“นกแก้ว” สบู่หอมแบรนด์ไทย สารพัดประโยชน์ ที่ก่อตั้งโดยฝรั่ง

“นกแก้ว” สบู่หอมแบรนด์ไทย สารพัดประโยชน์ ที่ก่อตั้งโดยฝรั่ง

2 ต.ค. 2021
ในวันที่เราเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วมักเกิดอาการรักพี่เสียดายน้อง เลือกไม่ถูกว่าจะซื้อครีมอาบน้ำหรือสบู่ก้อนกลิ่นไหนติดมือกลับบ้านดี
แต่ถ้าย้อนไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว อย่าว่าแต่จะหาตัวเลือก แค่จะหาสบู่อาบน้ำยังยาก
จนกระทั่งเมื่อ 74 ปีก่อน แบรนด์สบู่คนไทยอย่าง “สบู่พฤกษานกแก้ว” หรือที่คนไทยติดปากว่าสบู่นกแก้ว
ได้ถือกำเนิดขึ้น และกลายเป็นสินค้ายอดนิยมมากว่า 70 ปี
ต่อให้จะปันใจไปใช้สบู่หรือครีมอาบน้ำแบรนด์อื่น แต่ด้วยอานุภาพความหอมที่ไม่เป็นสองรองใคร
ทำให้บางคนเลือกใช้สบู่นกแก้วเป็นตัวช่วยเพิ่มความหอมตามจุดต่าง ๆ ในบ้าน
แล้วสบู่นกแก้วมีที่มาอย่างไร
ทำไมใครได้ลองใช้เป็นต้องติดใจ ?
เส้นทางของสบู่นกแก้ว ตั้งต้นจากคุณวอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์ ผู้จัดการห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์โก ที่โด่งดังในเรื่องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในไทย
ครั้งหนึ่งคุณไมเยอร์ ได้พบกับคุณฮายน์ริช ซีเกอร์ นักธุรกิจชาวเยอรมัน ที่เดินทางมาดูงานในประเทศไทยพอดี
หลังจากเจรจาธุรกิจกัน ทั้งคู่เกิดเห็นพ้องต้องกันว่า เมืองไทยในเวลานั้น ยังไม่มีแบรนด์สบู่หอมของไทย แถมสบู่ที่นำเข้ามา แม้จะมีคุณสมบัติครบจบในก้อนเดียว ใช้ได้ตั้งแต่อาบน้ำ สระผม ซักผ้า ล้างจาน
แต่ก็ไม่ได้ดีต่อผิว แถมฟอกแล้วไม่มีกลิ่นหอมติดตัว
พอเป็นอย่างนี้ ทั้งคู่เลยตัดสินใจเปิดบริษัท รูเบียอุตสาหกรรม จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2490
ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจ ยังไม่มีการนำเข้าเครื่องจักร อาศัยคนงานไม่ถึง 20 คน ผลิตสบู่แต่ละก้อนด้วยมือ
โดยใช้หัวน้ำหอมนำเข้าจากฝรั่งเศสผสมกับส่วนผสมจากธรรมชาติ ทำให้สบู่มีกลิ่นหอมตลบอบอวลไปทั่วซอยสุขุมวิท 42 ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งแรกของโรงงาน จนตอนหลังหลายคนเรียกติดปากว่า ซอยรูเบีย
ความหอมที่ปิดไว้ไม่อยู่นี้ กลายเป็นแต้มต่อให้กับแบรนด์สบู่เล็ก ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ
เพราะยังไม่ทันเสียเงินโฆษณาสักบาท แค่ได้กลิ่นหอมฟุ้ง ก็ทำเอาคนแถวนั้นอยากรู้และอยากลอง
เมื่อบวกกับกรรมวิธีการผลิตอันเป็นความลับสุดยอด ทำให้เนื้อสบู่แข็งแน่น ใช้ไปแล้วไม่แตกหักง่าย และราคาที่เอื้อมถึง ทำให้สบู่นกแก้วแจ้งเกิดและเข้าไปนั่งในใจคนไทยได้อย่างรวดเร็ว
โดยเหตุผลที่เลือกตั้งชื่อว่า “นกแก้ว” ก็ไม่ใช่แค่เพราะ เป็นชื่อที่เรียกง่าย จำง่าย ตามสไตล์การตั้งชื่อแบรนด์ในอดีต ที่นิยมนำชื่อสัตว์มาตั้งเป็นชื่อและใช้เป็นโลโกแบรนด์
แต่ชื่อ “นกแก้ว” มาจากงานอดิเรกของคุณไมเยอร์ ที่ชอบเดินป่า และประทับใจความสวยงามของนกแก้วไทย
จนเป็นที่มาของการออกแบบกลิ่นของสบู่ให้หอมแบบกลิ่นของพฤกษาและดอกไม้ป่านานาพันธุ์นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่เส้นทางการเติบโตของสบู่นกแก้วกำลังไปได้สวย ก็มีอันต้องสะดุดเข้าอย่างจัง
เมื่อตลาดสบู่หอมเริ่มหอมหวาน จึงมีแบรนด์ไทยและแบรนด์นอกอย่างสบู่ลักส์ (ยูนิลีเวอร์) และสบู่ปาล์มโอลีฟ (คอลเกต) เข้ามาชิงส่วนแบ่งการตลาด
บวกกับยุคนั้น ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2530 กระแสนิยมของแบรนด์นอกมาแรง ทำให้สบู่แบรนด์ไทยเริ่มไม่เป็นที่นิยม
จนกระทั่งเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 กระแสกินของไทย ใช้ของไทยมาแรง
ทำให้สบู่นกแก้วพลิกเกมกลับมาครองใจคนไทยได้อีกครั้ง
ด้วยการออกโฆษณาที่โหนกระแสเรื่องใช้ของไทยไม่พอ ยังแตกแบรนด์ใหม่อย่าง Parrot Gold
ที่ปรับลุกให้พรีเมียมขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มผู้หญิงที่ใส่ใจกับเรื่องความสวยความงามมากขึ้น
นอกจากจะเติมมอยส์เจอไรเซอร์ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติถนอมผิว ยังเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์มาอยู่ในกล่องกระดาษ
และอัปเลเวลมาสู่ “ครีมอาบน้ำ” ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมในยุคนั้น
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะรู้ดีว่า หากต้องการยืนหยัดท่ามกลางสมรภูมิสบู่ที่ไม่ต่างกับ Red Ocean หรือน่านน้ำสีเลือด แบรนด์จะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้
ในปี พ.ศ. 2554 ทางแบรนด์ยังได้เปิดตัวสบู่ก้อนและครีมอาบน้ำในกลุ่มสุขภาพ ภายใต้ชื่อ Parrot Natural Guard ตามด้วย Parrot Herbal เพื่อรองรับตลาดสบู่สมุนไพรที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
แต่ในส่วนของสบู่นกแก้ว หรือที่บางคนเรียกว่า สบู่ก้อนเขียว ยังคงยืนหยัดด้วยจุดแข็งเรื่องความหอม
รวมทั้งแพ็กเกจจิงที่เป็นกระดาษห่อ ที่ทำให้สบู่ส่งกลิ่นหอมออกมาง่ายกว่า
แต่แล้ว เมื่อเทรนด์โลกเปลี่ยน ก็ถึงเวลาต้องปรับตัวครั้งใหญ่
เพื่อให้สบู่นกแก้วตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีและหลากหลายยิ่งขึ้น
ในโอกาสครบรอบ 70 ปี สบู่นกแก้วได้แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ออกมาเพิ่ม จนมีถึง 8 กลิ่น
ได้แก่ กลิ่นพฤกษานานาพรรณ (กลิ่นออริจินัล), กลิ่นมะลิ, กลิ่นกุหลาบ, กลิ่นบุปผชาติ, กลิ่นไม้หอม, กลิ่นลีลาวดี, กลิ่นกล้วยไม้ป่า และคลาสสิค คูล โดยแต่ละกลิ่นจะใช้สีกระดาษห่อที่แตกต่างกัน
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่า แล้วสบู่นกแก้วที่คุ้นหูมาตั้งแต่เด็ก ขายดีขนาดไหน
ผลประกอบการบริษัท รูเบียอุตสาหกรรม จำกัด
ปี 2561 ยอดขาย 1,838 ล้านบาท กำไร 269 ล้านบาท
ปี 2562 ยอดขาย 2,042 ล้านบาท กำไร 263 ล้านบาท
ปี 2563 ยอดขาย 2,343 ล้านบาท กำไร 343 ล้านบาท
เห็นรายได้พันล้านแล้ว อย่าเพิ่งตกใจว่า สบู่ก้อนหลักสิบทำไมมีรายได้มหาศาล
ต้องบอกก่อนว่า บริษัท รูเบียอุตสาหกรรม จำกัด เป็นบริษัทย่อยในเครือของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC
รายได้ที่เห็นเป็นรายได้รวมของอีกหลายแบรนด์ที่อยู่ใต้ชายคาของบริษัท รูเบียอุตสาหกรรม
ไม่ว่าจะเป็น สบู่เดทตอล, ยาสีฟันสปาร์คเคิล รวมถึงลูกอมซูกัส ฯลฯ
แต่ถ้าประเมินจากบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารของ BJC ที่เคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์เส้นทางเศรษฐีว่า ยอดขาย “นกแก้ว” ทุกเวอร์ชันต่อปีนั้น ขึ้นหลักพันล้านบาท จึงถือเป็น “พระเอก” ในหมวดสินค้าอุปโภคของ BJC ก็ว่าได้
จึงพอตีความได้ว่า สบู่นกแก้วมีกลยุทธ์การทำตลาดที่ถูกทาง จนทำให้มียอดขายถล่มทลาย
และเชื่อว่าถ้าสบู่นกแก้ว ยังยืนหยัดด้วยวิสัยทัศน์ ที่ไม่ทิ้งจุดแข็ง พร้อมปรับตัวไปตามเทรนด์ผู้บริโภคแบบนี้
ต่อให้ในอนาคตข้างหน้า โลกของสบู่จะพลิกโฉมไปอย่างไร
กลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของนกแก้ว ก็ยังคงอบอวลไม่เสื่อมคลาย
เพียงแต่ เมื่อถึงเวลานั้น เราอาจจะต้องมาเดาว่า กลิ่นที่คุ้นเคยนี้จะปรากฏตัวในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลน่าสนใจ รู้หรือไม่ว่า คำว่า สบู่นั้นเพี้ยนมาจากคำว่า “โซปปุ”
ซึ่งเป็นคำที่ชาวญี่ปุ่นออกเสียงคำว่า Soap ที่แปลว่า สบู่
อ้างอิง :
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-https://www.parrotnatural.com/th/parrot-secret.html
-https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_95357
-https://readthecloud.co/brand-6/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.