ์ และไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นรสหวาน, เปรี้ยว, เค็ม และขมได้
เขาจึงสันนิษฐานว่า ลิ้นของมนุษย์ อาจสามารถรับรสอะไรบางอย่างได้มากกว่า 4 รสชาติพื้นฐานข้างต้น
เลยเริ่มค้นคว้าและพบว่า รสชาติที่ได้จากน้ำซุปนั้น มาจาก “กลูทาเมต”
กรดอะมิโนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบของโปรตีนที่พบได้ทั่วไปในวัตถุดิบธรรมชาติต่าง ๆ เช่น เนื้อสัตว์ อาหารทะเล นม
และเครื่องปรุงรสที่ผ่านกระบวนการหมักหรือบ่ม อาทิ กะปิ, น้ำปลา, ปลาร้า ฯลฯ
รวมถึงสามารถพบได้ในพืชผักบางชนิด ที่มีโปรตีนเป็นองค์ประกอบ เช่น มะเขือเทศ, เห็ดหอม, หัวไชเท้า, ข้าวโพด ฯลฯ
ศ.ดร.คิคุนาเอะ อิเคดะ จึงเรียกรสชาตินี้เป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “อูมามิ”
โดยมาจากรากศัพท์ 2 คำ คือ อุไม (UMAI) ที่แปลว่า อร่อย และคำว่า มิ (MI) ที่แปลว่า แก่นแท้
และนับแต่นั้นมา หลังจากการค้นพบ
รสอูมามิ ก็ได้รับการยอมรับจากนักวิชาการทั่วโลก ให้เป็นรสชาติพื้นฐานลำดับที่ 5 อีกด้วย
ซึ่งคำว่า อูมามิ ก็อาจมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามพื้นที่ เช่น รสกลมกล่อม ในภาษาไทย หรือ นัว ในภาษาอีสาน
ซึ่งในปี พ.ศ. 2452 ก็ได้มีนักธุรกิจคนหนึ่งนามว่า ซาบุโรสุเกะ ซูซูกิ เล็งเห็นโอกาสมหาศาลจากการค้นพบนี้ และจุดประกายให้เขา มีความคิดที่จะนำรสอูมามิ มาพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเครื่องปรุงรสแบบใหม่
เขาจึงได้ไปขอสิทธิบัตรในการผลิตกับ ศ.ดร.คิคุนาเอะ อิเคดะ
เพื่อก่อตั้งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิตเครื่องปรุงรสอูมามิ ขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก ที่ประเทศญี่ปุ่น
โดยช่วงแรก ๆ มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือ บรรดาแม่บ้าน แม่ครัว
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของอาณาจักร “อายิโนะโมะโต๊ะ” ที่เป็นตำนานมาถึงทุกวันนี้
โดยชื่อ อายิโนะโมะโต๊ะ มีความหมายในภาษาอังกฤษคือ “Essence of Taste” หรือแปลเป็นไทยว่า “แก่นแท้ของรสชาติ”
แล้วปัจจุบัน อายิโนะโมะโต๊ะ มีรายได้เท่าไร ?
Ajinomoto Co., Inc. (ปิดรอบบัญชี เดือน มี.ค.)
ปี 2563 มีรายได้ 315,991 ล้านบาท กำไร 5,411 ล้านบาท
ปี 2564 มีรายได้ 307,779 ล้านบาท กำไร 17,068 ล้านบาท
(*หมายเหตุ ปี 2563 บริษัทมีรายการค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่น ๆ สูงกว่าปกติ ทำให้มีกำไรต่ำกว่าปกติ)
โดยสัดส่วนรายได้ในปีล่าสุดของบริษัท จะแบ่งเป็น
เครื่องปรุงรสและอาหาร (57.9%)
ผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและอื่น ๆ (22.4%)
อาหารแช่แข็ง (18.5%)
ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ (1.2%)
แต่ถ้าแยกตามภูมิศาสตร์ จะมีรายได้มาจาก
ญี่ปุ่น (43.9%), ทวีปเอเชีย (24.6%), ทวีปอเมริกา (20.4%), ยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (11.0%)
ซึ่งจะเห็นว่ารายได้เกือบครึ่งหนึ่ง มาจากประเทศญี่ปุ่น
สำหรับประเทศไทย อายิโนะโมะโต๊ะ เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503
ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทย ถือเป็นฐานการผลิตผงชูรสแห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น ของอายิโนะโมะโต๊ะ
และปัจจุบัน กลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ในประเทศไทย
ได้ขยายกิจการไปยังธุรกิจต่าง ๆ หลากหลายแบรนด์ หลากหลายผลิตภัณฑ์ จนมีกว่า 17 บริษัท ในประเทศไทย อาทิ
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด
ปี 2562 มีรายได้ 26,397 ล้านบาท กำไร 4,147 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 26,053 ล้านบาท กำไร 5,105 ล้านบาท
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
(ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในเครือ และผลิตกาแฟกระป๋อง “เบอร์ดี้”)
ปี 2562 มีรายได้ 34,061 ล้านบาท กำไร 3,177 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 35,432 ล้านบาท กำไร 3,383 ล้านบาท
บริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด
(ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ยำยำ”)
ปี 2562 มีรายได้ 5,064 ล้านบาท กำไร 656 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 5,346 ล้านบาท กำไร 628 ล้านบาท
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ โฟรเซ่นฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด
(ผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็ง)
ปี 2562 มีรายได้ 1,616 ล้านบาท กำไร 156 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 1,542 ล้านบาท กำไร 116 ล้านบาท
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เบทาโกร โฟรเซ่นฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด
(ผลิตอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งประเภทไก่)
ปี 2562 มีรายได้ 2,716 ล้านบาท กำไร 200 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 2,616 ล้านบาท กำไร 210 ล้านบาท
บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ เบทาโกร สเปเชียลตี้ ฟู้ดส์ จำกัด
(ผลิตอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งประเภทหมู)
ปี 2562 มีรายได้ 698 ล้านบาท กำไร 56 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 529 ล้านบาท กำไร 41 ล้านบาท
บริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด
(ปุ๋ยอินทรีย์เคมี อายิโฟลและอามิเมท)
ปี 2562 มีรายได้ 445 ล้านบาท กำไร 23 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 399 ล้านบาท กำไร 56 ล้านบาท
สำหรับกรณีศึกษาของอายิโนะโมะโต๊ะ
หนึ่งในบทเรียนทางธุรกิจ ที่อาจนำไปปรับใช้และเป็นแรงบันดาลใจได้
ก็คือ บางครั้งการเริ่มต้นสร้างอาณาจักรธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ หรือผลิตภัณฑ์ที่จะมาพลิกโฉมวงการ
ไม่จำเป็นต้องเป็นการคิดค้นนวัตกรรม หรืออะไรใหม่ ๆ ได้เป็นคนแรก ด้วยตัวเองก็ได้
แต่เป็นการเห็นคุณค่าและโอกาสทางธุรกิจ ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเก่าหรือสิ่งใหม่
แล้วนำมาต่อยอด สร้างเป็นธุรกิจ
ซึ่งบางครั้ง สิ่งนั้นก็อาจเป็นสิ่งไร้ค่าในสายตาของคนอื่น
เหมือนอย่างในกรณีของคุณซาบุโรสุเกะ ซูซูกิ ที่แม้จะไม่ได้ค้นพบรสอูมามิเป็นคนแรก
แต่เขาก็เป็นคนแรก ที่เห็นโอกาสมหาศาลในธุรกิจนี้
และตัดสินใจลงมือสร้างอาณาจักร อายิโนะโมะโต๊ะ ด้วยมือของเขาเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.