inDriver แอปเรียกแท็กซี่ ที่ผู้โดยสาร สามารถต่อรองราคาค่าโดยสารเองได้

inDriver แอปเรียกแท็กซี่ ที่ผู้โดยสาร สามารถต่อรองราคาค่าโดยสารเองได้

16 พ.ย. 2021
ทุกวันนี้มีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียกรถ เรียกแท็กซี่ อยู่มากมาย ที่ให้เราเลือกใช้บริการ
แต่แพลตฟอร์มเรียกรถมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ผู้ให้บริการเหล่านี้จะคิดค่าเดินทางมาให้เราโดยอัตโนมัติ
ซึ่งในบางครั้งเราอาจจะรู้สึกว่า ค่าโดยสารที่ถูกกำหนดขึ้นมาแล้วนั้น แพงเกินไป..
ซึ่ง inDriver สตาร์ตอัปสัญชาติรัสเซีย ก็เล็งเห็นถึงปัญหาและได้เข้ามาแก้ไข Pain Point ตรงนี้
ด้วยการสร้างแอปพลิเคชันเรียกรถ ที่ผู้โดยสารสามารถกำหนดราคาค่าเดินทางเองได้
จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปช่วงเทศกาลปีใหม่ของปี ค.ศ. 2012 ที่เมืองยาคุตสค์ ประเทศรัสเซีย
ซึ่งเป็นเมืองที่ได้ชื่อว่าหนาวที่สุดในโลก ประกอบกับเป็นช่วงฤดูหนาวในค่ำคืนแห่งเทศกาลปีใหม่
ทำให้ในวันนั้น เมืองนี้มีอากาศติดลบต่ำกว่า 45 องศาเซลเซียส
และการที่อุณหภูมิในวันนั้นติดลบต่ำกว่า 45 องศาเซลเซียส นี่เอง
ทำให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะใช้รถแท็กซี่มากขึ้น พอเรื่องเป็นแบบนี้ เหล่าบริษัทแท็กซี่ต่าง ๆ ก็สบโอกาสโกงราคาค่าโดยสาร ขึ้นราคาเป็นสองเท่าจนหลายคนจ่ายไม่ไหว
ดังนั้นผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองยาคุตสค์ จึงได้ตั้งกลุ่ม Independent Drivers ขึ้นมาในโซเชียลมีเดีย เพื่อเป็นการตอบโต้การกระทำของบริษัทแท็กซี่ ที่ขึ้นราคาแบบไม่สมเหตุสมผล
โดยกลุ่มนี้จะเปิดให้สมาชิกในกลุ่ม สามารถโพสต์เส้นทางและค่าโดยสารที่ยินดีจะจ่าย
จากนั้น คนขับที่พอใจในราคาที่ผู้โดยสารเสนอมา ก็จะติดต่อไปหาผู้โดยสารเพื่อดำเนินการต่อจนเสร็จสิ้น
ซึ่งโมเดลการเรียกรถแท็กซี่ในลักษณะนี้ก็ถือว่าได้รับกระแสตอบรับที่ค่อนข้างดี
เพราะหลังจากตั้งกลุ่มมาได้เพียง 6 เดือน ก็มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 คน
จากนั้นในปี 2013 ได้มีการพัฒนาจากกลุ่มบนโซเชียล ขึ้นเป็นแอปพลิเคชัน inDriver
โดยในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา inDriver ได้มีการระดมทุนในรอบ Series C
ทำให้ตอนนี้ บริษัทได้รับเงินระดมทุนทั้งสิ้นไปกว่า 7,760 ล้านบาท
และถูกประเมินมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 40,270 ล้านบาท
ซึ่งคุณ Arsen Tomsky ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ inDriver กล่าวว่า
บริษัทสามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรกที่เปิดตัวให้บริการ
โดยจุดเด่นที่ทำให้ inDriver ประสบความสำเร็จ คือ ระบบ Real-time Deals (RTD) ที่ให้ผู้โดยสารสามารถเสนอราคาค่าโดยสารได้อย่างอิสระ ซึ่งจะแตกต่างจากบริการเรียกรถของแพลตฟอร์มอื่น ๆ ที่จะคำนวณราคามาให้แล้ว
ในขณะที่ฝั่งของคนขับรถที่อยู่ใกล้เคียง จะได้รับคำขอโดยสารและมีตัวเลือก คือ ถ้าพอใจกับราคาที่ผู้โดยสารเสนอมาก็กดยอมรับข้อเสนอ แต่ถ้าไม่พอใจ ก็ไม่ต้องรับผู้โดยสารคนนั้น หรือจะขอเจรจาค่าโดยสารที่ดีกว่าก็ได้
นอกจากนี้ RTD ยังมีความพิเศษ คือ ปกติแล้ว เราอาจจะคุ้นชินกับการที่ทางแอปพลิเคชันจะเลือกผู้ขับขี่มาให้เราโดยอัตโนมัติ
แต่ที่ inDriver เราสามารถเลือกผู้ขับขี่ที่เหมาะกับความต้องการของเราได้ จากอันดับคะแนนของคนขับ
เวลาที่จะมาถึงเราโดยประมาณ หรือรุ่นรถที่เราต้องการ
และยังมีฟีเชอร์สำหรับเพิ่มคำขออื่น ๆ ที่ผู้โดยสารต้องการ เช่น ขอที่นั่งสำหรับเด็ก, ขอรถที่สามารถรับสัตว์เลี้ยงได้
หรือในเรื่องของความปลอดภัย ที่ inDriver ก็มีฟีเชอร์ Safety Button ในการแชร์ตำแหน่งที่ตั้ง GPS, ชื่อคนขับ รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับยานพาหนะให้กับเพื่อน ๆ หรือครอบครัวได้ตลอดการเดินทาง
และยังมีปุ่มโทรฉุกเฉินที่จะต่อสายตรงไปยังตำรวจ หากเกิดเหตุฉุกเฉินได้ทันที
เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารตลอดการเดินทาง
ด้วยโมเดลที่แตกต่างและการใส่ใจทั้งฝั่งคนขับและผู้โดยสาร
ทำให้ในปัจจุบัน inDriver ให้บริการมากกว่า 500 เมือง ใน 37 ประเทศ
และมีจำนวนการโดยสารมากกว่า 1 พันล้านเที่ยว
ในส่วนของประเทศไทย inDriver ได้เข้ามาบุกตลาดตั้งแต่ปี 2019
โดยเริ่มจากเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ เช่น เชียงใหม่, พัทยา และภูเก็ต
จากนั้นก็มาเปิดให้บริการในกรุงเทพมหานคร ในภายหลัง
ก็เป็นที่น่าสนใจว่า สตาร์ตอัปเรียกรถจากรัสเซียรายนี้ ที่มีโมเดลยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จะสามารถประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ในสมรภูมิการขนส่งที่ดุเดือดขนาดนี้
แต่ที่แน่ ๆ คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดก็คงหนีไม่พ้นผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ที่มีตัวเลือกในการเดินทางเพิ่มมากขึ้นนั่นเอง..
อ้างอิง:
-https://indriver.com/en/city/
-https://www.crunchbase.com/organization/indriver
-https://www.ewdn.com/2021/09/16/siberian-born-unicorn-indriver-now-among-the-worlds-top-ride-hailing-apps/
-https://medium.com/indriver/https-medium-com-arsentomsky-indrivernyc-be284777ad22
-https://www.dailygizmo.tv/2021/10/20/indriver-app/
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.