บอร์ด True และ dtac มีมติอนุมัติให้บริษัท “ควบรวมกิจการ” กัน

บอร์ด True และ dtac มีมติอนุมัติให้บริษัท “ควบรวมกิจการ” กัน

22 พ.ย. 2021
ล่าสุด บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่ของประเทศไทยอย่าง True และ dtac ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการควบรวมบริษัท ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ Ture และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ dtac
และทั้ง 2 บริษัท รับทราบความประสงค์ในการทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของทั้งบริษัทฯ โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทําคําเสนอซื้อ (Conditional Voluntary Tender Offer)
โดยรายละเอียดสำคัญของมติที่ประชุมมีดังนี้
ทั้ง 2 บริษัท อนุมัติให้บริษัทฯ ทําการศึกษาความเป็นไปได้ และดําเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่าง True และ dtac ภายใต้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติบริษัท มหาชนจํากัด พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม)
และอนุมัติให้เข้าทําบันทึกความตกลงเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพัน (Non-Binding Memorandum of Understanding) (MOU) ระหว่างกัน เพื่อบันทึกความประสงค์ของคู่สัญญาในการพิจารณาและศึกษาการรวมธุรกิจระหว่าง True และ dtac เข้าด้วยกันด้วยวิธีการควบบริษัท (Amalgamation) รวมถึงกําหนดเงื่อนไขบังคับก่อนของการควบบริษัท ซึ่งรวมถึง (แต่ไม่จํากัดเพียง)
-True และ dtac ทําการตรวจสอบกิจการ (Due Diligence) ของอีกฝ่ายหนึ่งแล้วเสร็จเป็นที่พอใจ
-ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ True และ dtac ได้พิจารณาและมีมติอนุมัติการควบบริษัท
-True และ dtac สามารถดําเนินการให้เงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสําเร็จครบถ้วนตามที่ที่ประชุม, คณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ True และ dtac จะได้พิจารณากําหนดต่อไปในการพิจารณาอนุมัติการควบบริษัทและในการเข้าทําสัญญาควบรวมกิจการสําหรับการควบบริษัทระหว่าง True และ dtac
นอกจากนี้ ทั้ง 2 บริษัทได้พิจารณากําหนดอัตราการจัดสรรหุ้น (Swap Ratio) สําหรับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัท ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ True และผู้ถือหุ้นของ dtac ในอัตราส่วนดังนี้
1 หุ้นเดิมใน True ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่
1 หุ้นเดิมใน dtac ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่
โดยอัตราการจัดสรรหุ้นข้างต้น กําหนดขึ้นจากสมมุติฐานว่า ภายหลังการควบบริษัท
บริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจําหน่ายแล้วทั้งหมดจํานวน 138,208,403,204 หุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท
อย่างไรก็ตาม จํานวนหุ้นที่ออกและจําหน่ายแล้วทั้งหมดและมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นของบริษัทใหม่ภายหลังการควบบริษัท จะมีการเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของ True และ dtac พิจารณาอนุมัติตามขั้นตอนของการควบบริษัทต่อไป
ทั้งนี้ การควบบริษัทและการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ True และผู้ถือหุ้นของ dtac ตามอัตราการจัดสรรหุ้นดังกล่าวข้างต้น จะเกิดขึ้นต่อเมื่อ True และ dtac พิจารณาที่จะดําเนินการควบบริษัทต่อไปโดยได้รับการอนุมัติที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท
ตลอดจนสามารถดําเนินการให้เงื่อนไขและขั้นตอนตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทตามที่ กําหนดไว้ใน พ.ร.บ. บริษัทมหาชน, กฎหมาย และกฎเกณฑ์อื่น ๆ สําเร็จลงอย่างครบถ้วน
ในส่วนของความประสงค์ที่จะทําคําเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของ True และ dtac โดยสมัครใจแบบมีเงื่อนไขก่อนการทําคําเสนอซื้อ
จะมีราคาเสนอซื้อหุ้นของ True หุ้นละ 5.09 บาท
และจะมีราคาเสนอซื้อหุ้นของ dtac หุ้นละ 47.76 บาท
โดยการควบรวม 2 กิจการผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยอย่าง dtac และ True เข้าด้วยกัน
จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน, ลดต้นทุนการดำเนินงาน และทำให้เกิดการ Synergy ระหว่างธุรกิจ
ซึ่งดีลนี้ก็จะมีมูลค่ากว่า 250,000 ล้านบาท
และอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนตำแหน่งของผู้นำในตลาดโทรคมนาคมไทย
เพราะอย่างที่รู้กันว่า ปัจจุบัน AIS เป็นผู้นำอยู่
โดย AIS มีฐานผู้ใช้งานกว่า 43.7 ล้านเลขหมาย
ในขณะที่ True มีฐานผู้ใช้งานอยู่ 32.0 ล้านเลขหมาย
และ dtac มีฐานผู้ใช้งานอยู่ 19.3 ล้านเลขหมาย
ซึ่งหาก True และ dtac ควบรวมกิจการกัน ก็จะมีฐานผู้ใช้งานรวมกันคร่าว ๆ ถึง 51.3 ล้านเลขหมาย
ส่วนในแง่ของรายได้นั้น ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564
AIS มีรายได้อยู่ 132,020 ล้านบาท
ในขณะที่ True มีรายได้ 103,177 ล้านบาท
และ dtac มีรายได้ 59,855 ล้านบาท
หากรวมรายได้ของทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน จะมีรายได้ถึง 163,032 ล้านบาท
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.