เกาหลีใต้สั่งผ่อนปรน ให้แรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย เข้าประเทศได้แล้ว

เกาหลีใต้สั่งผ่อนปรน ให้แรงงานต่างชาติถูกกฎหมาย เข้าประเทศได้แล้ว

5 พ.ย. 2021
ล่าสุด เกาหลีใต้ เตรียมผ่อนปรนเพื่อให้แรงงานต่างชาติเดินทางกลับประเทศมากขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับฟาร์ม, โรงงาน และสถานที่ก่อสร้าง ที่ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นอย่างมาก
หลังที่ก่อนหน้านี้ มีการจำกัดการออกวีซ่าแรงงานมาเป็นเวลาเกือบ 2 ปีในช่วงโควิด 19 ระบาด
โดยกระทรวงแรงงานของเกาหลีใต้ ระบุว่า รัฐบาลกำลังพยายามอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้าประเทศมากขึ้นด้วยวีซ่าการจ้างงานประเภท E-9 หรือวีซ่าที่ออกแบบมาเพื่ออนุมัติให้กับแรงงานต่างชาติ เพื่อเข้าไปทำงานด้านแรงงาน
ทั้งนี้ มาตรการนี้ถูกดำเนินการพร้อมกับโครงการ “อยู่ร่วมกับโควิด 19” ของรัฐบาลเกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายน ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมในการขยายการเปิดรับแรงงานต่างชาติ คาดว่าจะประกาศในเดือนหน้า
ซึ่งโดยปกติแล้ว วีซ่า E-9 ส่วนใหญ่ออกให้กับคนงานจาก 16 ประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เนื่องจากวิกฤติโรคระบาด ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องออกคำสั่งห้ามแรงงานเข้าประเทศอย่างเด็ดขาด
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้เกาหลีใต้ประสบกับปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน จนเกิดการร้องทุกข์ขึ้น จากธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากทำให้การดำเนินงานติดขัดเพราะไม่มีแรงงาน
จากเรื่องนี้ จึงทำให้รัฐบาลได้ยกเลิกการห้ามเข้าประเทศของแรงงานต่างชาติทั้งหมด 16 ประเทศ ที่ส่งแรงงานต่างชาติมายังประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้ระบบใบอนุญาตการจ้างงาน
ซึ่งรวมไปถึงมองโกเลีย, ไทย, เวียดนาม และจีน
ส่วนประเทศที่สถานการณ์การระบาดยังรุนแรง อาทิ เมียนมาร์, ฟิลิปปินส์, ปากีสถาน, อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน ผู้ที่ขอวีซ่า จำเป็นต้องได้รับวัคซีนครบโดส เป็นเวลาอย่างน้อย 2 อาทิตย์แล้วเท่านั้น
และจะต้องเข้ารับการตรวจแบบ PCR ที่โรงพยาบาลท้องถิ่นประเทศต้นทาง เพื่อแสดงผลการตรวจเป็นลบภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนบินไปยังประเทศเกาหลีใต้
นอกจากนี้ เมื่อมาถึงประเทศเกาหลีใต้แล้ว แรงงานทั้งหมดจะต้องทำการกักตัว ในสถานที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้เป็นเวลา 10 วัน
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้การระบาดจะยังไม่จบไปเสียทีเดียว แต่ในหลาย ๆ ประเทศ
ก็เริ่มมีการปรับตัวเพื่อ “อยู่ร่วมกับโควิด 19” แล้ว ทั้งในภาคอุตสาหกรรมแรงงาน และการท่องเที่ยว
ซึ่งก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดี สำหรับผู้ที่เคยทำงานอยู่ในเกาหลีใต้ แต่จำเป็นต้องกลับประเทศ เพราะนโยบายควบคุมโรคระบาด นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.