True คิดอะไร ทำไมถึงบุกตลาดดิลิเวอรี ด้วย “TrueFood”

True คิดอะไร ทำไมถึงบุกตลาดดิลิเวอรี ด้วย “TrueFood”

22 ก.ค. 2021
ในเมื่อวันนี้ ตลาดดิลิเวอรีเมืองไทย มีผู้เล่นจำนวนมาก แถมมีเจ้าใหญ่ที่ครองตลาดอยู่แล้วมากมาย
ซึ่งต่างฝ่ายต่างงัดทุกโปรโมชันค่าอาหาร, ค่าส่ง, คูปองส่วนลด มาแข่งกัน จนขาดทุนกันเป็นสายเลือด
Foodpanda ปี 2563 ขาดทุน 3,596 ล้านบาท
Grab ปี 2562 ขาดทุน 1,650 ล้านบาท
LINE MAN ปี 2563 ขาดทุน 1,115 ล้านบาท
แต่ทำไม True บริษัทโทรคมนาคม ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเครือข่ายมือถือ 31.2 ล้านราย
ถึงเลือกที่จะลงมาสู้ศึกฟูดดิลิเวอรี กับเขาด้วย
นั่นก็เพราะ True มีธุรกิจในเครืออีกมากมาย และเห็นว่าการสร้างธุรกิจหลายขา จะเสริมให้ Ecosystem ของ True แข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก
อีกทั้งยิ่งมีผู้ใช้งานดิลิเวอรีเติบโต ก็ยิ่งช่วยเพิ่มวอลูมหรือโอกาสให้กับธุรกิจอื่น ๆ ของ True ได้อีกมหาศาล
ลองมาดูตัวอย่างกันว่า การมีบริการดิลิเวอรี “TrueFood” ซึ่งเป็นบริการหนึ่งในแอปพลิเคชัน TrueID
จะเข้ามาช่วยเสริมแกร่งให้กับ True ได้อย่างไร ?
- TrueFood ทำให้คนใช้จ่ายผ่าน TrueMoney Wallet มากขึ้น
TrueFood สามารถผูกบัญชี เพื่อใช้จ่ายเงินผ่านทาง TrueMoney Wallet
ซึ่งใครที่ใช้งานในวอลเล็ต ก็จะได้สะสมทรูพอยต์
โดยพอยต์ทั้งหมดสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้
เช่น ค่าโทรศัพท์รายเดือน, ค่าอาหารและเครื่องดื่มของร้านค้าที่ร่วมรายการ
และที่น่าสนใจก็คือ True ร่วมมือกับ Makro ทำให้ร้านค้าที่เข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์กับ TrueFood
สามารถซื้อวัตถุดิบในราคาพิเศษได้อีกด้วย
ดังนั้น True ก็จะสามารถดึงผู้ใช้งานทั้งจากฝั่งที่เป็นร้านค้า และคนที่อยากสั่งอาหาร ให้ใช้งานวอลเล็ตได้มากขึ้น
- TrueFood ช่วยเสริมให้คนอยู่ในแอปพลิเคชัน TrueID ได้ยาวนานขึ้น
ก่อนหน้านี้ TrueID จะเป็นแอปฯ ที่เด่นในเรื่องการดูหนัง, ทีวี, กีฬา และมีรายการที่เอกซ์คลูซิฟมากมาย
แต่เมื่อมีคู่แข่งสตรีมมิงยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ เข้ามาตีตลาดในไทย และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
ก็อาจทำให้ TrueID ยังแย่งเวลาของลูกค้า ให้เข้ามาใช้แอปฯ นี้ได้ไม่มากพอ
แต่ในเมื่อมีบริการ TrueFood เข้ามาอยู่ในแอปฯ TrueID
ก็อาจจะทำให้คนที่คิดจะสั่งอาหาร สั่งดิลิเวอรี ได้มีโอกาสเห็นและลองใช้บริการอื่น ๆ ที่อยู่ภายในแอปฯ ด้วย
ซึ่งจะช่วยให้บริการต่าง ๆ ของ True แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เช่น ระหว่างที่กำลังรออาหารมาส่ง บางคนก็อาจจะเลื่อน ๆ ดู ว่ามีรายการอะไรที่น่าสนใจบ้าง
ซึ่งก็คงทำให้คนจำนวนไม่น้อย ใช้เวลาอยู่ในแอปฯ นี้ ยาวนานขึ้นกว่าแต่ก่อน
- TrueFood ช่วยดึงลูกค้าใหม่ ให้มาใช้เครือข่าย True ได้มากขึ้น
สำหรับร้านค้าที่สนใจเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ส่งอาหารกับ TrueFood จะไม่มีค่าสมัคร และไม่เก็บค่าธรรมเนียม GP
อีกทั้งทาง True จะช่วยโปรโมตร้านค้าให้ฟรี ผ่าน SMS 500 เบอร์ เพื่อช่วยเรียกลูกค้าให้มาสั่งอาหาร
และจัดโปรโมชันพิเศษ โดยสามารถใช้เน็ต ทรู กิกะเทค ไฟเบอร์ ฟรี นาน 12 เดือน
แถมยังสมัคร TrueMove H แบบเติมเงินหรือแบบรายเดือน ในราคาพิเศษ ได้อีกด้วย
ซึ่งกลยุทธ์การไม่เก็บค่า GP และการโปรโมตร้านค้าให้แบบฟรี ๆ นี้
จะเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้ร้านค้าหันมาเปิดเบอร์กับ True และเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม TrueID รวมถึง TrueMoney Wallet กันมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ True ก็มีเครือข่ายสำคัญ อย่างธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่เข้ามาช่วยทำให้การทำธุรกรรมการจ่ายเงินผ่าน TrueMoney Wallet นั้นเติบโต
รวมถึงมีการเปิดเบอร์ง่าย ๆ ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งก็ทำมาหลายปีแล้ว
และมีช็อปทรู เพื่อให้คนสามารถซื้อโทรศัพท์ของ True ใน 7-Eleven ได้อีกต่างหาก
แต่ในวันนี้ จำนวนคนสั่งอาหารดิลิเวอรีนั้นเติบโต และมีวอลูม ไม่แพ้การซื้อของในร้านสะดวกซื้อ
ทำให้ยักษ์ใหญ่ที่อยากจะชนะในเกมธุรกิจ ต้องลงมาเล่นตลาดฟูดดิลิเวอรีด้วย
อย่างในต่างประเทศเอง ก็มีกรณีคล้าย ๆ กัน
เช่น Alibaba ที่เป็นเจ้าพ่ออีคอมเมิร์ซ ได้ทุ่มทุนกว่าหมื่นล้านบาท กับตลาดดิลิเวอรี
ด้วยการซื้อกิจการสตาร์ตอัปฟูดดิลิเวอรี Ele.me
เพื่อให้ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่งของ ไลฟ์สไตล์ชาวจีนมากที่สุด
จากเรื่องนี้ เราคงจะเห็นแล้วว่า หากอยากชนะในเกมธุรกิจ ก็ต้องมี Ecosystem ที่แข็งแกร่ง
ไม่ว่าจะด้วยกลยุทธ์เข้าซื้อกิจการ หรือลงมือทำเองก็ตาม
และการเกิดขึ้นของ TrueFood อาจไม่ใช่การตั้งเป้าเป็นที่หนึ่งของสนามดิลิเวอรี
แต่กลยุทธ์นี้ จะช่วยทำให้ “True” เข้าใกล้การเป็นเครือข่ายด้านไลฟ์สไตล์ ที่ครอบคลุมทุกวิถีชีวิตมากขึ้น..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.