การเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัล สามารถปลดล็อกมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยต่อปี ได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030

การเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัล สามารถปลดล็อกมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยต่อปี ได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาท ภายในปี 2030

2 ธ.ค. 2021
Google เผยแพร่รายงานที่มีชื่อว่า “Unlocking Thailand’s Digital Potential” (การปลดล็อกศักยภาพทางดิจิทัลของประเทศไทย) ที่จัดทำโดย AlphaBeta
โดยรายงานฉบับนี้ระบุว่า การเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัล จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในปี 2030
หรือหากเทียบให้เห็นภาพชัดเจน มูลค่านี้จะเทียบเท่ากับประมาณ 16% ของ GDP ประเทศไทยในปี 2020
จากรายงานดังกล่าวคาดการณ์ว่า 65% ของโอกาสทางดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท น่าจะมาจากการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด
นอกจากนี้ การเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัล ยังมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถด้านการฟื้นตัวในระยะยาวของธุรกิจไทย
รายงานยังได้ระบุว่า อัตราการนำระบบดิจิทัลไปใช้ของธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทยยังคงต่ำอยู่ โดยมีสาเหตุมาจากการขาดแคลนทักษะดิจิทัล, ความรู้ด้านเทคโนโลยี และบัณฑิตด้านเทคโนโลยี
รวมทั้งต้นทุนที่สูงของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น เครือข่าย 5G
รายงานระบุ 3 เสาหลักของการดำเนินการสำหรับประเทศไทย ที่นำไปสู่การคว้าโอกาสทางดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งได้แก่ 1) การช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ นำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้งานได้ง่ายขึ้น
2) การปรับปรุงการฝึกอบรมทักษะและการศึกษาด้านระบบดิจิทัล
3) การพัฒนาสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การค้าดิจิทัล
แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า
“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้จะเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศไทย ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด แต่คนไทยก็ได้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง และคว้าโอกาสใหม่ ๆ โดยนำเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้
ทั้งนี้ Google ยังคงมุ่งมั่นในการช่วยให้ประเทศคว้าโอกาสทางดิจิทัลให้ได้อย่างเต็มศักยภาพ ผ่านโปรแกรมและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ของเรา”
จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฉบับล่าสุด (https://services.google.com/fh/files/misc/thailand_e_conomy_sea_2021_report.pdf)
ที่จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคนี้จะแตะ 33.8 ล้านล้านบาท ในปี 2030
สำหรับประเทศไทย คาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านบาท ในปี 2021 คิดเป็นอัตราการเติบโต 51% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีอีคอมเมิร์ซเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ
นอกจากนี้ ยังพบว่า 34% ของผู้ค้าดิจิทัลเชื่อว่า พวกเขาจะไม่สามารถผ่านวิกฤติครั้งใหญ่นี้ไปได้เลยหากไม่ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล
และการเปลี่ยนรูปแบบสู่ระบบดิจิทัล จะยังคงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปและเติบโตขึ้นได้
แจ็คกี้ กล่าวเสริมว่า “เราช่วยให้การนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้งานเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นด้วย Google Cloud และ Think with Google (https://www.thinkwithgoogle.com/intl/th-th/) ที่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ นำเครื่องมือดิจิทัลและข้อมูลเชิงลึกที่อิงจากข้อมูลจริง ไปพัฒนาบริการของตนเอง
ในส่วนของการพัฒนาการฝึกอบรมทักษะและการศึกษาด้านระบบดิจิทัล เราได้เปิดตัวโครงการ Saphan Digital (https://saphandigital.moc.go.th/) โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเสริมทักษะดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการ SME ไทย
รวมทั้งโปรแกรม Skillshop (https://skillshop.withgoogle.com/intl/th_ALL/)
ที่เป็น one-stop-shop สำหรับฝึกฝนการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ของ Google
และสำหรับการพัฒนาสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การค้าดิจิทัลระดับโลกนั้น เราได้เปิดตัวโครงการ Google for Startups Accelerator: Southeast Asia ที่ทำให้สตาร์ตอัปไทย สามารถเข้าถึงเครือข่ายระดับโลกของพาร์ตเนอร์ในอุตสาหกรรมเพื่อขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ
โดยทั้งหมดนี้เป็นความมุ่งมั่นของเราภายใต้พันธกิจ Leave no Thai behind”
Genevieve Lim ผู้บริหารของ AlphaBeta กล่าวว่า
“หากมีการนำไปใช้ประโยชน์กับเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ภายในปี 2030 เทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีได้ถึง 2.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเท่ากับประมาณ 16% ของ GDP ประเทศไทยในปี 2563
อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจก็คือภาคธุรกิจอันดับต้น ๆ อย่างค้าปลีก, งานบริการ และการผลิต สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างไร โดย 21% ของโอกาสทางเศรษฐกิจเป็นของภาคผู้บริโภค, ค้าปลีก และงานบริการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลของเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ภาคธุรกิจ ICT เท่านั้น”
สามารถดาวน์โหลดรายงาน Unlocking Thailand’s Digital Potential ฉบับเต็มได้ที่ > https://alphabeta.com/wp-content/uploads/2021/11/unlocking-thailands-digital-potential-th.pdf
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.