บ้านปู เพาเวอร์ เผยไตรมาส 3/2564 กระแสเงินสดแข็งแกร่ง ชูความสำเร็จต่อยอดระบบนิเวศกลุ่มบ้านปู เดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจไฟฟ้าอย่างสมดุลเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน

บ้านปู เพาเวอร์ เผยไตรมาส 3/2564 กระแสเงินสดแข็งแกร่ง ชูความสำเร็จต่อยอดระบบนิเวศกลุ่มบ้านปู เดินหน้าขยายพอร์ตธุรกิจไฟฟ้าอย่างสมดุลเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน

16 พ.ย. 2021
บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพเพื่อโลกที่ยั่งยืน ด้วยสมดุลของพอร์ตธุรกิจจากทั้งพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Thermal Power Business) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Power Business) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เผยผลงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากพลังร่วมและระบบนิเวศทางธุรกิจภายในกลุ่มบ้านปู (Banpu Ecosystem) ด้วยการลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐฯ ผนวกกับเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ประเทศญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ด้านผลประกอบการไตรมาส 3 ของปี 2564 มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) 534 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 597 ล้านบาท รวมทั้งมีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งพร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 ซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือ ESG การันตีได้จากการได้รับคัดเลือกเป็นหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 และรางวัล Rising Star Sustainability Awards จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “BPP ยังคงเดินหน้าสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องและยังสามารถรักษาเสถียรภาพในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าทุกแห่งแม้เผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่บริษัทฯ ยังคงสามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโรงไฟฟ้าเอชพีซีใน สปป.ลาว มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเครื่องให้สามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่องและมั่นคง ส่วนโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทยสามารถรักษาเสถียรภาพเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ในอัตราร้อยละ 75 และร้อยละ 99 ตามลําดับ ด้านโรงไฟฟ้านาโกโซ (Nakoso IGCC) ในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป และได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD)  ไปในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และบริษัทฯ เริ่มรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวในไตรมาส 3 เป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยเสริมให้กระแสเงินสดของบริษัทฯ แข็งแกร่งขึ้นได้เป็นอย่างดี ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นและในจีนคงประสิทธิภาพการจ่ายไฟได้เป็นอย่างดีแม้สภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และล่าสุด บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ในสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทฯ จะสามารถรับรู้รายได้ทันทีในไตรมาส 4 นับเป็นผลสำเร็จจากการดำเนินงานต่อยอดระบบนิเวศทางธุรกิจภายในกลุ่มบ้านปู ซึ่งมีฐานธุรกิจผลิตพลังงานอย่างแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ในรัฐเท็กซัส รวมถึงการลงทุนในครั้งนี้ยังเป็นการสะท้อนถึงการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter” 
โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I ตั้งอยู่ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas turbine หรือ CCGT มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของ BPP 384 เมกะวัตต์ ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) เรียบร้อยแล้วและสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้สามารถผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการไฟฟ้าในพื้นที่ตอนกลางของรัฐเท็กซัส ครอบคลุมกว่า 750,000 ครัวเรือน นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการดำเนินตามแผน  กลยุทธ์เพื่อก้าวสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่มีความก้าวหน้าและเป็นตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่เปิดเสรี สะท้อนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผนวกกำลังภายในกลุ่มบ้านปูผ่านการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และทรัพยากรที่มีเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการลงทุนและเสริมสร้างการเติบโต 
ด้านโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในจีน กำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 396 เมกะวัตต์ ได้เริ่มเดินเครื่องเพื่อผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับสายส่งหลักของจีนแล้วและกำลังเตรียมพร้อม รอการจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกัน โครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 3 แห่ง มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 2 โครงการ ได้แก่ เคเซนนุมะ (Kesennuma) กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และชิราคาวะ (Shirakawa) กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในไตรมาส 4/2564 และไตรมาส 1/2565 ตามลำดับ ด้านโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะ COD ในไตรมาส 1/2565 
“BPP ยังคงเดินหน้ามองหาโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมตามกลยุทธ์ Greener & Smarter เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและชาญฉลาดยิ่งขึ้น โดยให้ความสำคัญต่อการลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที ในขณะเดียวกัน ยังมุ่งแสวงหาโอกาสขยาย การเติบโตของกำลังผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียน ในประเทศที่มีศักยภาพ รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการผนึกกำลังหรือ Synergy ระหว่างกลุ่มบ้านปู ไปพร้อมกับการยึดมั่นในหลักความยั่งยืน หรือ ESG เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในทุกประเทศที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างยั่งยืนต่อไป” นายกิรณ กล่าวปิดท้าย 
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.