GDP ไตรมาสที่ 2 ของประเทศไทย ขยายตัว 7.5% ด้วยปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน และการส่งออกที่สูง

GDP ไตรมาสที่ 2 ของประเทศไทย ขยายตัว 7.5% ด้วยปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน และการส่งออกที่สูง

16 ส.ค. 2021
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานถึง ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2/2564 โดยขยายตัว 7.5%
(ในขณะที่ไตรมาสที่ 1/2564 ลดลง 2.6%)
ทั้งนี้ เป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในไตรมาสที่ 2/2563 ที่หดตัว 12.1% จากมาตรการของภาครัฐ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ระลอกแรก ที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
สำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้ ปัจจัยสำคัญมาจาก การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูงเป็นหลัก
-ด้านการผลิตภาคเกษตร ขยายตัว 2.0% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ที่ขยายตัว 1.3%
ผลผลิตในหมวดพืชที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว, ยางพารา, สับปะรด และมันสำปะหลัง
ขณะที่ผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ขยายตัว และผลผลิตประมงเพิ่มขึ้น
ด้านการผลิตนอกเกษตร ขยายตัว 8.1% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 3.0% ในไตรมาสที่ 1/2564
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
-ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 14.2% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 0.3% ในไตรมาสที่ 1/2564
การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัว 16.8% เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มสินค้าที่สำคัญ โดยเฉพาะสินค้าเพื่อการส่งออก
ทั้งนี้ เป็นผลจากฐานต่ำ ประกอบกับความต้องการใช้สินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศเริ่มกลับมาขยายตัว
-ภาคบริการ ขยายตัว 5.0% จากที่หดตัว 4.3% ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นการขยายตัวในทุกหมวดบริการ โดยสาขาการขายส่ง ขายปลีกฯ สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ขยายตัวต่อเนื่อง
ส่วนสาขาการก่อสร้าง และสาขากิจกรรมทางการเงินและประกันภัย ชะลอตัวลง
-ด้านการใช้จ่าย
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัว 4.6% จากปัจจัยฐานต่ำ
เทียบกับการลดลง 0.3% ในไตรมาสที่ 1/2564
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขยายตัว 1.1% ชะลอลง จากการขยายตัว 2.1% ในไตรมาสที่ 1/2564
-การลงทุนรวม ขยายตัว 8.1% จากปัจจัยฐานต่ำเช่นกัน
เทียบกับการขยายตัว 7.3% ในไตรมาส 1/2564
โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 9.2% ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัว 3.0%
ส่วนการลงทุนภาครัฐ เพิ่มขึ้น 5.6% ชะลอลงจาก 19.6% ในไตรมาสก่อนหน้า
-การส่งออกสินค้าและบริการ ขยายตัว 27.5% จากที่ลดลง 10.5% ในไตรมาส 1/2564
ส่วนการนำเข้าสินค้าและบริการ ขยายตัว 31.4% เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัว 1.7%
ดุลการค้าและบริการ ณ ราคาประจำปี ขาดดุล 16.5 พันล้านบาท
โดยดุลการค้าเกินดุล 304.6 พันล้านบาท และดุลบริการขาดดุล 321.1 พันล้านบาท
หลังปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2/2564 ขยายตัว 0.4% (QoQ SA)
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.