จอลลี่แบร์​ เจลลีหมี ที่ทำให้บางคน ต้องลุ้นทุกครั้งที่ฉีกซอง​​

จอลลี่แบร์​ เจลลีหมี ที่ทำให้บางคน ต้องลุ้นทุกครั้งที่ฉีกซอง​​

25 ก.ค. 2021
นอกจาก ปีโป้ ที่ในแต่ละถุง จะมีหลากสีให้ต้องลุ้นว่า ถุงนี้จะมีสีโปรดกี่อันให้ได้ฟิน
อีกขนมในความทรงจำ ที่ชวนให้ลุ้นทุกครั้งที่แกะซอง ต้องยกให้ จอลลี่แบร์ (Jolly Bears) เจลลีหมีรสผลไม้
ที่ปกติแล้วใน 1 ซอง จะมีหลากหลายรสชาติด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ส้ม, องุ่น, แอปเปิล, สตรอว์เบอร์รี และ สับปะรด
ซึ่งแต่ละคนก็จะมีรสชาติที่ชอบแตกต่างกัน ทำให้ต้องลุ้นว่า ซองที่เลือกมา จะมีรสชาติที่ชอบมากหรือน้อย
ที่น่าสนใจคือ นอกเหนือจากจอลลี่แบร์ เจลลีรูปหมีที่หลายคนคุ้นเคย ซึ่งบางคนกินมาตั้งแต่เด็ก
ขนมภายใต้ตราสินค้า Jolly ยังมีจอลลี่โคล่า (Jolly Cola) เจลลีรูปขวดกลิ่นโคล่า
จอลลี่ดอทส์ (Jolly Dots) ขนมเคี้ยวกลิ่นผลไม้ และ จอลลี่สติ๊ก (Jolly Stick) ขนมเคี้ยวเหนียว ๆ (คล้ายซูกัส) ที่ห่อพลาสติกรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ยีราฟ, สิงโต, ช้าง, หมี อีกด้วย
แล้วรู้หรือไม่ว่า จอลลี่แบร์ มีที่มาที่ไปอย่างไร ?
ใครเป็นผู้ให้กำเนิด จอลลี่แบร์ ?
ในขณะที่ฝั่งตะวันตก มีขนมกัมมีแบร์ชื่อดังอย่าง HARIBO ซึ่งคิดค้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 หรือเมื่อ 99 ปีที่แล้ว บ้านเราก็มีจอลลี่แบร์ ซึ่งมีเจ้าของเป็นคนไทย คือ ตระกูลเชาวน์ประดิษฐ์
ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2516 หรือเมื่อ 48 ปีก่อน
โดยในช่วงเริ่มแรกนั้น ยังไม่ได้คิดจะทำเจลลีรสผลไม้ขาย แต่ผลิตลูกอมแบบแข็ง (Hard Candy)
เพราะเป็นสินค้าที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในสมัยนั้น
แต่ทำไปทำมา เห็นว่าคู่แข่งในตลาดลูกอมเยอะ
พอมาถึงทายาทรุ่น 2 จึงปิ๊งไอเดีย เปลี่ยนมาทำเจลลี ลูกอมแบบเคี้ยวนุ่มหนุบ ๆ โดยทำเป็นรูปหมี และตั้งชื่อว่า​ จอลลี่แบร์ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เส้นทางของ จอลลี่แบร์ ในช่วงแรกไม่ได้สดใสดั่งใจ
เพราะด้วยความที่เป็นสินค้าใหม่ ไม่เคยมีในท้องตลาดมาก่อน
ร้านค้าต่าง ๆ จึงไม่อยากเสี่ยงรับสินค้ามาขาย
จอลลี่แบร์ จึงต้องแก้เกม ด้วยการทำการตลาดอย่างหนัก
จนกลายเป็นที่มาของโฆษณาทางโทรทัศน์ ที่มีเพลงและสโลแกนติดหูอย่าง “นุ่ม ๆ เหนียว ๆ นุ่ม ๆ เหนียว ๆ โอ้ จอลลี่แบร์”
ซึ่งไม่เพียงทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก แต่ยังกลายเป็นสินค้าขายดี ในฐานะขนมที่หลายคนฟินกับการเคี้ยวเพลิน ๆ จนถึงทุกวันนี้
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วที่ผ่านมา จอลลี่แบร์ ขายดีแค่ไหน
ผลประกอบการของบริษัท พงษ์จิตต์ จำกัด
ปี 2561 มีรายได้รวม 205 ล้านบาท กำไร 39 ล้านบาท
ปี 2562 มีรายได้รวม 206 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้รวม 215 ล้านบาท กำไร 38 ล้านบาท
จะเห็นว่า รายได้ของบริษัทยังคงเติบโตต่อเนื่อง
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ Branding ที่แข็งแรง ทำให้ยังครองใจสาวกจอลลี่แบร์ ได้ต่อเนื่อง
แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ การที่แบรนด์เองก็ไม่หยุดนิ่ง
ยังขยันสร้างประสบการณ์ที่แปลกใหม่ หรือ Wow Experience ให้กับผู้บริโภคอยู่เสมอ
ไม่ว่าจะเป็นการแตกไลน์สินค้าใหม่ ๆ มาเสริมทัพ อย่าง จอลลี่โคล่า, จอลลี่ดอทส์, จอลลี่สติ๊ก
หรือที่สร้างความฮือฮาและน่าจะโดนใจใครหลายคนมากที่สุด คงหนีไม่พ้น ตอนที่จอลลี่แบร์ แก้ Pain Point ของลูกค้า ด้วยการเปิดตัวจอลลี่แบร์ แบบแยกสี เฉพาะรสชาติที่แฟน ๆ เรียกร้อง
เป็นเวอร์ชันแยกสีเขียว รสแอปเปิล และเวอร์ชันสีแดง รสสตรอว์เบอร์รี
และยังมีการเปิดตัวรสชาติใหม่ อย่าง Super Sour ซึ่งมีเฉพาะจอลลี่แบร์ สีเขียว
โดยมี 3 รสชาติในซองเดียว ได้แก่ มะนาว, กีวีแอปเปิล และแอปเปิล
แถมเปิดตัวจอลลี่ มินิ จัมโบ้แบร์ 4 กลิ่น ​กับแพ็กเกจ 4 ฤดู
นอกจากนี้ ล่าสุด จอลลี่แบร์ ยังสร้างมิติใหม่ให้กับแบรนด์ ด้วยการอัปลุกของแบรนด์จอลลี่แบร์
ด้วยการไป Collaboration กับแบรนด์รองเท้า “Kito” (กีโต้) ทำเป็น “รองเท้าแตะลายหมี (จอลลี่แบร์)” มี 4 สีให้เลือก ได้แก่ สีเทา, แดง, เขียว, ดำ ขายในราคาคู่ละ 390 บาท
ถือเป็นอีกเซอร์ไพรส์ ที่สร้างภาพจำใหม่ให้กับแบรนด์ ที่ไม่ใช่แค่เคี้ยวอร่อย แต่พอแปลงร่างมาเป็นลวดลายบนรองเท้าแตะสุดคูล
ทำให้แบรนด์กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ได้อย่างกลมกลืน สมกับแบรนด์ระดับตำนานที่ครองใจใครหลาย ๆ คน
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
หลายคนอาจจะคุ้นชินว่า จอลลี่แบร์ แบบออริจินัล จะมีซอง 2 สี คือ สีเงินและสีทอง แต่ไม่รู้ความหมายที่ซ่อนอยู่
จริง ๆ แล้ว​ ความแตกต่างของสีซอง ไม่ได้เป็นการสะท้อนถึงความพรีเมียมของสินค้าแต่อย่างใด
แค่เป็นการแบ่งแยกว่า ถ้าเป็นซองเล็กขนาด 5 บาท จะเป็นสีทอง
แต่ถ้าเป็นซองสีเงิน ขนาดใหญ่ขึ้น ขายราคา 10 บาทเท่านั้น
และต่อมาก็ออกซองใหม่ สีโรสโกลด์ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาอีก ขายราคา 20 บาท
เพื่อเวลาซื้อ จะไม่ต้องกลัวหยิบผิดนั่นเอง..
อ้างอิง:
-http://www.jollyland.com/
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.