กรณีศึกษา รัฐบาลในแต่ละประเทศช่วยเหลือ Food Delivery และร้านอาหารอย่างไรช่วงโควิด 19

กรณีศึกษา รัฐบาลในแต่ละประเทศช่วยเหลือ Food Delivery และร้านอาหารอย่างไรช่วงโควิด 19

10 ก.ย. 2021
การระบาดของโควิด 19 ทำให้ร้านอาหารตั้งแต่ตึกแถวจนถึงในศูนย์การค้า
ต้องเผชิญกับความยากลำบากเมื่อภาครัฐบาลมีคำสั่ง งดการนั่งทานในร้าน
นั่นแปลว่า เกือบทุกร้านต้องหันมาพึ่งพา Food Delivery เป็นช่องทางหลัก
เรื่องนี้มันไม่ได้เกิดแค่ในประเทศไทยอย่างเดียว
แต่หลายๆ ประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 อยู่ในระยะอันตราย
รัฐบาลก็เลือกใช้นโยบาย งดทานอาหารในร้าน เช่นกัน
ทีนี้เมื่อร้านอาหาร ต้องพึ่งพา Food Delivery เป็นช่องทางหลักในการขาย
อีกทั้งการระบาดของโควิด 19 ได้ทำให้ประชาชนในแต่ละประเทศมีรายได้น้อยลง
ความน่าสนใจมันเลยมาอยู่ที่ว่า
ในแต่ละประเทศภาครัฐมีนโยบายเยียวยาเรื่องนี้อย่างไร ?
ขอเริ่มต้นที่ประเทศใกล้เคียงอย่าง สิงคโปร์ กันก่อน
หากใครติดตามข่าวจะรู้ว่า รัฐบาลสิงคโปร์ มีสารพัดนโยบายการยับยั้งการระบาดของโควิด 19
จนถึงการเยียวยาประชาชนในประเทศตัวเอง
และหนึ่งในนโยบายช่วยเหลือก็คือเมื่อร้านอาหารทั่วประเทศ
งดบริการนั่งทานในร้าน และให้ขายแบบซื้อกลับบ้านและ Delivery เท่านั้น
เรื่องนี้ทางภาครัฐน่าจะรู้ดีว่าคนที่บาดเจ็บมากที่สุดจากมาตรการนี้ก็คือเจ้าของร้านอาหาร ที่รายได้จะหดหายไปอย่างมาก
ทำให้ทางรัฐบาลสิงคโปร์ ต้องยื่นมือช่วยเหลือ
ด้วยการช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงานร้านอาหาร 50%
อธิบายให้เห็นภาพก็คือสมมติร้านอาหารต้องจ่ายค่าจ้างพนักงาน 2,000 SGD ต่อเดือน
รัฐบาลจะช่วยแบ่งเบา 50% หรือ 1,000 SGD ต่อเดือน นั่นเอง
โดยนโยบายนี้ได้เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
ส่วนจะมีการขยายเวลาต่อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อว่าน้อยลงเป็นที่พอใจหรือยัง
ขณะเดียวกันก็มีการยกเว้นค่าเช่าหนึ่งเดือนสำหรับร้านอาหารที่อยู่ในพื้นที่ของรัฐบาล เช่น ร้านอาหารที่อยู่ในทำเลหน่วยงานราชการ
สุดท้ายหากร้านอาหารไหนเข้าร่วม Food Delivery Booster Package
ทางภาครัฐก็จะเป็นคนออกค่าส่วนต่าง GP ให้ทั้งหมดเลย
ตรงนี้ถือเป็นการสร้างประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่ายที่จะมีค่าใช้จ่ายน้อยลง
ไม่ว่าจะเป็นประชาชน,เจ้าของร้านอาหารและ App Food Delivery
ส่วนอีกประเทศที่ไม่ไกลจากเราก็คือ ไต้หวัน เมื่อตัวแทนร้านอาหารกลางคืน ได้ขอความช่วยเหลือทางภาครัฐให้ช่วยเหลือลดค่า GP หรือค่าคอมมิชชันที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้กับ App Food Delivery
แล้วทางภาครัฐเองก็ขานรับด้วยการร่างมาตรการช่วยเหลือ
ลดค่า GP ที่ร้านอาหารต้องจ่ายให้แก่บรรดา App Food Delivery
จากอัตราเดิมค่า GP อยู่ที่ 30-40% ให้ลดลงครึ่งหนึ่งหรือเหลืออยู่ที่ 15-20%
โดยส่วนต่างที่เหลือ ทางภาครัฐจะเป็นคนจ่ายให้แก่บรรดา Food Delivery
ส่วนในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีมาตรการช่วยเหลือเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น ริชมอนด์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐเวอร์จิเนีย
ทางรัฐบาลท้องถิ่นได้อนุมัติเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 120,000 ดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อนำมาใช้ลดค่า GP ที่บรรดา Food Delivery เรียกเก็บเงินจากร้านอาหารจากเดิม 20% ให้เหลือแค่ 7% นาน 3 เดือน
ส่วนประเทศแคนาดานั้น ก็มีมาตรการช่วยเหลือน่าสนใจเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น รัฐออนแทรีโอ ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศแคนาดา
ที่นอกจากภาครัฐจะกระตุ้นให้ประชาชนอุดหนุนร้านอาหารในท้องถิ่นตัวเองช่วงการระบาดของโควิด 19 ผ่านช่องทาง Delivery แล้วนั้น
ทางภาครัฐท้องถิ่นก็ยังใช้งบประมาณกว่า 300 ล้านดอลลาร์
มาช่วยเหลือลดต้นทุน Fixed Cost ของธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจอื่น ๆ
เช่น ลดภาษี ลดค่าน้ำ และค่าเชื้อเพลิง ในช่วงการระบาดของโควิด 19
กลับมาที่ในบ้านเรา สถานการณ์ก็ไม่ได้แตกต่างกัน เมื่อการระบาดของโควิด 19
ทางภาครัฐก็ได้มีมาตรการให้ร้านอาหารทั่วประเทศ งดบริการนั่งทานในร้าน
ให้ขายเฉพาะซื้อกลับบ้านและผ่านแบบ Delivery เท่านั้น
จะต่างกันตรงที่ในบ้านเราทางภาครัฐ ไม่ได้มีงบประมาณช่วยเหลือในเรื่องนี้
เพียงแต่ขอความร่วมมือให้บรรดา Food Delivery รายใหญ่
ลดค่า GP 5% ในช่วงเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา
โดย Food Delivery แต่ละรายก็มีเงื่อนไขแตกต่างกันออกไป
ซึ่งตรงนี้อาจแก้ปัญหาไม่ได้ครอบคลุม และตรงจุดเท่าที่ควรนัก
เมื่อ ณ วันนี้ ทุก App Food Delivery รายใหญ่ต่างอยู่ในภาวะขาดทุนกันหมด
การให้ลดค่า GP แก่ร้านอาหาร ก็เหมือนถูกบังคับให้ขาดทุนเพิ่มขึ้นไปอีก
และรับภาระแทนภาครัฐในการเยียวยาประชาชน
โดยที่รัฐยังคงไม่มีมาตรการใดๆ มาช่วยธุรกิจ Food Delivery ทั้งสิ้น
เพราะนั้นคำสั่งให้แพลตฟอร์มลดค่า GP อาจส่งผลให้ทุกส่วนใน ecosystem
ได้รับผลกระทบไปหมด เช่น ผู้บริโภคต้องแบกรับค่าส่งที่เพิ่มขึ้น
หรือไรเดอร์ได้รับค่ารอบที่ลดลง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับทุกคนในระยะยาวแน่นอน
ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับว่าแต่ละร้านอาหารก็มีเงินทุนและต้นทุนที่ต่างกันออกไป
การลดค่า GP 5% อาจไม่เพียงพอต่อร้านอาหารที่มีเงินทุนน้อย
ยกตัวอย่างผู้ประกอบการ Food Delivery ในบ้านเราบางเจ้า
ก็มีการแบ่งเป็นสองโมเดลเดลิเวอรีให้ร้านค้าเลือกทั้งแบบ GP (เก็บค่าคอมมิชชันร้านอาหาร โดยร้านจะได้ค่าส่งฟรีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ)
และ Non-GP (ร้านอาหารไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชัน มีค่าส่งตามระยะทางจริง)
เป็นการเปิดโอกาสและสร้างทางเลือก
ให้กับคนทำร้านอาหารไม่ว่าจะเป็นสตรีทฟู้ด หรือร้านเชนใหญ่ๆ
ให้สามารถเข้าถึงบริการฟู้ดเดลิเวอรีได้ตามความเหมาะสม
และความต้องการจริงๆ ของแต่ละร้าน
แต่ไม่ใช่ทุกแพลตฟอร์มที่มีโมเดลเดลิเวอรีให้เลือกตามความสมัครใจ
ส่วนใหญ่แล้วร้านอาหารจะต้องจ่ายค่า GP เพื่อขายอาหารบนแพลตฟอร์มต่างๆ
พอเป็นแบบนี้ สิ่งที่ร้านอาหารและบรรดา Food Delivery อยากจะให้มันเกิดขึ้น
ก็คือรัฐบาลออกมาสนับสนุนค่า GP ในช่วงการระบาดของโควิด 19
เพื่อไม่ให้บรรดา Food Delivery ขาดทุนไปมากกว่านี้
ส่วนร้านอาหารก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
อย่าลืมว่า ร้านอาหารคือธุรกิจที่เป็นอีกหนึ่งลมหายใจของเศรษฐกิจไทย
ส่วน Food Delivery ก็คือลมหายใจของธุรกิจร้านอาหารในช่วงการระบาดของโควิด 19
เมื่อสองธุรกิจสอดรับและต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน ที่สำคัญยังเกี่ยวข้องกับคนทั่วประเทศ
ภาครัฐเองก็ควรจะยื่นมือช่วยเหลือ 2 ธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
แต่ความจริง ณ วันนี้ ก็คือทั้งร้านอาหารและ Food Delivery
ก็มีชะตากรรมเดียวกันกับธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจภาคการท่องเที่ยว สายการบิน และโรงแรม
ที่ต่างก็รอความช่วยเหลือให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่
ซึ่งเรื่องนี้ก็คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.