ใครคือเจ้าของแบรนด์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว และ ควิก

ใครคือเจ้าของแบรนด์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไวไว และ ควิก

10 ส.ค. 2021
รู้ไหมว่า ไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่บริโภค บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มากที่สุดในโลก
โดยเฉลี่ยแล้ว คนไทย 1 คน จะกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 53.2 ซอง/ปี
มากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก และเป็นรองเพียง เกาหลีใต้ และเวียดนาม เท่านั้น..
จึงไม่แปลกใจเลย ทำไมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในประเทศไทย ถึงมีมูลค่าสูงถึง 17,000 ล้านบาท
ซึ่งใกล้เคียงกับมูลค่าของตลาดสุกี้-ชาบู ที่ประมาณ 19,000 ล้านบาท
แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะขายกันซองละไม่กี่บาท ในขณะที่สุกี้-ชาบู ในแต่ละมื้อ มีราคาหลักร้อยอัป
โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะแซงหน้าขึ้นมาเป็นเมนูอันดับต้น ๆ ที่คนไทยนึกถึงเลยทีเดียว..
สำหรับตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มูลค่า 17,000 ล้านบาท แบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด ได้แก่
- มาม่า 48%
- ไวไวและควิก 24%
- ยำยำ 21%
- อื่น ๆ 7%
ทุกคนคงไม่แปลกใจ กับแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งอันดับที่ 1
เพราะมาม่า เป็นแบรนด์ที่เรารู้จักกันดี และยังเป็น Generic Name หรือ ชื่อแบรนด์ที่กลายมาเป็นชื่อเรียกแทนประเภทกลุ่มสินค้า อย่างที่หลาย ๆ คนเรียกชื่อมาม่า แทนคำว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
แต่อีกแบรนด์ที่มีผลิตภัณฑ์และจุดยืนที่น่าสนใจ ไม่แพ้มาม่าเลย
แถมยังเป็นแบรนด์ในดวงใจของผู้บริโภคจำนวนมาก ก็คือ “ไวไว”
เพราะหากพูดถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่มีจุดเด่นเรื่องเส้นเหนียวนุ่ม ต้องยกนิ้วให้กับแบรนด์นี้
จุดเริ่มต้นของ ไวไว เกิดจากคุณชาญ แต้มคงคา
ซึ่งเขากำลังทำธุรกิจนำเข้าและส่งออก หมากฝรั่งและลูกอม อยู่
ได้สังเกตเห็น กระแสความนิยมของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากญี่ปุ่น ในประเทศไทย
คุณชาญ เห็นว่านี่อาจเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ จึงเริ่มศึกษาตลาดนี้อย่างจริงจัง และเดินทางไปดูงานในโรงงานในต่างประเทศ เพื่อศึกษา Know-how และกระบวนการผลิตต่าง ๆ
หลังจากรู้สึกว่าความรู้พร้อมแล้ว เขาก็ได้ร่วมกับเพื่อนอีก 6-7 คน ก่อตั้งบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2515 เพื่อผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ไวไว จำหน่าย
ภายใต้สโลแกน "เส้นเหนียวนุ่ม.. ไม่อืด"
ซึ่งนับเป็นแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายที่ 3 ของประเทศไทย
ด้วยคุณภาพและความอร่อยของบะหมี่ไวไว ที่ถูกใจผู้บริโภคชาวไทย
ทำให้ธุรกิจเติบโต และครองส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายสิบปี จนกลายเป็นหนึ่งในผู้นำของตลาดนี้
และเพื่อต่อยอดความสำเร็จ และขยายธุรกิจให้เติบโตไปอีก
บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จึงได้แตกแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปใหม่ อย่าง “ไวไว ควิก” ในปี พ.ศ. 2540 ซึ่งในภายหลังก็เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น “ควิก” เฉย ๆ
หลังจากแบรนด์ควิก ออกสู่ตลาดนั้นไม่นาน ก็ประสบความสำเร็จตามรอยแบรนด์รุ่นพี่
เพราะปรากฏว่า ควิก กลายเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่วัยรุ่น
การมีแบรนด์ควิกเข้ามาในพอร์ตสินค้า จึงกลายเป็นการสร้างฐานลูกค้าโดยรวมของบริษัทให้กว้างขึ้น
นอกจาก ไวไวและควิก แล้ว
บริษัทยังมีแบรนด์ “ซือดะ​​” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่มีเครื่องหมายฮาลาล
สำหรับเจาะลูกค้ากลุ่ม ชาวมุสลิม โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
และมีผลิตภัณฑ์ ผงปรุงสำเร็จ ภายใต้แบรนด์ “รสเด็ด” อีกด้วย
จะเห็นว่าแต่ละแบรนด์ จะเน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน
เป็นการช่วยให้ธุรกิจเติบโต ด้วยการขยายฐานลูกค้า แถมลดความเสี่ยงของธุรกิจ จากการมีพอร์ตสินค้าหลาย ๆ ตัว
ปัจจุบันบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด
มีคุณวรวุฒิ ปีกานนท์ เป็นประธานกรรมการ
มีคุณปรีชา นภาพฤกษ์ชาติ เป็นกรรมการผู้จัดการ
และมีโรงงานสองแห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดนครปฐม
นอกจากในประเทศแล้ว บริษัทยังส่งสินค้าออกไปจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย
โดยส่งออกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐฯ, ยุโรป, ออสเตรเลีย, จีน, ญี่ปุ่น และประเทศเพื่อนบ้าน
ที่ผ่านมา บริษัทยังมีการเดินเกมกลยุทธ์และการตลาดที่น่าสนใจหลายอย่าง
เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ และปรับตัวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาทิ
ได้เปิดตัวธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้ชื่อ “ควิก เทอเรส (Quick Terrace)” ตอนปี พ.ศ. 2558
มีเป้าหมายเพื่อขยายธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยการนำสินค้าที่มีอยู่แล้วของบริษัทมาต่อยอด
ผ่านการเพิ่มมูลค่าของบะหมี่ที่ซองละไม่กี่บาท แปลงร่างเป็นเมนูอาหารต่าง ๆ เช่น ยำ, สปาเกตตี, ก๋วยเตี๋ยว
ซึ่งการขยายสาขาของร้านควิก เทอเรส มีทั้งแบบบริษัทลงทุนเอง และขายแฟรนไชส์
หรือทุ่มงบการตลาด 50 ล้านบาท เปิดตัวแคมเปน “ทำวันนี้ ทำไวไว”
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน ได้รีบลุกขึ้นมาทำตามความฝัน
ด้วยกลยุทธ์ Music Marketing ผ่านเพลง “ทำวันนี้ ทำไวไว” จากคุณบอย โกสิยพงษ์, ปู-พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ และวง Room39
โดยเพลงนี้มากับท่อน Hook ที่จดจำง่ายและร้องตามได้
และสื่อว่า แบรนด์ไวไว พร้อมสนับสนุนให้ลุกขึ้น เพื่อลงมือทำตามความฝัน
นับเป็นแคมเปนที่ช่วยให้แบรนด์เล่าความตั้งใจของตัวเอง และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
แล้วที่ผ่านมา ผลประกอบการของบริษัท เป็นอย่างไร ?
บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด
ปี 2562 มีรายได้ 6,526 ล้านบาท กำไร 342 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้ 7,059 ล้านบาท กำไร 431 ล้านบาท
รายได้เติบโต 8.2% และกำไรเติบโต 26.1%
โดยทุก ๆ รายได้ 100 บาท จะเป็น
ต้นทุนสินค้า 75 บาท
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ 17 บาท
ดอกเบี้ยจ่ายและภาษี 2 บาท
กำไร 6 บาท
สาเหตุที่ทำให้ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจของบริษัทเติบโต
อาจมาจากสถานการณ์โรคระบาด ที่ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก กำลังซื้อของผู้บริโภคอ่อนแอลง รวมถึงผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้าน
ลูกค้าจึงหันมาพึ่งพา, ซื้อกักตุน และบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของบริษัท กันมากขึ้น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ คนที่รวยสุดในประเทศเนปาล คือคุณ Binod Chaudhary ซึ่งมีทรัพย์กว่า 46,500 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่ทำให้เขาร่ำรวยนั้น คือธุรกิจผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แบรนด์ไวไว..
เนื่องจากเขาสังเกตเห็นว่า ชาวเนปาลที่เดินทางกลับมาจากไทย มักหิ้วบะหมี่ไวไว กลับมาด้วยจำนวนมาก
เลยเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงตัดสินใจเดินทางมาไทย เพื่อพบผู้บริหารของ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด และเจรจาขอเรียนรู้กรรมวิธีการผลิต
ต่อมาเขาได้สร้างโรงงานสำหรับผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไว ขึ้นในเนปาล ในปี พ.ศ. 2527
ปัจจุบัน เนปาล เป็นประเทศที่มีการบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มากเป็นอันดับ 4 ของโลก
โดยเฉลี่ยแล้ว คนเนปาล 1 คน กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 52.9 ซอง/ปี ใกล้เคียงกับคนไทย
และแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในเนปาลมากที่สุด คือ ไวไว
ซึ่งครองส่วนแบ่งมากกว่า 50%
เรื่องนี้จึงทำให้คุณ Binod Chaudhary กลายเป็นบุคคลที่รวยสุดในประเทศ นั่นเอง
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.