Lawson คู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ 7-Eleven ในญี่ปุ่น

Lawson คู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อกับ 7-Eleven ในญี่ปุ่น

22 ต.ค. 2021
เกือบทุกคนรู้ว่า 7-Eleven คือ เชนร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากสุดในโลก
โดยประเทศที่มีสาขาของ 7-Eleven มากสุดก็ไม่พ้นญี่ปุ่น เพราะมีอยู่กว่า 21,000 สาขา ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของจำนวนสาขาบนโลก
จนหลายคนคิดว่า 7-Eleven มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศญี่ปุ่น
แต่จริง ๆ แล้ว ร้านสะดวกซื้อแห่งนี้ มาจากประเทศสหรัฐฯ
ก่อตั้งโดย Joe C. Thompson ซึ่งเริ่มแรกเป็นร้านขายน้ำแข็ง ที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส
ก่อนจะผันตัวมาเป็นร้านสะดวกซื้อครบวงจร และขายกิจการให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่น
ที่น่าสนใจคือ ถ้าถามว่า ใครคือคู่แข่งตัวฉกาจ ที่สามารถแข่งกับ 7-Eleven ได้สมน้ำสมเนื้อ ?
หลายคนคงนิ่งไปชั่วขณะ เพื่อพยายามนึกถึงตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด
ซึ่งคำตอบก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ บางประเทศนึกอยู่นานก็นึกไม่ออก เพราะไม่มีเลย
หรือบางประเทศก็มีบ้าง ซึ่งก็เป็นเชนร้านสะดวกซื้อท้องถิ่น
แต่คำถามนี้ ถ้าถามกับคนในประเทศญี่ปุ่น พวกเขาจะไม่ลังเลที่จะตอบเลยว่า หนึ่งในนั้นคือร้าน “Lawson”
เพราะปัจจุบัน Lawson เป็นเชนร้านสะดวกซื้ออันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น และมีสาขาอยู่กว่า 14,651 สาขา เป็นรองเพียง 7-Eleven และ FamilyMart เท่านั้น
และที่น่าสนใจคือ Lawson ซึ่งหลายคนคิดว่าเป็นแบรนด์ที่ลืมตาตื่นขึ้นมาดูโลก ณ ประเทศญี่ปุ่น
จริง ๆ แล้ว แบรนด์กลับมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่สหรัฐฯ​ เช่นเดียวกับ 7-Eleven..
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1939 ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา
คุณเจ. เจ. ลอว์สัน ได้เปิดร้านขายนมเล็ก ๆ ในชื่อ “Mr. Lawson's milk store”
ซึ่งร้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องความสดของนม ทำให้มีลูกค้าแวะเวียนมาซื้อนมในทุก ๆ เช้า
พอกิจการเติบโตขึ้น เขาจึงได้จัดตั้งบริษัท Lawson Milk Co. ขึ้นมา และพัฒนาจากร้านที่ขายนมอย่างเดียว ไปเป็นร้านที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคและของใช้ประจำวัน
พร้อมกับสร้างโลโกแบรนด์ เป็นรูปถังใส่นม บนพื้นหลังสีฟ้า เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และสื่อถึงต้นกำเนิดของธุรกิจ
หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1959 Lawson Milk Co. ก็ได้ถูกขายกิจการให้กับ Consolidated Foods Inc. บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารของสหรัฐฯ ซึ่งการที่เป็นบริษัทในเครือของยักษ์ใหญ่ ทำให้กิจการของ Lawson ถูกผลักดันให้ขยายสาขาออกไปนอกรัฐโอไฮโอ ซึ่งเริ่มจากรัฐใกล้เคียง เช่น เพนซิลเวเนีย ก่อนจะขยายสาขาไปทั่วประเทศในเวลาต่อมา
ถึงแม้กิจการ Lawson ในสหรัฐฯ จะเติบโตและขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
แต่กิจการก็ถูกเปลี่ยนมืออยู่หลายครั้ง เช่น ในปี 1985 ถูกขายกิจการให้กับ Dairy Mart เชนร้านสะดวกซื้อของสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาชื่อร้าน Lawson ในสหรัฐฯ ก็ถูกเปลี่ยนเป็นร้าน Dairy Mart
หรือในปี 2002 ที่ Dairy Mart ขายกิจการให้กับ Alimentation Couche-Tard of Laval, Quebec เชนร้านสะดวกซื้อของแคนาดา ทำให้สุดท้ายแล้ว ไม่มีร้าน Lawson หลงเหลืออยู่ในสหรัฐฯ เลยแม้แต่ร้านเดียว
สำหรับในญี่ปุ่น Lawson เริ่มเข้าไปทำตลาดและเปิดร้านสาขาแรก เมื่อปี 1975 ที่เมืองโทโยนากะ จังหวัดโอซากะ โดยเป็นการทำสัญญาแฟรนไชส์กับบริษัทท้องถิ่นที่ชื่อว่า Daiei, Inc. เจ้าของเชนซูเปอร์มาร์เก็ตในญี่ปุ่น
ซึ่ง Lawson ในประเทศญี่ปุ่น ดูแลและบริหารโดยบริษัท Daiei Lawson Co., Ltd. ที่เป็นบริษัทในเครือของ Daiei, Inc. อีกที
ต่อมา Daiei Lawson Co., Ltd. มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Lawson Japan, Inc. ในปี 1979
และ Lawson, Inc. ในปี 1996 พร้อมกับขยายสาขาไปนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยเริ่มที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
ซึ่ง Lawson, Inc. ก็มีการกลับไปบุกตลาดประเทศบ้านเกิดอย่างสหรัฐฯ อีกครั้ง ด้วยการเปิดสาขาที่ฮาวาย เมื่อปี 2012
โดยตอนนี้ Lawson เปิดให้บริการอยู่ด้วยกัน 6 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น, จีน, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, ไทย, สหรัฐอเมริกา รวมทั้งหมด 18,896 สาขา ซึ่งสาขาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ญี่ปุ่น (14,651 สาขา)
รองลงมาคือ จีน (3,958 สาขา) และไทย (150 สาขา)
และปัจจุบัน Lawson, Inc. เป็นบริษัทในเครือของ Mitsubishi Corporation (ถูกถือหุ้นอยู่ 50.1%) บริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ทำธุรกิจหลากหลายอย่าง เช่น รถยนต์, การเงิน, เครื่องใช้ไฟฟ้า, พลังงาน และอื่น ๆ
ซึ่ง Lawson, Inc. จดทะเบียนในตลาดหุ้นโตเกียว มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 162,800 ล้านบาท
และมีผลประกอบการ (ปิดรอบบัญชีเดือน ก.พ.)
ปี 2020 มีรายได้ 219,909 ล้านบาท
ปี 2021 มีรายได้ 200,564 ล้านบาท
สำหรับร้าน Lawson ในญี่ปุ่น จะมีรูปแบบของร้านหลัก ๆ 3 แบบ ที่มีคอนเซปต์แตกต่างกันออกไป ได้แก่
- Lawson
ร้านสะดวกซื้อทั่วไปที่เห็นได้ตามท้องถนน มีสาขากระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ และต่างประเทศ
เน้นขายของกินและของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมถึงสินค้าแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งบางสาขาก็จะมีการขายผักและอาหารสดด้วย
- Natural Lawson
เน้นขายสินค้าที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงามเป็นหลัก โดยมีทั้งสินค้าระดับพรีเมียมที่ถูกคัดสรรมา, อาหารกล่อง, อาหารสำหรับสายรักสุขภาพ รวมถึงสินค้าออร์แกนิก เป็นต้น
โดยร้านจะเน้นเปิดสาขาตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ในย่านธุรกิจ และสินค้าภายในร้าน จะมีราคาที่สูงกว่าร้าน Lawson ทั่วไป
- Lawson Store 100
ร้านที่ขายสินค้าในคอนเซปต์ สินค้าทุกชิ้นมีราคาเท่ากัน โดยขายชิ้นละ 100 เยน ​(ยังไม่รวมภาษี)
ซึ่งร้านรูปแบบนี้ค่อนข้างได้รับความนิยมในญี่ปุ่น โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นแม่บ้านและผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ จริง ๆ แล้ว ร้านสะดวกซื้อ Lawson ในญี่ปุ่น ไม่ได้ขายสินค้าเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายบริการ มาตอบโจทย์และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า เช่น มีบริการตู้ ATM ให้สามารถอน-โอนเงิน ได้ตลอด 24 ชม., มีบริการจัดส่งพัสดุไปรษณีย์, บริการซื้อบัตรคอนเสิร์ตหรือดิสนีย์แลนด์, บริการเครื่องถ่ายเอกสาร
ส่วนประเทศไทยนั้น Lawson ได้เข้ามาเปิดตัวสาขาแรก ให้คนไทยไปสัมผัสกัน ตั้งแต่ปี 2013
โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด และ Lawson, Inc. จากประเทศญี่ปุ่น
ในการปรับโฉมร้านสะดวกซื้อในเครือสหพัฒนพิบูล อย่าง “108 Shop” ให้กลายเป็น “Lawson 108” พร้อมกับขยายสาขาใหม่เพิ่มเติม
ซึ่งจุดเด่นของร้าน Lawson 108 คือการนำเสนอสินค้าคุณภาพอันหลากหลาย ทั้งเมนูอาหารพร้อมทาน และเบเกอรีสูตรเฉพาะ ที่วางขายที่ Lawson 108 เท่านั้น ซึ่งก็มีหลายวัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ ร้านยังได้รับ Know-How และระบบหลังบ้านต่าง ๆ จาก Lawson ประเทศญี่ปุ่น มาใช้ในการบริหารร้านค้าและบริการลูกค้า
ทีนี้มาดูผลประกอบการ Lawson 108 ในประเทศไทย
บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด
ปี 2018 มีรายได้ 2,904 ล้านบาท
ปี 2019 มีรายได้ 2,957 ล้านบาท
ปี 2020 มีรายได้ 2,661 ล้านบาท (เป็นปีที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด)
ปัจจุบัน Lawson ในประเทศไทย มีอยู่ประมาณ 150 สาขา
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ในญี่ปุ่น Lawson จะสามารถต่อกรกับคู่แข่งที่เป็นเจ้าตลาดร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven ได้สมน้ำสมเนื้อ
แต่ในประเทศไทย ภาพนี้ยังคงห่างไกลอยู่ เพราะ 7-Eleven มีกว่า 12,700 สาขาทั่วประเทศไทย..
ดังนั้น เมื่อมีเจ้าตลาดเดิมที่แข็งแกร่ง ซึ่งครองอาณาเขตทางธุรกิจทั่วประเทศได้อย่างเหนียวแน่น
ทาง Lawson 108 จึงปรับกลยุทธ์ในการขยายสาขา โดยจะไม่เน้นขยายสาขาให้เยอะ ๆ
แต่จะเน้นหาทำเลที่เหมาะสม อย่างพื้นที่ที่เข้าถึงกลุ่มคนวัยทำงาน, คนรุ่นใหม่ โดยตรงแทน เช่น อาคารสำนักงาน, ทำเลตามสถานีรถไฟฟ้า และที่พักอาศัย
เพราะหากทำการขยายสาขาแบบแมสไปทั่วเมือง ทั่วประเทศ ก็จะเจ็บตัวหนัก จากการแข่งขันที่รุนแรง
และนี่คือเรื่องราวคร่าว ๆ ของ Lawson
แบรนด์ร้านสะดวกซื้อในใจของใครหลาย ๆ คน
ถึงแม้ว่า Lawson จะไม่ได้เป็นเจ้าตลาดในประเทศไทย
แต่สิ่งที่ยืนยันได้แน่ ๆ คือ คุณภาพของสินค้าในร้านสะดวกซื้อชื่อนี้ ไม่เป็นรองใคร
และ Lawson ก็จะยังคงทำตลาดและให้บริการคนไทย ไปได้อีกนานแสนนาน..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.