EIC ปรับลดเศรษฐกิจไทยปี 2021 เหลือโต 0.9% แนะควรเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

EIC ปรับลดเศรษฐกิจไทยปี 2021 เหลือโต 0.9% แนะควรเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

22 ก.ค. 2021
เป็นผลจากการระบาดของ COVID-19 ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก ทั้งจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น (ล็อกดาวน์) ความกังวลของประชาชนในการใช้จ่ายภายใต้ความ ไม่แน่นอนที่สูงขึ้น (Fear Factor) และแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น (Scarring)
ขณะที่เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ที่ออกมายังไม่เพียงพอและทั่วถึง จึงช่วยบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
-การบริโภคภาคเอกชนจะถูกกระทบค่อนข้างรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 3 ก่อนฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงปลายปี โดยการระบาดในประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติ สะท้อนจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ตลอดจนการฉีดวัคซีนที่มีความล่าช้ากว่าแผน และมีประสิทธิภาพน้อยลง ในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ Delta ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง
จึงทำให้ EIC คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึงช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะปรับลดลงต่ำกว่า 100 ราย/วัน ซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือน ตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเมษายน (คาดการณ์เดิมใช้เวลาแค่ 4 เดือนในควบคุมโรค)
โดยมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท (ราว 4.8% ของ GDP) ซึ่งมีสาเหตุหลักทั้งจากผลของมาตรการล็อกดาวน์ ความกังวลของประชาชนต่อการติดเชื้อ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก
ตลอดจนรายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานในหลายภาคธุรกิจที่จะปรับลดลงมาก แม้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคบางส่วนจะหันไปใช้ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน
ทั้งนี้ผลกระทบของการระบาดที่ลากยาวจะทำให้แผลเป็นเศรษฐกิจ มีโอกาสปรับลึกขึ้นอีก ทั้งในส่วนของการเปิดปิดกิจการที่แย่ลง ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น
รวมถึงภาคครัวเรือนจะต้องแบกหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและเผชิญกับภาวะของการมีหนี้สูง จนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายในอนาคต หรือ Debt overhang เป็นเวลานานขึ้น ซึ่งแผลเป็นที่ลึกขึ้น จะเป็นอุปสรรคหลักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
-แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ยังเป็นการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง
แต่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการระบาดของ COVID-19 ที่อาจทำให้เกิด supply disruption ในการผลิตภาคอุตสาหกรรม
ในภาพรวม แม้การค้าโลกจะปรับชะลอลงบ้าง แต่ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว สอดคล้องกับดัชนี Global PMI: Export orders และมูลค่าการส่งออกของประเทศในภูมิภาค ที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
ทำให้ EIC ยังคงคาดการณ์ ส่งออกไทยที่ 15.0% ในปีนี้ แต่ต้องจับตาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะปัญหา supply disruption ที่เกิดจากการปิดโรงงานจากการระบาดทั้งในไทยและประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกับไทย
ผลกระทบด้านอุปสงค์จากการระบาดในเศรษฐกิจประเทศอาเซียนที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย ตลอดจนการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ที่ทำให้ค่าระวางเรือยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และการขาดแคลนชิปที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์
-การเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะยังไม่สามารถช่วยฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวได้มากนักในปีนี้
ภายใต้ภาวะการระบาดที่รุนแรงขึ้น โดยการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในโครงการนำร่องอย่าง Phuket Sandbox และ Samui plus จะมีข้อดีด้านการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อรองรับการฟื้นตัว ของการท่องเที่ยวในระยะต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งในเรื่องของกระบวนการตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยว การจัดทำ vaccine passport และการสร้างความพร้อมของภาคธุรกิจในการฟื้นฟูเปิดกิจการรองรับนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี การเปิดรับนักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาได้มากนักในปีนี้
เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของไทย ยังมีนโยบายการเปิดเดินทางเข้าออกประเทศที่ค่อนข้างระมัดระวัง จากความกังวลของการระบาดสายพันธุ์ใหม่
ประกอบกับสถานการณ์ระบาดในไทย ที่ปรับแย่ลง ก็มีส่วนทำให้นักท่องเที่ยวกังวลที่จะเดินทางเข้าไทย จึงทำให้ EIC จึงปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เหลือ 3 แสนคน (เดิมคาด 4 แสนคน)
-มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการประคับประคอง เศรษฐกิจและลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ
แม้ภาครัฐจะพยายามออกมาตรการเยียวยาควบคู่ไปกับมาตรการ ล็อกดาวน์ อย่างไรก็ดี มาตรการภาครัฐที่ออกมาจนถึงปัจจุบันยังไม่เพียงพอทั้งในเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และปริมาณเงินรวม
กล่าวคือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกระจายไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ สะท้อนจาก Facebook Movement Range ที่บ่งชี้ว่า การเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลงทุกจังหวัด แม้ไม่โดนล็อกดาวน์
เนื่องจากประชาชนมีความกังวลกับการติดเชื้อ จึงลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจลง
ขณะที่ระยะเวลาที่ได้รับผลกระทบก็มีแนวโน้มยาวนานอย่างน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3
ดังนั้น มาตรการชดเชยรายได้แรงงาน และผู้ประกอบการล่าสุดที่ครอบคลุมแค่จังหวัดที่โดนล็อกดาวน์และชดเชยเพียง 1 เดือน จึงไม่น่าเพียงพอ ที่จะชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้
โดย EIC คาดว่า ในกรณีฐาน ภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบันอย่างน้อยอีกราว 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็นใช้เม็ดเงินจาก พรก. กู้เงิน 5 แสน ล้านบาท ราว 2 แสนล้านบาทในปีนี้
และภาครัฐอาจพิจารณาการใช้จ่ายเพิ่มเติม หากการระบาดยืดเยื้อกว่าที่คาด ทั้งนี้มาตรการที่ภาครัฐควรเร่งรัด ได้แก่
1. มาตรการด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง การเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ ตลอดจนการจัดหายา อุปกรณ์การแพทย์ สถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น
ในประเด็นการกระจายวัคซีน นอกเหนือจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ แล้ว ภาครัฐควรจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมให้เพียงพอด้วย เพื่อป้องกันปัญหาการระบาดที่จะกลายเป็น supply disruption กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสำคัญ ทั้งการส่งออกและการอุปโภคในประเทศด้วย
2. มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ นอกจากเม็ดเงินเยียวยาที่ตรงจุด เพียงพอ และขยายเวลาออกไปอย่างน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งการระบาดน่าจะยังอยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยประคับประคองการใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องและการจ้างงานของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันการว่างงาน และการทำงานที่ต่ำกว่าศักยภาพในภาคนอกระบบที่อาจเพิ่มขึ้นในวงกว้าง
ควบคู่กับการปรับทักษะแรงงาน (Up/Re-skill) และการส่งเสริม SMEs ให้สามารถปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
ทั้งด้านการผลิตและช่องทางการขาย (online platform) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการแข่งขันของแรงงานและธุรกิจในโลก New normal อีกด้วย
อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็ม > https://www.scbeic.com/th/detail/product/7700
ที่มา - ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.