Vans แบรนด์รองเท้าสุดคลาสสิก ที่ผู้ก่อตั้งเคยเป็นคนกวาดพื้นในโรงงานรองเท้า

Vans แบรนด์รองเท้าสุดคลาสสิก ที่ผู้ก่อตั้งเคยเป็นคนกวาดพื้นในโรงงานรองเท้า

12 ต.ค. 2021
กระแสความฮิตของซีรีส์ดังอันดับหนึ่งของ Netflix อย่าง Squid Game
ไม่ได้แจ้งเกิดแค่ทีมนักแสดงเท่านั้น แต่ยังทำให้หลายไอเทมที่อยู่ในซีรีส์ฮอตจนขาดตลาด
นอกจากชุดเสื้อ-กางเกงสีเขียว และจัมป์ซูตสีแดงแบบเดียวกับตัวละคร
แต่รองเท้า Vans Slip-On สีขาว ที่บางคนดูแล้วว่ามีความคล้ายกับที่ตัวละครในเรื่องใส่ ก็ยังฮิตตามไปด้วย
งานนี้ฮิตขนาดไหน การันตีจากยอดขายของ Sole Supplier เว็บไซต์สนีกเกอร์จากอังกฤษ
ที่ออกมาระบุว่า ยอดขายรองเท้าผ้าใบสีขาวของแบรนด์ Vans เพิ่มสูงขึ้นถึง 7,800% นับตั้งแต่ซีรีส์ออนแอร์..
เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์จากซีรีส์ ที่ปลุกกระแสให้แบรนด์ได้เป็นอย่างดี
จากเดิมที่ Vans ซึ่งเป็นแบรนด์รองเท้าสุดคลาสสิกจากสหรัฐอเมริกา ครองใจแฟนคลับอยู่แล้ว ก็ยิ่งมีฐานแฟนเพิ่มขึ้น
จนชวนให้อยากรู้ว่าเบื้องหลังของแบรนด์รองเท้า ซึ่งแจ้งเกิดจากแบรนด์รองเท้าขวัญใจคนเล่นสเกต มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงฮิตขนาดนี้
ต้องบอกว่า เส้นทางของแบรนด์ Vans ชวนให้เซอร์ไพรส์ตั้งแต่ผู้ก่อตั้ง คือ คุณ Paul Van Doren
ซึ่งออกจากโรงเรียนตั้งแต่เกรด 8 หรือ พูดง่าย ๆ ยังไม่ทันจบมัธยมด้วยซ้ำ
เหตุผลไม่ใช่เพราะบ้านจน ไม่มีเงินส่งไปเรียน แต่เพราะคุณ Van Doren ไม่ชอบเรียนหนังสือ เลยตัดสินใจลาออกดีกว่า
แต่แทนที่ลาออกมาแล้ว จะมาทำงาน ด้วยความที่ชอบกีฬาม้าแข่ง คุณ Van Doren เลยไปฝังตัวอยู่แต่สนามม้าทุกวันตั้งแต่อายุ 14 ปี
พอเห็นลูกชายไม่เป็นโล้เป็นพายแบบนี้ ในฐานะคนเป็นแม่ก็อดรนทนไม่ได้
เลยยื่นคำขาดให้ไปทำงานที่โรงงานรองเท้า Randy's ซึ่งเธอทำงานเป็นช่างตัดเย็บอยู่
โดยให้ลูกชายมาทำงานเป็นคนกวาดพื้นในโรงงาน
ใครจะคิดว่า เส้นทางชีวิตที่เริ่มต้นแบบไม่สวยงามนัก กลายเป็นว่าผ่านไป 20 ปี เขาสามารถไต่เต้าจนกลายเป็นรองประธานของโรงงาน ซึ่งจัดว่าเป็นผู้ผลิตรองเท้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว
(เป็นรองแค่ Converse และ Keds)
หลังจากเก็บเกี่ยวประสบการณ์มานานปี คุณ Van Doren คิดการใหญ่ว่า เขาไม่ต้องการเป็นลูกจ้างไปตลอดชีวิต แต่อยากเป็นเจ้าของโรงงานและร้านรองเท้า
เพราะด้วยความที่คลุกคลีในวงการรองเท้ามานาน​
เขารู้ดีว่าเม็ดเงินมหาศาลของอุตสาหกรรมนี้อยู่ตรงไหน แน่นอนว่า ไม่ได้อยู่ที่โรงงานผลิต แต่อยู่ที่ร้านซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างผู้ผลิตกับคนซื้อ
แน่นอนว่า เส้นทางพิชิตฝันครั้งนี้ใหญ่เกินกว่าจะทำให้เป็นจริงได้เพียงลำพัง
เขาเลยไปชักชวนน้องชายและเพื่อนอีก 2 คน ที่มีความชำนาญคนละด้าน มารวมพลังกันก่อตั้ง Van Doren Rubber Company ขึ้น
ซึ่งใช้เวลาเตรียมการอยู่ร่วมปี โรงงานและร้าน Vans ก็พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ 1966
โดยจุดเด่นของโรงงาน Van Doren Rubber Company คือ เป็นโรงงานผลิตรองเท้าแห่งที่ 4 ในสหรัฐอเมริกา ที่เลือกใช้ยางดิบผสมผงกำมะถัน (Vulcanised Rubber) เป็นวัตถุดิบในการผลิตรองเท้า เช่นเดียวกับ Randy's, Keds และ Converse นั่นเอง
ในส่วนของหน้าร้าน อาจเพราะขาดประสบการณ์ในการบริหารหน้าร้าน เลยทำให้แค่เปิดร้านวันแรก ก็มีเรื่องวุ่น ๆ ให้ต้องสะสาง
อาจเพราะขาดประสบการณ์ เคยแต่ทำรองเท้า แต่ไม่เคยขายรองเท้าเองมาก่อน บวกกับรีบร้อนอยากเปิดร้าน ทั้งที่สต็อกไม่พร้อม
เลยทำให้ลูกค้าที่เข้ามาประเดิมซื้อรองเท้าที่ร้าน Vans วันแรก อาจจะผิดหวังเล็ก ๆ เพราะไม่ได้สินค้ากลับไปทันที
ยกเว้นถ้าใครมาตอนเช้า ก็อาจจะโชคดีหน่อย บ่ายสามารถมารับของ แต่ถ้ามาบ่าย ก็อาจจะต้องอดใจรอ เพื่อมารับรองเท้าวันรุ่งขึ้นแทน
แม้จะดูตะกุกตะกักไปบ้าง แต่ที่น่าสนใจ คือ ด้วยความที่ Vans เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ขายเอง แถมร้านและโรงงานทำรองเท้ายังอยู่ที่เดียวกัน
ทำให้ Vans สามารถนำเสนอบริการที่ไม่เหมือนใคร นั่นคือ รับทำรองเท้าแบบ Custom-Made ตามออร์เดอร์ลูกค้าได้
ซึ่งที่มาของไอเดียนี้ ก็มาจากลูกค้าผู้หญิงที่เข้ามาเลือกรองเท้าที่ร้าน แล้วเจอสีที่ชอบก็จริง แต่ไม่ใช่โทนสีที่ถูกใจเสียที หรือพูดง่าย ๆ คือ เจอรองเท้าสีชมพู แต่อยากได้ชมพูอีกเฉด
คุณ Van Doren เลยแก้เกมด้วยการยื่นข้อเสนอให้ลูกค้า นำผ้าสีที่ถูกใจมา แล้วจะตัดเย็บรองเท้าให้
เพียงแต่อาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มเล็กน้อย
จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการแก้ปัญหาให้ลูกค้านี้เอง ทำให้รองเท้า Vans เริ่มมีลูกค้าขาจรไม่พอ
ยังมีฐานลูกค้าเป็นกลุ่มเชียร์ลีดเดอร์มาสั่งทำรองเท้า ที่มีลวดลายและสีสันเข้ากับชุดที่สวมใส่ได้อีกด้วย
มาถึงตรงนี้ ถ้าถามว่า แล้วร้าน Vans เติบโตเร็วแค่ไหน
ต้องบอกว่า เปิดได้ 10 สัปดาห์ หรือ 2 เดือนนิด ๆ ก็ขยายไป 10 สาขา และเพียงแค่ปีครึ่ง ก็มีถึง 50 สาขา
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมต้องขยันขยายสาขาขนาดนี้
คำตอบ ก็เพราะคุณ Van Doren คิดตามหลัก Economy of Scale หรือ การผลิตครั้งละมาก ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต
อธิบายให้เห็นภาพ สมมติเขาผลิตรองเท้า 100 คู่ มีต้นทุนอยู่ที่ 10,000 บาท
ถ้าเขาสามารถผลิตเพิ่มเป็น 1,000 คู่ โดยที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 บาท
หมายความว่าต้นทุนในการผลิตต่อคู่จาก 100 บาท จะเหลือเพียง 50 บาททันที ซึ่งหมายถึงกำไรที่เพิ่มมากขึ้น นั่นเอง
ดังนั้น ถ้าอยากขายได้มากขึ้น เพื่อรองรับการผลิตที่มากขึ้น Vans ก็ต้องขยันขยายสาขาเพิ่มขึ้น นั่นเอง
แล้วอะไรคือ จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Vans จากแบรนด์รองเท้าผ้าใบบ้าน ๆ กลายเป็นขวัญใจนักสเกต ?
เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้วิสัยทัศน์ของคุณ Van Doren ที่เห็นว่ายุคนั้น (ยุค 70) กระแส Skateboard มาแรงในสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่มีแบรนด์รองเท้าเจ้าไหน มาจับตลาดนี้
Vans เลยกระโจนเข้ามาจับตลาดนี้ทันที และกลายเป็นว่า ด้วยจุดเด่นของแบรนด์ โดยเฉพาะพื้นรองเท้าที่ทั้งหนา หนึบ และทนทาน หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า ยางลายวอฟเฟิล
บวกกับบริการ Custom-Made ซึ่งถือว่าเป็นการตีโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะคนเล่นสเกตที่ต้องการไอเทมที่สามารถสะท้อนตัวตน ไม่ซ้ำใครได้แตกกระจุย
เลยทำให้ Vans ขึ้นแท่นเป็นขวัญใจนักสเกตได้อย่างรวดเร็ว
แต่ที่ฮือฮาสุด ๆ ต้องยกให้ตอนที่คุณ Van Doren จับมือกับคุณ Tony Alva และ Stacy Peralta สองนักสเกตบอร์ดชื่อดัง ออกแบบรองเท้ารุ่น Era
ซึ่งเรียกว่าเหมาะสำหรับเล่นสเกตบอร์ดอย่างแท้จริง เพราะยังคงเอกลักษณ์ของแบรนด์ได้อย่างไม่ตกหล่น
แถมมีการแก้ Pain Point ของคนใส่ ด้วยการบุฟองน้ำรอบข้อเท้า เพื่อเพิ่มความนุ่มสบาย
อย่างไรก็ตาม นอกจากรองเท้ารุ่น Era
Vans ยังมีรองเท้ายอดนิยมอีกหลายรุ่น เช่น รุ่น Old Skool ที่มีการใส่ลวดลายเอกลักษณ์อย่างลาย Jazz Stripe ซึ่งมีลักษณะคล้ายระลอกคลื่นลงไป ไปจนถึงรุ่น Slip-On ที่พาให้แบรนด์ดังไปทั่วโลก
เมื่อ Sean Penn นักแสดงชื่อดัง ซึ่งรับบทนักกระดานโต้คลื่นในภาพยนตร์เรื่อง Fast Times at Ridgemont High ใส่รองเท้า Vans รุ่น Slip-On ลายหมากรุกเข้าฉาก
จากความนิยมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ Vans ขยายช่องทางการขาย จนไม่ใช่แค่มีสาขาในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีมากกว่า 70 สาขา แต่ยังขายผ่านดีลเลอร์ทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้เส้นทางการเติบโตของแบรนด์จะดูราบรื่น แต่หากผู้กุมหางเสือขาดประสบการณ์ ก็อาจจะทำให้เรือใหญ่อับปางลงได้ง่าย ๆ เหมือนกัน..
ใครจะคิดว่าในปี ค.ศ. 1984 Vans จะต้องเจอกับฝันร้ายครั้งใหญ่
เพราะหลังจากคุณ Van Doren ส่งไม้ต่อให้น้องชายเข้ามาดูแล
ปรากฏว่า การบริหารที่ผิดทาง หันไปเน้นแตกไลน์รองเท้ากีฬาอื่น ๆ ทำให้บริษัทกลายเป็นหนี้ก้อนโต
จนสุดท้ายต้องยื่นขอล้มละลาย
คุณ Van Doren ต้องกลับมากุมบังเหียนอีกครั้ง ตัดลดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง จน Vans พ้นวิกฤติ
สามารถใช้หนี้ได้หมด และหลุดพ้นจากภาวะล้มละลายภายในเวลาเพียง 2 ปี
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในปี ค.ศ.1988 คุณ Van Doren ได้ขายบริษัทที่สร้างมากับมือให้กับบริษัทการลงทุน McCown De Leeuw & Co. ด้วยมูลค่า 2,506 ล้านบาท
และต่อมาในปี ค.ศ. 2004 Vans ก็ถูกขายให้กับ VF Corporation
ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าและรองเท้าที่คนไทยคุ้นหูอย่าง The North Face, Timberland, Kipling, JanSport รวมไปถึงแบรนด์แฟชั่นแนวสตรีตระดับท็อปสตาร์อย่าง Supreme
ด้วยมูลค่า 396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 13,412 ล้านบาท
ซึ่งก็หมายความว่า คุณ Van Doren แทบจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์ Vans มากว่า 30 ปี
แต่อย่างน้อยผลงานและเอกลักษณ์ของ Vans ที่คุณ Van Doren สร้างไว้ยังไม่เสื่อมมนตร์ขลัง ยังเป็นที่นิยมในหมู่แฟนคลับของแบรนด์
แม้คุณ Van Doren ตำนานผู้ก่อตั้งบริษัท จะเสียชีวิตลงในวัย 90 ปี ไปเมื่อปีที่แล้ว
ที่น่าเสียดาย คือ คุณ Van Doren คงคาดไม่ถึงว่า Vans รุ่น Slip-On ลายหมากรุก ที่เคยแจ้งเกิดจากภาพยนตร์จนดังไปทั่วโลก
วันนี้ Vans รุ่น Slip-On สีขาว ก็กำลังพาแบรนด์มาอยู่บนสปอตไลต์อีกครั้ง จากซีรีส์เรื่องดังอย่าง Squid Game..
อ้างอิง :
-https://www.sneakerfreaker.com/features/the-history-of-vans
-https://www.vans.com/history#1966
-https://variety.com/shop/squid-game-halloween-costume-white-slip-on-vans-1235082287/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.