จากพนักงานขายปากกา PARKER สู่ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ LAMY - MarketThink

จากพนักงานขายปากกา PARKER สู่ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ LAMY - MarketThink

18 ก.ย. 2021
ด้วยภาพลักษณ์ของ LAMY (ลามี่) ที่ดูมีความทันสมัย บวกขี้เล่นนิด ๆ ​
แถมยังเป็นที่นิยมในหมู่ศิลปิน นักออกแบบ
อาจทำให้บางคนเข้าใจผิด หลงคิดว่า LAMY
เป็นแบรนด์เครื่องเขียนน้องใหม่ ที่เพิ่งแจ้งเกิดได้ไม่กี่ปี
ทั้งที่จริงแล้ว ถ้าไปดูโปรไฟล์ของแบรนด์​ จะพบว่า ​LAMY เป็นแบรนด์เครื่องเขียนวัยเก๋าจากเยอรมนี​
ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำ
แล้วอะไรทำให้ LAMY เป็นแบรนด์ที่ยังดูวัยรุ่น แถมยังเป็นขวัญใจกลุ่มศิลปิน นักออกแบบ​ ?
ก่อนจะเฉลยคำตอบ ขอเชิญทุกคนนั่งไทม์แมชชีน ย้อนเวลากลับไปเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน
เพื่อไปทำความรู้จักกับชายหนุ่มที่ชื่อว่า Josef Lamy ซึ่งเป็นผู้แจ้งเกิดแบรนด์ ​LAMY
คุณ Josef เริ่มต้นจากการทำงานเป็นผู้จัดการสาขาและผู้จัดการส่งออก ให้กับ PARKER (ปาร์คเกอร์) ประจำประเทศเยอรมนี
ซึ่ง PARKER เป็นแบรนด์ปากกาสัญชาติอเมริกัน ที่คนทั่วโลกคุ้นหูเป็นอย่างดี
ด้วยใจรักบวกกับประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในวงการ ทำให้คุณ Josef เกิดไอเดียว่า แทนที่จะนำเข้าปากกาจากสหรัฐอเมริกามาขายในเยอรมนี ซึ่งมีต้นทุนสูง ทำให้ต้องขายแพง
ไม่สู้ตั้งบริษัทผลิตปากกาในเยอรมนี แล้วขายให้คนในประเทศได้ใช้ดีกว่า
จากแรงบันดาลใจดังกล่าว ทำให้ในปี 1930 คุณ Josef ตัดสินใจตั้ง​บริษัท Orthos Füllfederhalter-Fabrik ที่เมืองไฮเดลเบิร์ก เพื่อผลิตปากกาหมึกซึม
​โดยปากกาหมึกซึมรุ่นแรก ๆ ที่ผลิตออกมายังไม่ได้ใช้ชื่อแบรนด์ว่า ​LAMY แต่ใช้ชื่อว่า ORTHOS และ ARTUS
ด้วยคุณภาพของปากกาหมึกซึมที่ผลิตออกมาอย่างดี บวกกับราคาที่สบายกระเป๋ากว่าปากกาหมึกซึมที่ต้องนำเข้า
ทำให้ธุรกิจของคุณ Josef ไปได้สวย สามารถเจาะตลาดได้อย่างรวดเร็ว มียอดขายปีละมากกว่า 2 แสนด้าม
จนกระทั่งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้นในปี 1939 ด้วยพิษของสงคราม ทำให้หลายธุรกิจในเยอรมนีได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจปากกา
แต่เพราะหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ คุณ Josef จึงอดทนรอช่วงเวลาฟ้าหลังฝน จนกระทั่งในปี 1952 คุณ Josef ก็กลับสู่วงการอีกครั้ง
การกลับมาครั้งนี้ต้องไม่ธรรมดา นอกจากจะเปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่ ด้วยการนำนามสกุลของตัวเอง มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ว่า “LAMY” ​​
ยังเปิดตัวสินค้าใหม่อย่าง “ปากกาหมึกซึม รุ่น LAMY 27” ที่มาพร้อมนวัตกรรม Tintomatik ทำให้ปากกาหมึกซึมเขียนได้ลื่นและหมึกไม่ขาด ซึ่งเป็นการแก้ Pain Point ของลูกค้าอย่างตรงจุด ทำให้ได้รับกระแสตอบรับอย่างดี
หลังจากนั้น เขายังเปิดตัวปากกาลูกลื่น ที่มีการเติมฟังก์ชันและใช้การออกแบบ ที่ฉีกกรอบปากกาลูกลื่นแบบเดิม ๆ ทำให้ LAMY ยิ่งเป็นแบรนด์เครื่องเขียนดาวรุ่งที่น่าจับตามอง
อย่างไรก็ตาม แม้คุณ Josef จะปูทางแจ้งเกิดให้แบรนด์ LAMY ไม่น้อย
แต่ถ้าถามว่า ใครคือผู้ที่จุดพลุให้ LAMY ครองใจคนทั้งโลก ก็ต้องยกให้เป็นผลงานของคลื่นลูกหลัง อย่างลูกชายนามว่า Manfred Lamy ที่เข้ามาช่วยดูเรื่องการตลาด ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่ของแบรนด์
โดยผลงานชิ้นโบแดงของ คุณ Manfred คือ LAMY 2000 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 1966
ซึ่งจุดเด่นของ LAMY 2000 คือ ดีไซน์ที่เน้นเรื่องของประโยชน์ใช้สอย ผสานกับดีไซน์ที่มีความมินิมัลตามสไตล์เบาเฮาส์ (Bauhaus) ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนศิลปะและการออกแบบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก พร้อมสร้างมิติใหม่ให้วงการปากกาหมึกซึม ด้วยการผสมผสานวัสดุที่ไม่น่าจะโคจรมาเจอกันได้อย่าง โลหะและโพลีคาร์บอเนตมาไว้ในปากกาด้ามเดียว
แต่ความสำเร็จครั้งนั้น ไม่ได้ทำให้ LAMY อยู่กับที่ เพราะแบรนด์ยังมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ จนกลายเป็นความสำเร็จอีกครั้ง ในปี 1980 กับผลงานที่ชื่อ LAMY Safari
ซึ่งแค่เห็นชื่อรุ่น บางคนอาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าบอกว่า ปากกาที่มีด้ามหลากสี พร้อมกับซิกเนเชอร์คือ Pocket Clip สำหรับเหน็บกระเป๋าเสื้อ หนังสือ ไปจนถึงสมุดโน้ตคู่ใจ หลายคนต้องร้องอ๋อ
เพราะจนถึงวันนี้ ปากการุ่นนี้ก็ยังครองความนิยมตลอดกาล โดยมีการต่อยอดสี และการออกแบบลวดลายให้น่าใช้ขึ้น
ซึ่งหากย้อนไปวันนั้น ก่อนที่จะมีการเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน Frankfurt Fair ก็คงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ปากการุ่นนี้จะขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในปากกาหมึกซึมที่ขายดีสุดในโลก
ที่สำคัญยังเป็นใบเบิกทางให้ LAMY เข้าไปนั่งในใจลูกค้าที่เป็นวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีอายุ 10-15 ปี
แต่ถ้าวัดจากความทุ่มเทของทีมงาน ที่อาศัยทั้งหลักจิตวิทยามาผสานกับศิลปะการออกแบบอย่างลงตัว ทำให้กลายเป็นผลงานปากกาหมึกซึม ที่ไม่ได้มีดีแค่ฟังก์ชัน แต่ด้วยดีไซน์สุดจี๊ด ที่ไม่ใช่แค่เตะตา
แต่สีสันอันหลากหลาย ยังช่วยบ่งบอกตัวตนหรือความรู้สึกของผู้ใช้
นี่ยังไม่รวมเทคนิคการทำตลาด ที่ทำให้แม้จะเป็นแบรนด์เครื่องเขียน แต่ก็ไม่น่าเบื่อ
เพราะสามารถสร้าง “Wow Experience” ให้กับลูกค้าอยู่เสมอ ด้วยการออกรุ่น Limited Edition ที่มีทั้งสีพิเศษ หรือการไปจับมือกับแบรนด์หรือแครักเตอร์ดัง ๆ อย่าง Star Wars, Line Brown, Minions และอีกมากมาย
ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความแปลกใหม่ให้สินค้า ยังเป็นการขยายฐานแฟนคลับของแบรนด์ไปในตัว
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงพอเห็นภาพแล้วว่า ทำไม LAMY ถึงเป็นแบรนด์เครื่องเขียนที่ครองใจคนทั้งโลก
ซึ่งอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ทำให้ LAMY เป็นแบรนด์เครื่องเขียนที่ยืนหนึ่งไม่เสื่อมคลาย มาจากการรักษามาตรฐานที่ไม่เคยเปลี่ยน
โดยรู้หรือไม่ว่า 95% ของกระบวนการผลิตเกือบทุกขั้นตอนของ LAMY ยังอยู่ที่ฐานการผลิตหลักที่เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมนี
เช่นเดียวกับวัสดุเกือบทุกอย่างที่ใช้ในการทำปากกา ก็ยังคงผลิตเองเกือบทั้งหมด
เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกฟันเฟืองเล็ก ๆ ได้มาตรฐานของแบรนด์
และแม้จะผลิตสินค้าออกมาเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็ต้องผ่านด่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้น
นอกจากจะมีระบบอัตโนมัติที่ช่วยคิวซีแล้ว สินค้าทุกชิ้นยังต้องผ่านตาทีมงานที่เป็นมนุษย์ เพื่อให้แน่ใจว่าสี ความเงา ตลอดจนการใช้งานของเครื่องเขียนที่ผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 8 ล้านชิ้นต่อปี สมบูรณ์ไร้ที่ติ
ปัจจุบัน Lamy มีผลิตภัณฑ์เครื่องเขียน ที่ครอบคลุม ตั้งแต่ปากกาลูกลื่น ปากกาหมึกซึม ปากกาโรลเลอร์บอล ดินสอกด ​และปากกาดิจิทัล ที่ใช้กับแท็บเล็ต สมาร์ตโฟน และโน้ตบุ๊ก
รวมถึงอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ เช่น หมึกเติม ไส้ดินสอ เคสใส่ปากกา
ซึ่งก็ถือว่าเป็นการต่อยอดจุดแข็งของแบรนด์ พร้อมปรับตัวของแบรนด์ไม่ให้ถูกดิสรัปต์ไปตามกาลเวลา
มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไม LAMY ถึงเป็นปากกาขวัญใจนักออกแบบ
เรื่องนี้อาจเป็นเพราะ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่ ทำให้ปากกากลายเป็นสิ่งที่อาจจะไม่จำเป็นสำหรับคนบางกลุ่ม
แต่สำหรับในหมู่นักออกแบบ การถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ผ่านการสเกตช์ด้วยมือบนกระดาษจริง อาจจะยังเป็นสิ่งที่แทนที่ได้ยาก อารมณ์เหมือนคนที่ยังรักในการอ่านหนังสือเป็นเล่มมากกว่า การอ่าน E-Book
ดังนั้นปากกาที่มีคุณภาพ เขียนได้แบบไหลลื่น ไม่ทำให้ความคิดสะดุด
แถมยังมาพร้อมดีไซน์ที่น้อยแต่มาก ก็น่าจะช่วยสะท้อนตัวตน และความเป็นศิลปินได้เป็นอย่างดี
เลยทำให้ ถ้าต้องเลือกปากกาคู่ใจสักด้าม LAMY จึงเป็นตัวเลือกต้น ๆ
ซึ่งก็น่าคิดว่า ในยุคที่หลายคนอาจจะต้องคิดหนัก ถ้าเจอกับคำถามว่า ซื้อปากกาครั้งสุดท้ายเมื่อไร ?
แต่ LAMY กลับสามารถต่อยอดธุรกิจให้เป็นมากกว่าแบรนด์ปากกา
จนปัจจุบันมีสาขาอยู่มากกว่า 200 แห่งใน 80 ประเทศ..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.