จากคนล้มเหลว สู่ผู้ก่อตั้ง Hershey’s แบรนด์ช็อกโกแลต ที่คนทั้งโลกหลงรัก

จากคนล้มเหลว สู่ผู้ก่อตั้ง Hershey’s แบรนด์ช็อกโกแลต ที่คนทั้งโลกหลงรัก

30 ต.ค. 2021
กว่า 127 ปีแล้ว ที่แบรนด์ช็อกโกแลต Hershey’s ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อเสิร์ฟความหวานให้กับคนทั้งโลก
จากแรกเริ่มเดิมที Hershey เป็นเพียงธุรกิจเล็ก ๆ ที่ก่อตั้งโดยคนที่ดูไม่ค่อยมีอนาคต และเคยทำธุรกิจล้มเหลวมาก่อน
แต่วันนี้เหมือนหนังคนละม้วนจากวันนั้น เพราะว่า Hershey ได้กลายเป็นหนึ่งในบริษัทช็อกโกแลตรายใหญ่ที่สุดในโลก
และเป็นบริษัทที่มีรายได้จากธุรกิจขนมหวาน อันดับที่ 5 ของโลก ซึ่งมีรายได้มากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี
แล้วถ้าถามว่า Hershey มีมูลค่าขนาดไหน ก็บอกได้เลยว่า เกินล้านล้านบาทเลยทีเดียว
โดย The Hershey Company จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หุ้นนิวยอร์ก​ และปัจจุบันมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท
ที่สำคัญ อาณาจักรของ Hershey นี้ ไม่ได้มีแค่ช็อกโกแลต Hershey’s เท่านั้น แต่ยังมีแบรนด์อื่น ๆ อีกรวมกว่า 90 แบรนด์ที่บริษัทดูแลและทำตลาดอยู่..
และเรื่องราวทั้งหมดของ Hershey ก็มาจากชายที่ชื่อว่า “มิลตัน เฮอร์ชีย์”
มิลตัน เฮอร์ชีย์ เขาเกิดในครอบครัวเกษตรกร อย่างไรก็ดีชีวิตในวัยเด็กของเขาไม่ค่อยราบรื่นสักเท่าไร เนื่องจากธุรกิจฟาร์มของครอบครัวเขาเจ๊งไม่เป็นท่า ทำให้เขามีชีวิตที่ค่อนข้างขัดสน และย้ายเมืองตามครอบครัวบ่อย ๆ
อีกทั้ง ตอนเด็ก ๆ มิลตัน เฮอร์ชีย์ เป็นคนที่ไม่ชอบการเรียน และไม่ชอบการไปโรงเรียน เลยไม่มีโอกาสเรียนสูงมากนัก
ดังนั้น พอโตขึ้นมาหน่อย เขาจึงไปทำงานกับร้านขนมแห่งหนึ่ง
ซึ่งหลังจากทำงานได้ประมาณ 4 ปี เขาก็มีความคิดอยากเป็นนายของตัวเอง
จึงลาออกมา และขอเงินทุนจากป้าและลุง เพื่อเปิดร้านขายขนมของตัวเองขึ้น ด้วยวัยเพียง 19 ปี ในเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย
โดยภายในร้าน จะขายทั้งขนมที่เขาทำขึ้นมาเอง รวมถึงไอศกรีม
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เขาไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจมาก่อน ทำให้ร้านของเขาทำกำไรไม่ได้ ไปไม่รอด และต้องปิดกิจการในที่สุด..
หลังจากต้องจำใจปิดกิจการ มิลตัน เฮอร์ชีย์ ก็เดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัวที่รัฐโคโลราโด เพื่อหางานทำ และก็ได้งานที่โรงงานขนมแห่งหนึ่ง ซึ่งโรงงานแห่งนี้ผลิตสิ่งที่เรียกว่า คาราเมล (Caramel) ขาย
จากนั้นเขาก็เริ่มสนใจและหลงใหลคาราเมล ซึ่งพอเก็บเกี่ยวความรู้และวิธีทำคาราเมล จากการทำงานได้แล้ว
บวกกับในใจลึก ๆ ของ มิลตัน เฮอร์ชีย์ ยังต้องการกลับคืนสู่สังเวียนผู้ประกอบการอีกครั้ง
ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วย้ายไปที่ชิคาโก เพื่อเปิดร้านขนมอีกครั้ง แต่ยังไม่ทำคาราเมลขาย ซึ่งธุรกิจก็เจ๊งเช่นเดิม
และหลังจากนั้น เขาก็ย้ายไปนิวยอร์กซิตี เพื่อเปิดร้านขนม (อีกแล้ว) ในชื่อ “Hershey's Fine Candies” แต่สุดท้ายธุรกิจก็ล้มเหลวอีกตามเคย..
แม้ว่าจะล้มเหลวจากธุรกิจอยู่หลายครั้ง แต่มิลตัน เฮอร์ชีย์ ก็ไม่ยอมแพ้ในเส้นทางธุรกิจ
เขาจึงกัดฟันที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่อีกครั้ง.. โดยครั้งนี้เขาตัดสินใจว่าต้องทำคาราเมลขายให้ได้
อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ตัวเขาล้มเหลวมาตลอด ทำให้ป้าและลุงของเขาปฏิเสธที่จะให้เงินทุนอีก
มิลตัน เฮอร์ชีย์ จึงไปหาเพื่อนที่รู้จักคนหนึ่ง ให้มาเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจด้วยกัน
ซึ่งทั้งคู่ก็ดิ้นรนเพื่อหาเงินสำหรับตั้งต้นธุรกิจด้วยวิธีต่าง ๆ รวมถึงการกู้ยืมเงินจากธนาคาร
จนสุดท้ายก็มีเงินมากพอ ที่จะสร้างโรงงานผลิตคาราเมลเล็ก ๆ
และก่อตั้งบริษัท Lancaster Caramel Company ขึ้นที่เมืองแลนแคสเตอร์ รัฐเพนซิลเวเนีย ในปี 1886
โดยพวกเขาใช้เวลาคิดค้นสูตรขนมคาราเมลของตัวเองอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของบริษัท คือ ลูกอมคาราเมล “Hershey’s Crystal A” ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าแรกที่มีการใช้นมสดในการทำคาราเมล
ที่สำคัญ Lancaster Caramel Company ได้กลายเป็นธุรกิจแรกของ มิลตัน เฮอร์ชีย์ ที่ประสบความสำเร็จและสร้างชื่อเสียงให้กับเขา
เนื่องจากเขานำความผิดพลาดจากธุรกิจในอดีตมาเป็นบทเรียน ประกอบกับเขาเริ่มมีโชคเข้าข้าง เพราะจู่ ๆ วันหนึ่งก็มีลูกค้าชาวอังกฤษเดินทางมาเที่ยวเมืองแลนแคสเตอร์ และบังเอิญได้ลองชิม ลูกอมคาราเมล Hershey’s Crystal A แล้วเกิดติดใจ จึงทำการสั่งออร์เดอร์เป็นจำนวนมากให้ส่งไปยังอังกฤษ
เรื่องนี้ทำให้บริษัทได้รับเงินก้อนใหญ่ จึงมีเงินทุนที่จะไปจ่ายคืนเงินกู้ยืมจากธนาคาร และเอาไปขยายธุรกิจ ขยายโรงงาน และขยายตลาดเพิ่ม ในเวลาต่อมา
จนธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และมีพนักงานประมาณ 1,300 คน
แม้ธุรกิจคาราเมลจะไปได้สวย แต่ดูเหมือนว่าโชคชะตาต้องการให้ มิลตัน เฮอร์ชีย์ ไปไกลเกินกว่านี้
เพราะวันหนึ่ง เขาก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานนิทรรศการ World's Columbian Exposition ที่เมืองชิคาโก ในปี 1893
และภายในงาน ทำให้เขาได้พบกับเครื่องจักรทำช็อกโกแลตเป็นครั้งแรก ซึ่งมาจากประเทศเยอรมนี
มิลตัน เฮอร์ชีย์ เกิดความสนใจเป็นอย่างมาก จนยืนมองและสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าเครื่องจักรนี้เป็นเวลาหลายชั่วโมง
และตอนนั้น เขาตกผลึกได้ว่า คาราเมลเป็นแค่ของแฟชั่น หรือกระแสชั่วคราว
แต่ช็อกโกแลตต่างหาก ที่จะได้รับความนิยมอย่างถาวร แถมตลาดช็อกโกแลตยังใหญ่กว่าตลาดคาราเมลมาก ๆ
ดังนั้น เขาจึงเดิมพันกับการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตอีกครั้ง ด้วยการขายธุรกิจคาราเมลของเขา (Lancaster Caramel Company) ในมูลค่า 33 ล้านบาท (เทียบเท่ากับ 1,027 ล้านบาทในปัจจุบัน) ให้กับบริษัท American Caramel Company
เพื่อนำเงินที่ได้มาก่อตั้งบริษัท Hershey Chocolate Co. ในปี 1894 พร้อมกับสั่งซื้อเครื่องจักรทำช็อกโกแลตจากเยอรมนี
โดยผลิตภัณฑ์แรกของบริษัทคือ Hershey’s Cocoa หรือ โกโก้แบบกระป๋อง
ต่อมาบริษัทก็ได้สร้างโรงงานแปรรูปนม (Milk-Processing Plant)
เพื่อที่จะได้สร้างสรรค์และปรับแต่งสูตรช็อกโกแลตนม ของตัวเองได้ตามที่ต้องการ
ซึ่งก็ผ่านการลองผิดลองถูกมานับไม่ถ้วน แต่สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จในการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ในปี 1900 ที่สร้างชื่อให้กับบริษัท และทำให้แบรนด์ Hershey’s เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก
ผลิตภัณฑ์นั้นคือ “Hershey’s Milk Chocolate Bars” หรือ ช็อกโกแลตนมชนิดแท่ง
หลังจาก Hershey’s Milk Chocolate Bars ออกสู่ตลาด ก็ได้รับความนิยมและเสียงตอบรับในทางบวกอย่างรวดเร็ว จนบริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดด
ทำให้บริษัทคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ภายใต้แบรนด์ Hershey’s ออกสู่ตลาดมาเรื่อย ๆ
รวมถึงเพิ่มแบรนด์ใหม่ ๆ นอกจาก Hershey’s ทั้งผ่านการสร้างแบรนด์ใหม่เอง และการเข้าซื้อกิจการอื่น เพื่อทำให้พอร์ตสินค้าและแบรนด์ของบริษัทมีความหลากหลาย เป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ และขยายตลาดผ่านกลุ่มเป้าหมายที่มากขึ้นไปในตัว
ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1907 บริษัทได้เปิดตัว “Hershey's Kisses” ช็อกโกแลตชิปขนาดพอดีคำ ที่ถูกห่อด้วยกระดาษฟอยล์ ซึ่งในตอนแรกเจ้าช็อกโกแลตชิปนี้ ทุกชิ้นถูกห่อด้วยมือของพนักงานในโรงงาน
แต่ต่อมาก็มีการนำเครื่องห่อมาติดตั้งในโรงงาน ทำให้สามารถเร่งกระบวนการห่อได้เร็วขึ้น (ปัจจุบันผลิตได้ 70 ล้านชิ้น/วัน)
และมีการเพิ่มริบบิ้นกระดาษขนาดเล็กที่เขียนคำว่า “Kisses” ไว้ที่ด้านบนของแพ็กเกจจิง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์มาจนถึงปัจจุบัน
ในปี 1908 เปิดตัว “Hershey's Milk Chocolate with Almonds” ช็อกโกแลตนมผสมอัลมอนด์
ในปี 1925 เปิดตัว “Hershey's Mr. Goodbar” ช็อกโกแลตนมผสมถั่วลิสง
ในปี 1963 เข้าซื้อกิจการ H.B. Reese Candy Company ทำให้ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ Reese's ที่มีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออย่าง “Reese's Peanut Butter Cups” เนยถั่วลิสงเคลือบช็อกโกแลตทรงถ้วย
ซึ่งปัจจุบัน Reese's กลายเป็นหนึ่งในแบรนด์เรือธงที่สร้างรายได้มากที่สุดให้กับ Hershey
ในปี 1969 เข้าทำสัญญากับ Rowntree's บริษัทเจ้าของแบรนด์ KitKat ในขณะนั้น
เพื่อขอสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่าย KitKat ในสหรัฐอเมริกา แต่เพียงผู้เดียว
(ต่อมา Rowntree's ถูก Nestlé ซื้อกิจการไป ทำให้ปัจจุบัน Nestlé เป็นเจ้าของสิทธิ์ในการผลิตและจำหน่าย KitKat ทั่วโลก ยกเว้นในสหรัฐอเมริกาที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Hershey)
หรือในปี 1977 ที่เข้าซื้อกิจการ Y&S Candies ทำให้ได้เป็นเจ้าของแบรนด์ขนม Twizzlers
และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ปัจจุบัน Hershey มีแบรนด์ที่บริหารอยู่กว่า 90 แบรนด์ และทำตลาดใน 60 ประเทศทั่วโลก
ทีนี้มาดูผลประกอบการย้อนหลังของ The Hershey Company
ปี 2018 มีรายได้ 259,949 ล้านบาท กำไร 39,289 ล้านบาท
ปี 2019 มีรายได้ 266,461 ล้านบาท กำไร 38,359 ล้านบาท
ปี 2020 มีรายได้ 271,915 ล้านบาท กำไร 42,664 ล้านบาท
โดยสัดส่วนรายได้ จะมาจากภูมิภาค
อเมริกาเหนือ 91%
และอื่น ๆ ทั่วโลก 9%
และด้วยรายได้เกิน 2 แสนล้านบาทนี้ ก็ทำให้ Hershey ติด Top 5 ของบริษัทขนมหวานที่ทำรายได้มากที่สุดในโลกไปโดยปริยาย
เรื่องราวของ มิลตัน เฮอร์ชีย์ และบริษัท Hershey ได้ให้แรงบันดาลใจที่ว่า
แม้คนคนหนึ่งจะไม่ได้มีพื้นฐานที่ดีมาตั้งแต่เกิด และดูเหมือนไม่ค่อยมีอนาคต หรือเคยล้มเหลวมาก่อน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาคนนั้นจะไม่มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จเลยในอนาคต
เพราะในโลกของเรา อะไรก็เกิดขึ้นได้ หากคนคนหนึ่งไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค และมุ่งมั่นเดินหน้าอย่างอดทน
และวันหนึ่ง.. โชคก็จะเข้าข้าง และเมื่อเขาคว้าโอกาสที่โชคชะตามอบให้ แล้วทำอย่างทุ่มเท
สุดท้ายแล้ว ชีวิตของเขาก็อาจจะเปลี่ยนไปตลอดกาล..
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่า ในปี 1940 คุณ Bruce Murrie ซึ่งเป็นทายาทของประธานบริษัท Hershey ในขณะนั้น
ได้จับมือกับคุณ Forrest E. Mars ลูกชายของผู้ก่อตั้งบริษัทช็อกโกแลต Mars
ร่วมกันก่อตั้งบริษัท M&M Limited ขึ้น เพื่อผลิตและจำหน่ายช็อกโกแลตเม็ดเคลือบน้ำตาล M&M’s ในสหรัฐอเมริกา
แต่ต่อมาคุณ Bruce ได้แยกตัวออกมาจากธุรกิจ
ทำให้คุณ Forrest นำบริษัท M&M Limited มาอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท Mars
และปัจจุบัน Mars ก็กลายเป็นหนึ่งในคู่แข่งคนสำคัญของ Hershey..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.