ประเมินวิกฤติยูเครน จับตามาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย กระทบส่งออกและการฟื้นตัวของไทย

ประเมินวิกฤติยูเครน จับตามาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย กระทบส่งออกและการฟื้นตัวของไทย

28 ก.พ. 2022
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า
ผลกระทบกับภาคการส่งออกของประเทศไทย จากสถานการณ์กองทัพรัสเซียเข้าโจมตียูเครน ขึ้นอยู่กับการขยายวงความรุนแรง และมาตรการตอบโต้โดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Economic Sanctions) จากนานาประเทศ
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยในขณะนี้คือ ราคาน้ำมัน
ยิ่งสถานการณ์มีความตึงเครียด ยิ่งส่งผลต่อต้นทุนพลังงาน ต้นทุนธุรกิจ ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ
ซึ่งเป็นด้านที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากที่สุด
ขณะที่ตลาดเงินตลาดทุนของไทยมีความผันผวนสูงขึ้น
ทำให้นักลงทุนอาจย้ายไปสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง
สำหรับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ของธนาคารกสิกรไทย ที่มีการค้าขายกับคู่ค้าในรัสเซียและยูเครน
ส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับการเกษตร อุปกรณ์ก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์
อย่างไรก็ตามมูลค่าการค้าขายกับคู่ค้าในรัสเซียและยูเครน มีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมด
โดยธนาคารได้ติดตามสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้คำแนะนำกับลูกค้าให้ระมัดระวังเรื่องการทำธุรกรรมการค้าต่างประเทศกับทั้ง 2 ประเทศในช่วงนี้ เนื่องจากสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอน
กรณีมีการนำเข้า-ส่งออก หรือธุรกรรมโอนเงินกับทั้ง 2 ประเทศ อาจมีความเสี่ยงได้รับเงินล่าช้า ทั้งกรณีคู่ค้าที่อยู่ในประเทศไทย รัสเซีย ยูเครน
สิ่งที่ต้องติดตามคือ สถานการณ์ดังกล่าวจะยกระดับความรุนแรงมากยิ่งขึ้นหรือไม่ รวมถึงประเด็นสำคัญคือ มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Economic Sanctions) จากประเทศต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้กับรัสเซีย
ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินของรัสเซีย และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานในยุโรป
รวมถึงสถาบันการเงินและภาคธุรกิจของยุโรปที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจในรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้การค้าระหว่างไทย-รัสเซีย-ยูเครน มีอุปสรรคในการทำธุรกรรมทางการเงิน
ทั้งการหาธนาคารรับรอง การเปิดบัญชีธุรกิจข้ามชาติ (แอล/ซี) การชำระเงิน การโอนเงินต่าง ๆ เป็นต้น
และหากสถานการณ์พลิกผันไปสู่สงครามที่ขยายวงกว้าง เศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะหดตัว และเกิดภาวะเงินเฟ้อในระดับสูงจากราคาพลังงานที่พุ่ง (Stagflation)
แต่เชื่อว่าหลายฝ่ายมีความพยายามที่จะเจรจาให้มีข้อยุติโดยเร็ว
ทั้งนี้ ในปี 2564 ไทยส่งออกไปรัสเซียมีมูลค่าประมาณ 1,028 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33,690 ล้านบาท)
เติบโตสูงถึง 42% โดยการส่งออกไปรัสเซียคิดเป็นสัดส่วนราว 0.4% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปตลาดโลก
ขณะที่สินค้าส่งออกหลักของไทยไปตลาดรัสเซีย ได้แก่
1)รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 10,520 ล้านบาท
2)ผลิตภัณฑ์ยาง 3,507 ล้านบาท
3)เครื่องจักรและส่วนประกอบ 1,770 ล้านบาท
4)ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 1,508 ล้านบาท
5)เม็ดพลาสติก 1,409 ล้านบาท
6)เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 1,409 ล้านบาท
7)อากาศยาน ยานอวกาศและส่วนประกอบ 1,376 ล้านบาท
8)ยางพารา 1,081 ล้านบาท
ซึ่งสินค้าเหล่านี้หลายรายการเป็นการส่งออกภายใต้สิทธิ GSP ที่ไทยได้รับจากกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช หรือ CIS (Commonwealth of Independent States มีสมาชิก 12 ประเทศ รวมรัสเซีย)
ส่วนยูเครนนั้น ในปี 2564 ไทยส่งออกไปเป็นมูลค่าประมาณ 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,424 ล้านบาท)
เติบโตสูง 35.7% เช่นกัน แต่สัดส่วนยังน้อยอยู่มาก
โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่
1)รถยนต์และชิ้นส่วน 1,081 ล้านบาท
2)ผลิตภัณฑ์ยาง 708 ล้านบาท
3)ผลไม้กระป๋องและแปรรูป 567 ล้านบาท
4)อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 295 ล้านบาท
5)เม็ดพลาสติก 275 ล้านบาท
6)เครื่องจักรและส่วนประกอบ 184 ล้านบาท
7)ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ 177 ล้านบาท
8)ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ 144 ล้านบาท
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.