KBank ไม่รอช้า บุกตลาดเวียดนาม เปิดสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์ มุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3

KBank ไม่รอช้า บุกตลาดเวียดนาม เปิดสาขาแรกที่นครโฮจิมินห์ มุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3

25 พ.ย. 2021
รู้หรือไม่ ? เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดสาขาแรกที่ประเทศเวียดนาม
แล้วก็นับได้ว่าเป็นสาขาที่ 10 ของ KBank ในต่างประเทศ
ความน่าสนใจมันอยู่ที่ว่า การเปิดสาขาเวียดนามในครั้งนี้
ถือว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของธนาคารกสิกรไทย
เพื่อที่จะก้าวไปสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3
หรือก็คือ กลุ่มอาเซียน รวมกับอีก 3 ประเทศอย่าง จีน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น
ซึ่งการเปิดสาขาในครั้งนี้ KBank ตั้งเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท
มียอดเงินฝาก 1,200 ล้านบาท ภายในปี 2565
และจะสามารถสร้างฐานลูกค้าได้มากกว่า 8 ล้านราย ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
แล้ว KBank เห็นโอกาสอะไรในประเทศเวียดนาม ?
ต้องบอกว่า เวียดนาม คือหนึ่งในประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ที่มีการเติบโตทาง GDP อย่างก้าวกระโดดในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา
ซึ่งจากข้อมูลของ World Bank จะพบว่า
GDP ของประเทศเวียดนามเติบโตเฉลี่ย 6-7% ต่อปี มาตั้งแต่ปี 2010-2019
ซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องที่ว่านี้ จะนำไปสู่การขยายเมือง การเติบโตของการบริโภคภายในประเทศ
และความต้องการในการกู้เงินเพื่อขยายธุรกิจ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เวียดนามเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่มีการเติบโตของ GDP ที่เป็นบวกในปี 2020
ในขณะที่ วิกฤติโควิด 19 ได้ชะลอการเติบโตของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย
แต่สำหรับ GDP ของประเทศเวียดนาม กลับเติบโตได้ 2.9% สวนทางกับหลาย ๆ ประเทศ
ทีนี้เรามาดู 3 ปัจจัยสนับสนุนในการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามกันบ้าง..
ปัจจัยแรกก็คือ จำนวนประชากรวัยแรงงานที่สูง
เวียดนามมีจำนวนประชากรที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคอาเซียน
จำนวนประชากรของเวียดนามในปี 2021 มีจำนวน 97.3 ล้านคน
ซึ่ง 74.1 ล้านคน หรือราว ๆ 76% ของประชากรทั้งประเทศ อยู่ในวัยทำงาน
พูดง่าย ๆ ว่าเวียดนามมีกำลังคนพอที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ยาวนานเลยทีเดียว
ปัจจัยที่สองคือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการเติบโต
จากข้อมูลของ Trading Economics พบว่า
ปี 2021 เวียดนามรองรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ Foreign Direct Investment (FDI) สูงถึง 500,000 ล้านบาท
สาเหตุสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเวียดนามเป็นพิเศษ
นั่นก็เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจเวียดนามมีความน่าสนใจซ่อนอยู่ไม่น้อย
เช่น ที่ตั้งของประเทศเวียดนาม ถือเป็นหนึ่งจุดศูนย์กลางสำคัญในด้านการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน
รวมทั้ง อัตราค่าแรงของประเทศเวียดนามยังอยู่ในระดับต่ำ อีกด้วย
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้หลายบริษัทต่างชาติอย่างเช่น Samsung, Nike และอื่น ๆ
ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเวียดนามได้อย่างไม่ยาก
ซึ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศนี้เอง
กำลังช่วยให้ประเทศเวียดนามกลายเป็น “ผู้ส่งออกสินค้าสำคัญ”
อย่างโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
และสำหรับปัจจัยสุดท้ายก็คือ การขยายเมืองอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของตัวเลข GDP
ผลจากการขยายเมือง และการขยายตัวของธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง (SME)
ส่งผลให้เกิดการกู้เงินในระบบจำนวนมาก เพื่อมาต่อยอดธุรกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
และด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้ธนาคารในประเทศเวียดนาม กลายมาอยู่ในหมวดธุรกิจที่มีการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค
โดยจากข้อมูลของ Statista ยังพบว่า
Return on Equity (ROE) หรือ กำไรต่อส่วนผู้ถือหุ้นของธนาคารเวียดนามสูงถึง 15-20%
ตัวเลขนี้ถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับธนาคารในภูมิภาค หรือธนาคารในประเทศไทย
แล้ว KBank มีกลยุทธ์ในการเจาะตลาดเวียดนามในครั้งนี้ อย่างไร ?
ในช่วงแรกของการเปิดสาขา จะเน้นไปที่ การปล่อยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (Corporate Lending) ให้แก่ลูกค้ารายใหญ่ในประเทศเวียดนาม (Local Large Corporate)
โดยการปล่อยสินเชื่อในครั้งนี้ จะมุ่งเป้าไปยังธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิต นิคมอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมการค้า และอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค
อีกทั้ง KBank ยังอยากที่จะเป็นสะพานเพื่อเชื่อมให้ธุรกิจจากประเทศไทย, จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ที่ต้องการขยายธุรกิจไปเวียดนาม เพื่อการค้าและการลงทุน อีกด้วย
โดยกลยุทธ์หลักในการขยายขีดความสามารถในการแข่งขัน จะเน้นการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลแบงกิ้งที่พัฒนาใช้ในระดับภูมิภาคของธนาคาร (Regional Digital Banking)
กลยุทธ์หลักอันแรกที่ KBank ใช้คือ การใช้ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลแบงกิ้ง เพื่อเข้าถึงลูกค้า
KBank ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้ง
จึงไม่ยากที่จะขยายการให้บริการถึงลูกค้าชาวเวียดนามที่มีสัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากถึง 70%
ด้วยการร่วมลงทุนของ KVision ที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาการบริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า
ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เงินฝาก และสินเชื่อบุคคลที่ตรงต่อความต้องการของคนในท้องถิ่น
และกลยุทธ์ที่สองคือ พันธมิตรเชิงธุรกิจที่มีศักยภาพ
กลยุทธ์นี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการขยายสาขาของ KBank
ที่น่าสนใจในขณะนี้ก็คือ KBank กำลังพูดคุยกับกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค) ระดับโลกที่สนใจที่จะลงทุนในเวียดนาม
เพื่อจะสร้าง Ecosystem ในการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้าที่ยังเข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน (Unbank) และกลุ่มประชากรวัยทำงานที่มีโอกาสเติบโต
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อย่าง IPOS VN., Haravan, KiotViet รวมถึง Sendo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก
พันธมิตรเหล่านี้จะเป็นประตูเชื่อมให้ KBank ส่งมอบบริการที่ตรงใจลูกค้าได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น
และสร้างโซลูชันทางการเงินสำหรับผู้ค้าออนไลน์
ส่งผลให้ ลูกค้าที่ใช้บริการกับพันธมิตรให้สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อทางธุรกิจได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วอีกด้วย
โดยในช่วงแรกที่บุกตลาดเวียดนาม KBank จะทยอยส่งมอบบริการทางการเงินในรูปแบบดิจิทัล ผ่านสินเชื่อดิจิทัล เจาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่มาใช้บริการขอเงินกู้ (KBank Biz Loan)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ร้านค้าออนไลน์ที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการต่อยอดธุรกิจ
ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาการผ่อนสินเชื่อได้สูงสุดถึง 36 เดือน
วงเงินกู้สูงสุดถึง 100 ล้านดงเวียดนาม หรือประมาณ 150,000 บาท
ด้วยดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 1.4% ต่อเดือน
โดยได้ตั้งเป้าสินเชื่อดิจิทัลนี้ไว้ที่ 1,500 ล้านบาท จากลูกค้า 25,000 ราย ภายในปี 2565
กลยุทธ์เหล่านี้ ถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของ KBank ในการรุกตลาดเวียดนาม เลยทีเดียว
คุณพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า
การเปิด KBank สาขาแรกที่โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม คือการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในธุรกรรมการเงินยุคใหม่ที่เป็นดิจิทัลแบงกิ้ง (Disruptive Banking / Digital Banking) ของธนาคารกสิกรไทย
เนื่องจากประชากรเวียดนามส่วนมากเป็นคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับโลกเทคโนโลยีเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ด้วย KBank เป็นผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้ง และยังมีพันธมิตรเชิงธุรกิจที่มีศักยภาพ
จึงเชื่อว่า KBank จะสามารถรุกตลาดเวียดนามจนประสบความสำเร็จได้
ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้ขยายกำลังคน เฟ้นหาทีมงาน เพื่อขยายธุรกิจไปยังประเทศเวียดนาม
โดยเปิดรับบุคลากรที่มีศักยภาพหลากหลายทักษะมากกว่า 500 ตำแหน่ง เข้ามาร่วมงานทั้งในประเทศไทย และทีมงานที่อยู่ประจำสาขานครโฮจิมินห์
อีกทั้ง ยังช่วยพัฒนาความสามารถในด้านต่าง ๆ ให้กับพนักงานปัจจุบันด้วยเช่นกัน
แล้วถ้าถามว่าปัจจุบันนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายการให้บริการในกลุ่มประเทศ AEC+3 และอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน ?
ก็ต้องตอบว่า ธนาคารกสิกรไทยมีพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก
มีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง
รองรับฐานลูกค้าในภูมิภาคมากกว่า 1.85 ล้านคน
มาถึงตรงนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การรุกตลาดเวียดนามอย่างเต็มตัวครั้งนี้ของ KBank
เป็นอีกก้าวสำคัญในการมุ่งสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างสมบูรณ์แบบ นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.