ทายาทรุ่น 2 วิยะเครป กับภารกิจปั้นแบรนด์ปูกระป๋องไทย ให้เป็นที่รู้จัก

ทายาทรุ่น 2 วิยะเครป กับภารกิจปั้นแบรนด์ปูกระป๋องไทย ให้เป็นที่รู้จัก

15 ก.พ. 2022
รู้หรือไม่ว่า เนื้อปูพาสเจอไรซ์บรรจุกระป๋อง แบรนด์สยามเครป (Siam Crab) เป็นแบรนด์ส่งออกที่ได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติมากกว่า 10 ปี แต่กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าคนไทย
นี่จึงเป็นภารกิจครั้งสำคัญของ คุณมาดิน๊ะ เล่าเจริญ วัย 25 ปี เธอเป็นลูกสาวของคุณสุวณีย์ ทิพย์หมัด ผู้ก่อตั้งแบรนด์สยามเครป ซึ่งเข้ามาช่วยดูแลด้านการบริหารธุรกิจ การตลาด และสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ในเครือทั้งหมด โดยเน้นไปที่ “สื่อโซเชียลมีเดีย” เป็นหลัก
หลังจากที่คุณมาดิน๊ะเรียนจบ เธอได้เข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจอย่างเต็มตัวเมื่อ 2 ปีก่อน
ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด 19 พอดี มีหลาย ๆ ธุรกิจล้มหายตายจาก เพราะพิษเศรษฐกิจ แต่สำหรับ บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด กลับไม่เป็นเช่นนั้น
เพราะคุณมาดิน๊ะ เชื่อว่าการใช้สื่อโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น TikTok, Facebook Fanpage และ Twitter คือการ “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส”
โดยคุณมาดิน๊ะ ได้สร้างตัวตนให้กับแบรนด์ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ไปพร้อม ๆ กับการขยายช่องทางการขาย ทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าคนไทยได้มากขึ้น
เช่น การเป็นผู้ริเริ่มทำกล่องสุ่มอาหารทะเล และไลฟ์สดขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
จากที่เริ่มไลฟ์สดขายปูกระป๋อง รวมถึงสินค้าในเครือ ในช่วงแรกมีคนดูเพียงหลักสิบเท่านั้น แต่คุณมาดิน๊ะก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ และยังคงไลฟ์สดอย่างสม่ำเสมอ
จนปัจจุบันหลังจากเกิดวิกฤตโควิด 19 คนนิยมสั่งของออนไลน์มากขึ้น
ทำให้ยอดคนดูไลฟ์สดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 7,000 คน และมีออร์เดอร์การสั่งขั้นต่ำ 200 ลัง สูงสุด 700-800 ลัง ต่อการไลฟ์สด 1 ครั้ง
ที่สำคัญคือ ชาวประมงก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย เพราะวิยะเครป มีการรับซื้ออาหารทะเลจากชาวประมง เพื่อนำมาต่อยอดเป็นกล่องสุ่มอาหารทะเล
จากแนวคิดและมุมมองที่มีต่อสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้เราเห็นได้ว่า พลังของคนรุ่นใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแพสชัน สามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างก้าวกระโดดทีเดียว
บวกกับความแข็งแกร่งของธุรกิจและความเชี่ยวชาญด้านการทำปูมากกว่า 30 ปี เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงทำให้ บริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด เป็นผู้นำด้านสินค้าปูพาสเจอไรซ์บรรจุกระป๋อง ที่โด่งดังในตลาดต่างประเทศ
โดยสัดส่วนการส่งออกปูบรรจุกระป๋องไปยังต่างประเทศ อยู่ที่ 70% ส่วนตลาดภายในประเทศ อยู่ที่ 30%
ที่น่าสนใจคือ สยามเครป (Siam Crab) เป็นแบรนด์แรก ๆ ที่สามารถส่งออกปูกระป๋องไปยังสหรัฐอเมริกา และตีตลาดยุโรปได้ ด้วยมาตรฐานการผลิต ความสดใหม่ และรสชาติที่หวานของเนื้อปู
หลังจากที่สยามเครป ประสบความสำเร็จในตลาดต่างประเทศ บริษัทได้มีการแตกแบรนด์สินค้ามากขึ้น นั่นคือ วิยะเครป (Viya Crab), สวัสดีเครป (Sawasdee Crab) และสมายเครป (Smile Crab)
สาเหตุที่ต้องแตกออกเป็นหลาย ๆ แบรนด์ ก็เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า และเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ใหม่ที่อยู่ในกลุ่มสินค้าเดียวกัน ให้มาแข่งกันเอง หรือที่เรียกว่า Fighting Brand นั่นเอง
อีกทั้งยังมีการแตกไลน์สินค้าแปรรูปอื่น ๆ เกี่ยวกับปู โดยใช้ประโยชน์จากเนื้อปูส่วนอื่น ๆ (นอกเหนือจาก กรรเชียงและก้าม ที่นำมาบรรจุกระป๋องและส่งออกได้)
นั่นคือ ส่วนนิ้ว ส่วนอก และส่วนเนื้อแตก นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำสินค้าแปรรูป เช่น จ๊อปู, ห่อหมกปู, ลูกชิ้นปู, ขนมจีบปู, น้ำพริกมันปู หรือแม้แต่สารสกัดกลิ่นปู
โดยสินค้าแปรรูปเหล่านี้ จะเริ่มทดลองตลาดในประเทศก่อน เมื่อได้รับผลตอบรับดี จึงกระจายไปยังประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน
นอกจากนั้น ยังเปิดร้านอาหาร “ชาวเลซีฟู้ดส์” ที่กรุงเทพฯ มี 3 สาขา คือ สาขาถนนเกษตร-นวมินทร์ สาขาห้างสรรพสินค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และสาขาร้านคิงคานิ ซึ่งเป็นร้านอาหารบุฟเฟต์ ย่านรามคำแหง อีกด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า ผลผลิตของปูบ้านเรามีมหาศาล จึงสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลาย
แต่จริง ๆ แล้ว ผลผลิตของปูนั้นมีจำกัด ไม่ได้มีผลผลิตตลอดทั้งปี ในบางช่วงหรือบางฤดู ปูก็ขาดแคลน
ยังไม่รวมปัญหาที่เกิดในระยะที่ปูฟักไข่ หรือที่เรียกว่า แม่ปูไข่นอกกระดอง
ปกติแม่ปู 1 ตัว จะสามารถให้ลูกปูได้ถึง 1 ล้านตัว
แต่สำหรับแม่ปูไข่นอกกระดอง หากชาวประมงเอาไปเพาะ ฟัก แล้วปล่อยลงทะเลเอง
โอกาสรอดของลูกปู จะเหลือแค่ 10% เท่านั้น
ดังนั้น วิยะเครป จึงก่อตั้ง “ธนาคารปูม้า” ขึ้นมาเพื่อรับซื้อแม่ปูไข่นอกกระดอง จากชาวประมง
หลังจากนั้นก็จะดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่การให้อาหาร ให้ออกซิเจน เพาะเลี้ยงจนแม่ปูผลัดไข่
และลูกปูเจริญเติบโตเข้าสู่ระยะ Young Crab ที่มีขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวจึงปล่อยลงสู่ทะเล
ซึ่งการก่อตั้งธนาคารปูม้า ทำให้ลูกปูที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเล มีอัตรารอดเพิ่มขึ้น 70-80% เลยทีเดียว
รวมถึงยังเป็นการเพิ่มปริมาณปูม้า ให้อยู่ในระบบนิเวศได้อย่างยั่งยืนและไม่สูญพันธุ์
ซึ่งจะเกิดประโยชน์เป็นวงจรหมุนเวียน กับทั้งชาวประมง และบริษัท วิยะเครป ด้วยเช่นกัน
จากเรื่องราวทั้งหมด ทำให้เราเห็นว่า วิยะเครป เป็นองค์กรที่ทำธุรกิจด้วยความใส่ใจ และตั้งใจให้เกิดความยั่งยืนทั้งในระบบนิเวศของปู รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีของชาวประมงในทะเลอ่าวไทย
นอกจากนั้น ยังเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า การสานต่อธุรกิจของครอบครัวผ่านคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทายาทรุ่นไหนก็ตาม หากมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ กล้าคิด และกล้าลงมือทำ ไม่ว่าวิกฤติไหนจะผ่านเข้ามา ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว
นี่จึงเป็นคำตอบแล้วว่า ทำไมบริษัท วิยะเครป โปรดักส์ จำกัด ถึงเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลในมิติ องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice) และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) จากเวที Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 17
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.