คาด GDP ไทยปีนี้ โตเหลือ 0.5% แนะควรเร่งจัดหาวัคซีน mRNA ที่มีหลักฐานสนับสนุนป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ให้เร็วที่สุด - KKP Research

คาด GDP ไทยปีนี้ โตเหลือ 0.5% แนะควรเร่งจัดหาวัคซีน mRNA ที่มีหลักฐานสนับสนุนป้องกันสายพันธุ์เดลต้า ให้เร็วที่สุด - KKP Research

22 ก.ค. 2021
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าการระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19
อาจมีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่หลายฝ่ายประเมิน การระบาดของโควิด 19 ในรอบนี้ อาจจะไม่สามารถจบได้เร็วแบบเดียวกับปีก่อน
ทั้งจากไวรัสที่ระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่ คือ สายพันธุ์เดลต้า ที่มีความสามารถในการระบาดสูงกว่าเดิมมาก
ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ที่เริ่มต้นช้า, นโยบายจำนวนการตรวจโรคที่เป็นข้อจำกัด ที่อาจทำให้เราประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความจริง
และสัดส่วนของคนที่มีภูมิคุ้มมีน้อยมาก จากอัตราการฉีดวัคซีนที่ทำได้ช้า และวัคซีนมีประสิทธิผลในการป้องกันต่อเชื้อเดลต้าต่ำ
KKP Research ประเมินว่า การระบาดระลอกปัจจุบันของไทย จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างน้อย 3 เดือน กว่าสถานการณ์จะบรรเทาความรุนแรงลง ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจากการบริโภคและการลงทุนที่จะลดลงในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งจะส่งผลให้การเติบโตของการบริโภคทั้งปีติดลบ
และกระทบต่อการคาดการณ์ GDP ในปี 2021 จากการเติบโตที่ 1.5% เหลือเพียง 0.5% แม้ว่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ดีขึ้นก็ตาม
เมื่อนับรวมกับบตัวเลขการคาดการณ์ GDP ในปี 2022 ที่ 4.6% ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ รวมกับปีหน้าที่ระดับ 5.1% ไม่เพียงพอชดเชยการหดตัวของเศรษฐกิจในปี 2020 ที่หดตัวลง 6.1%
และเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2023 ในการกลับเข้าสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด
อย่างไรก็ตามในกรณีเลวร้าย หากจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ที่ยาวนานกว่าสามเดือน หรือต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ที่มีข้อจำกัดมากขึ้น กระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก ซึ่งเป็นความหวังสุดท้ายของเศรษฐกิจไทย
KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย จะถูกกระทบเพิ่มเติมอีก -1.3% และทำให้เศรษฐกิจในปีนี้ -0.8%
-การแพร่ระบาดรอบปัจจุบันอาจลากยาว
จากสถิติการระบาดใหญ่ในต่างประเทศ การแพร่ระบาดหนึ่งรอบกินระยะเวลาเฉลี่ย 120-150 วัน สำหรับกรณีประเทศไทย เมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ อาทิ ประสิทธิผลของวัคซีนที่ลดลงต่อเชื้อสายพันธุ์เดลต้า,แผนการจัดหาวัคซีน และสถานการณ์ระบบสาธารณสุขในปัจจุบัน
KKP Research ประเมินว่า การแพร่ระบาดอาจจะเกิดขึ้นยาวนานต่อเนื่องในอีก 6 เดือนข้างหน้า
-แผนวัคซีนที่ล่าช้าและไม่แน่นอน เพิ่มต้นทุนต่อเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์เพิ่มเติม
ปัจจุบันมีคนไทยได้รับวัคซีนครบสองโดสแล้วเพียง 3.5 ล้านคน หรือคิดเพียง 5% ของประชากร และเกือบทั้งหมดได้รับวัคซีน Sinovac (3.3 ล้านคน) ที่มีงานวิจัยพบว่ามีประสิทธิผลจำกัดต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า และมีแนวโน้มที่ภูมิคุ้มกันลดลงเรื่อย ๆ
ความไม่แน่นอนในการจัดหาวัคซีน กำลังสร้างความเสี่ยงต่อสร้างภูมิคุ้มกันโดยรวม
KKP Research คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ เพียง 35% ของประชากรจะได้รับวัคซีนครบสองโดส
การฉีดวัคซีนที่ล่าช้า เพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจผ่านการปิดเมืองเพิ่มเติม จากการศึกษาของกลุ่มประเทศ OECD พบว่าการมีสัดส่วนประชากรที่ฉีดวัคซีนแล้วครบ 2 โดส สามารถลดการแพร่ระบาดได้เทียบเท่ามาตรการล็อกดาวน์บางมาตการ
เช่น หาก 7% ของประชากรได้รับฉีดวัคซีนครบสองโดส จะลดโอกาสการแพร่ระบาดเฉลี่ยได้เทียบเท่ามาตรการปิดโรงเรียน คำสั่งห้ามออกนอกเคหะสถาน หรือการห้ามเดินทางระหว่างประเทศ
แต่ถ้าหากมีประชากรได้รับวัคซีนครบสองโดส ในระดับมากกว่า 13% ของประชากร ก็จะสามารถลดการแพร่ระบาดได้ผลเทียบเท่ามาตรการปิดสถานที่ทำงาน
สำหรับประเทศไทยที่สัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว ยังอยู่ในระดับต่ำมาก ทางออกที่เหลืออยู่จึงเป็นมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นการเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
-ล็อกดาวน์ต้องทำอย่างเป็นระบบ เพราะประสิทธิผลอยู่ได้ไม่เกิน 2 เดือน
ไทยปิดเมืองมากไปปีที่แล้วและช้าไปในปีนี้ ในการระบาดรอบแรกเมื่อปีที่แล้ว ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่อยู่ในระดับต่ำ (ยอดผู้ติดเชื้อต่อวันสูงสุดเพียง 188 คน) แต่ไทยเลือกที่จะใช้มาตรการอย่างเข้มงวดในการปิดเมืองทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ในขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวในโรงพยาบาล (Active case) สูงขึ้นมาก แต่มาตรการกลับมีความผ่อนคลายค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับการระบาดครั้งก่อน จนทำให้สถานการณ์เกิดการระบาดอย่างรุนแรง
งานศึกษามหาวิทยาลัย Harvard ใน 152 ประเทศชี้ว่า มาตรการล็อกดาวน์มีข้อจำกัดสำคัญ คือ ผลของมาตรการจะมีประสิทธิผลสูงสุดไม่เกินช่วง 2 เดือนแรก โดยหลังจากบังคับใช้มาตรการผ่านไป 60 วัน ผลที่ได้จะไม่ดีมาก เนื่องจากความร่วมมือต่อมาตรการจะลดลงอย่างมาก (lockdown fatigue)
ด้วยข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การล็อกดาวน์ให้ประสบผลสำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องแข่งกับเวลา และในขณะเดียวกันถึงแม้จะมีการล็อกดาวน์ที่เข้มข้น แต่สิ่งสำคัญต้องทำควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายได้เร็วยิ่งขึ้น คือ
1) เร่งเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาเชื้อ เช่น การแจกหรือการอุดหนุน rapid antigen test และ facility สำหรับ home isolation
2) จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงต่อสายพันธุ์เดลต้า
KKP Research ประเมินว่าหากมาตรการที่ไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้
มีความเป็นไปได้ที่ต้องใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เช่น มาตรการปิดสถานที่ทำงาน
แต่มาตรการเหล่านี้ ต้องมีการวางแผนและประสานงานเพื่อลดผลกระทบ และความสับสน
และทำให้บังคับใช้มาตรการได้อย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด
-นโยบายรัฐต้องเพียงพอและลดความไม่แน่นอน
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่ามีหลายมาตรการ ที่รัฐบาลควรเร่งปรับปรุงนโยบาย และออกมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์ ลดผลกระทบ ได้แก่
1) ควรมีการประเมินสถานการณ์และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใสและตรงไปตรงมา เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์อย่างตรงไปตรงมา และขอความร่วมมือจากประชาชนอย่างชัดเจน
2) ควรจัดทำแผนมาตรการล็อกดาวน์ที่มองไปข้างหน้า สอดคล้องกับสถานการณ์ และสมเหตุสมผล และสื่อสารแผนการบังคับใช้และผ่อนคลายไว้ล่วงหน้า
3) เร่งเพิ่มศักยภาพในการตรวจหาโรค การสอบสวนโรค การแยกผู้ป่วย และการรักษา และปรับปรุงนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อศักยภาพในการตรวจโรค
4) เร่งจัดหาวัคซีน mRNA ที่หลักฐานสนับสนุนในการป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดลต้าให้เร็วที่สุด เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันของประชาชน
5) จัดเตรียมนโยบายเยียวยาประชาชนและธุรกิจที่เหมาะสมต่อระดับ และระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์
เพื่อสนับสนุนให้มาตรการใช้ได้ผลจริง ลดผลกระทบต่อประชาชน
และป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ และรักษาเศรษฐกิจให้สามารถฟื้นตัวกลับมาได้โดยเร็ว เมื่อสถานการณ์การระบาดปรับตัวดีขึ้น
6) แม้ระดับหนี้สาธารณะมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยเป็นภาระต่องบประมาณน้อยลง เราเชื่อว่าประเทศยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่ม หากมีความจำเป็น
เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและประชาชน โดยจำเป็นต้องมีแผนในการลดการขาดดุลในอนาคต และต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ ให้มีประสิทธิภาพที่สุด
7) นโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ควรต้องมีการประสานงานและมีบทบาทมากขึ้น เพื่อจัดหามาตรการเพื่อแก้ปัญหาการหยุดชะงักของเศรษฐกิจ กระแสเงินสด และความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจ
และรักษาการทำงานของภาคการเงิน และเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ
*อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ > https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend/gdp-cut-due-to-lockdown-in-2021
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.