เรียนรู้การตลาดฉบับ “เต่าบิน” ที่ทำให้หลายคน ถึงกับออกตามหาตู้

เรียนรู้การตลาดฉบับ “เต่าบิน” ที่ทำให้หลายคน ถึงกับออกตามหาตู้

5 เม.ย. 2022
หากพูดถึงกระแสเครื่องดื่มที่มาแรงมาก ๆ ในประเทศไทยช่วงปีที่ผ่าน ๆ มานี้
คงหนีไม่พ้น “ชานมไข่มุก” ที่ผุดขึ้นมาทั้งราคาถูก ราคาแพง จนมองไปทางไหนก็เจอ
หรืออีกอย่าง ก็น่าจะเป็นกระแสเครื่องดื่มกัญชง ที่ทำเอาเหล่าบริษัทใหญ่ ๆ ลงมาเล่นกันเพียบ
แต่เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีเครื่องดื่มแบรนด์หนึ่ง ที่ไม่ได้ขายชานมไข่มุก หรือเน้นขายเครื่องดื่มในกระแสเพียงอย่างเดียว
เพราะแบรนด์นี้ ขายเครื่องดื่ม (แทบ) ทุกอย่าง ผ่านตู้อัตโนมัติ
แต่มันกลับทำให้หลายคน ถึงกับต้องเซิร์ชหาโลเคชันใกล้บ้าน
เพื่อจะขอไปลองอุดหนุนเจ้าตู้เครื่องดื่มนี้ดูสักครั้ง..
ตู้เครื่องดื่มที่ว่า ก็คือ “เต่าบิน”
สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักตู้เต่าบิน อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ
เต่าบิน คือ “ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ” ที่สามารถทำเครื่องดื่มสด ๆ แก้วต่อแก้วได้กว่า 170 เมนู ในราคาเริ่มต้นเพียง 15 บาท/แก้ว
ทำให้เข้าถึงได้ง่าย และที่สำคัญคือ ตู้เต่าบินเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
ตัวอย่างเมนูยอดฮิต เช่น บ๊วยเย็น, โอริโอปั่นภูเขาไฟ, มัจฉะลาเต้เย็น, โกโก้เย็น, เป๊ปซี่ปั่น
และเมนูสุดแหวก ที่เพิ่งเป็นกระแสล่าสุดอย่าง โจ๊กถ้วย
ที่น่าสนใจคือ ถึงแม้ว่าเต่าบิน เพิ่งเปิดตัวมาได้เพียง 1 ปี
แต่ปัจจุบัน มีจำนวนตู้มากกว่า 800 ตู้ทั่วประเทศไทยแล้ว
และทางบริษัท ยังเคลมว่า ตู้เต่าบิน จะขยายกองทัพไปกว่า 20,000 ตู้ ภายใน 3 ปีต่อจากนี้..
ซึ่งมากกว่าจำนวนสาขาของ 7-Eleven ในประเทศไทยในปัจจุบัน ที่มีอยู่ประมาณ 13,134 สาขา
(โดย 7-Eleven ในไทย ขยายสาขาปีละประมาณ 700 กว่าสาขา)
พอเห็นแบบนี้ หลาย ๆ คนคงสงสัยแล้วว่า ใครคือเจ้าของตู้เต่าบิน ?
คำตอบก็คือ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หรือถ้าใครไม่คุ้นชื่อ บริษัทนี้ก็คือเจ้าของ “ตู้บุญเติม” สีส้ม ที่อยู่หน้าร้านสะดวกซื้อทั่วไทยนั่นเอง
นอกเหนือจากความน่าดึงดูดของตู้เต่าบิน ที่ดูน่าตื่นตาตื่นใจ
เต่าบินยังถึงกับกลายเป็นที่สนใจของสื่อต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเพจรีวิวอาหารใน Facebook และ Instagram, ช่อง YouTube ที่ทำคอนเทนต์รีวิวเต่าบิน
และแฮชแทก #ตู้เต่าบิน ใน Twitter ที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก
ซึ่งบางคน ก็ถึงกับประกาศตามหาตู้เต่าบินใน Twitter หรือบางคนก็โพสต์ว่า “ในที่สุดก็ได้กินเต่าบิน” ซึ่งล้วนแสดงถึงกระแสความฮอตของเต่าบินในตอนนี้
พอเห็นแบบนี้ หลาย ๆ คนคงเกิดความสงสัยเหมือนกันว่า
อะไรคือเบื้องหลังความสำเร็จในการตลาดของเต่าบิน ?
ถ้ามาวิเคราะห์ผ่านเครื่องมือการตลาด “4P”
ซึ่งได้แก่ Product (ผลิตภัณฑ์), Price (ราคา), Place (ช่องทางจัดจำหน่าย) และ Promotion (การส่งเสริมการขาย)
1. ความหลากหลายของเมนู (Product)
ถ้าหากเราพูดถึงร้านขายน้ำที่มีคนทำ เราคงจะไม่แปลกใจกับการมีเมนูให้เลือกเยอะ ๆ
แต่สำหรับตู้เต่าบินที่เป็นตู้คาเฟอัตโนมัติ แล้วสามารถทำได้มากกว่า 170 เมนู
นับเป็นเรื่องที่ใครฟังก็ต้องตื่นเต้น แล้วก็คงอยากสั่ง พลางคิดตามว่าข้างในนั้นมีระบบจัดการอย่างไร กับเมนูที่มากขนาดนี้
เพราะก็ต้องยอมรับกันตรง ๆ ว่าคาเฟ หรือร้านเครื่องดื่มส่วนใหญ่
น่าจะมีเมนูไม่ถึง 50 เมนูเลยด้วยซ้ำ..
ซึ่งในอนาคต เต่าบินก็น่าจะทำได้มากกว่าเครื่องดื่ม
เพราะอย่างล่าสุด ตู้เต่าบินที่ตึก Forth มีทดลองขายโจ๊กจริง ในราคา 25 บาทแล้ว..
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของรสชาติ ที่เหล่านักรีวิวบนโซเชียลมีเดียต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อยทุกเมนู”
พอเห็นกันแบบนี้ ก็ยิ่งทำให้หลายคนไม่ลังเลที่จะไปต่อคิวรอ
อย่างไรก็ดี ทางเต่าบินก็ดูจะคิดมาแล้ว ว่าถ้าหากมีเมนูให้เลือกเยอะเกินไป คนจะเลือกไม่ถูก
ดังนั้นเมนูของเต่าบิน จึงมาพร้อมกับหน้าเมนูแนะนำ ที่คอยแนะนำเมนูขายดี หรือเมนูใหม่ ๆ มาช่วยลูกค้าในการตัดสินใจด้วย
2. ราคาที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ (Price)
เต่าบิน มีราคาเริ่มต้นเพียง 15 บาท และเฉลี่ยอยู่ที่ 20-45 บาท/แก้วเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ถูกกว่าร้านคาเฟทั่วไปหลาย ๆ ร้าน
ด้วยราคากับคุณภาพที่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ใครหลาย ๆ คน ยอมไปต่อคิวรอเพื่อจะได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ที่จะได้ซื้อเครื่องดื่มจากตู้อัตโนมัติ
3. สถานที่ที่เข้าถึงได้ง่าย (Place)
ตู้เต่าบิน เลือกที่จะไปตั้งตามสถานที่ ที่มีคนชุกชุม เช่น สถานี BTS หรือบริเวณห้างสรรพสินค้า, ตึกสำนักงาน และใต้คอนโดมิเนียม
จึงทำให้กลุ่มเป้าหมายของเต่าบิน ที่เป็นคนวัยรุ่นและวัยทำงานนั้น “เข้าถึงได้ง่าย” ซื้อแล้วสามารถเดินทางต่อได้เลย
อีกทั้ง ถ้าหากใคร Add Line เต่าบิน ก็จะมีฟีเชอร์ให้ค้นหาได้ทันทีว่า เราอยู่ใกล้กับตู้เต่าบินตรงไหนบ้าง
4. ส่วนส่งเสริมการขาย (Promotion)
เต่าบิน ไม่เพียงแต่สะดวก หาเจอง่าย และราคาไม่แพงเท่านั้น แต่ยังคงคอนเซปต์ความเป็นคาเฟ ที่มีระบบสมาชิกเข้ามาช่วยในการส่งเสริมการขาย และสร้างความภักดีในระยะยาวด้วย
โดยเต่าบิน จะมีสมาชิกทั้งหมด 4 ระดับ ได้แก่ เต่าขี้อาย, เต่าเตาะแตะ, เต่าติดปีก และผู้เฒ่าเต่า
มีการเก็บข้อมูลสมาชิกด้วยการใช้เบอร์โทรศัพท์เพื่อความสะดวก ไม่ต้องลงทะเบียนให้ยุ่งยาก
นอกจากนี้ ในการสมัครสมาชิกครั้งแรก เต่าบินยังมีส่วนลดให้ 50% อีกด้วย
นอกจาก 4P ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เต่าบิน ยังได้รับอานิสงส์เต็ม ๆ จากสิ่งที่เรียกว่า eWOM (Electronic Word-of-mouth) หรือการบอกต่อ/รีวิว ผ่านทางโซเชียลมีเดีย จนเกิดเป็นกระแสออกไปตามหาตู้เต่าบินขึ้นมา
ซึ่งหากมองแค่ผิวเผิน เราอาจจะคิดว่านี่เป็นเพียงกระแสของการเปิดตัวช่วงแรก เหมือนกับร้านขนม หรือร้านชานมไต้หวันหลาย ๆ เจ้า ที่คนยอมต่อคิว เพราะเห่อของใหม่แค่เพียงช่วงแรก ๆ
แต่ถ้าหากว่ามองดี ๆ แล้ว เต่าบินมีอะไรที่ต่างออกไป
เพราะสำหรับธุรกิจที่ใช้ Machine ทุก ๆ คำสั่งซื้อที่เข้าระบบ จะถูกบันทึกไว้ทั้งหมด
ทำให้บริษัทรู้ได้ว่า พื้นที่ไหน คนชอบกินอะไรเป็นพิเศษ หรือพื้นที่ไหน เมนูไหนขายแทบไม่ได้
ซึ่งบางทีการเก็บข้อมูลลักษณะนี้ ร้านคาเฟหรือร้านกาแฟทั่วไป ที่มีเพียงไม่กี่สาขา หรือเป็นรายเล็ก ๆ อาจทำได้ยากกว่า
เทียบกับเต่าบินที่ตอนนี้สามารถเก็บข้อมูลได้จากตู้กว่า 800 ตู้ ที่อย่างน้อยใน 1 วัน ต้องขายได้ประมาณ 50 แก้ว/ตู้
แถมต่อไปก็มีแผนขยายจำนวนตู้เพิ่มอีกมากมาย ซึ่งก็หมายถึงจำนวนยอดขายและข้อมูลที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
อีกทั้ง บริษัทยังสามารถใช้ประโยชน์จากความเป็นไวรัล ด้วยการเก็บข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย หรือที่เรียกว่า “Social Listening” ทั้งบน Facebook, Instagram, Twitter, YouTube และอื่น ๆ
เพื่อดูว่าลูกค้าแต่ละคน เจอกับประสบการณ์อะไรบ้าง (Customer Journey) ในการใช้ตู้เต่าบิน แล้วนำไปปรับปรุงการให้บริการของตู้ให้ดีที่สุด
อย่างใน Facebook ของทางเต่าบิน หากมีลูกเพจเข้าไปคอมเมนต์ถึงปัญหาที่เกิดจากการใช้งาน ก็จะมีแอดมินคอยตอบ และแก้ไขปัญหาให้ทันที
สำหรับที่เล่ามา ก็คือตู้เต่าบินนั้น ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลอยู่เสมอ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงใจผู้บริโภคได้อีกมากในอนาคต
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ความน่าสนใจของเต่าบิน คือมันอาจไม่ได้จบลงแค่ที่ตู้คาเฟอัตโนมัติ
แต่อาจเป็นเจ้าของตู้ที่ขายทุกอย่างครอบจักรวาล
อย่างที่ประเทศญี่ปุ่นก็มีตู้ Yo-Kai Express ขายราเม็นแบบร้อน ๆ ออกมาให้กินแก้หนาว
ไม่แน่ว่าในอนาคต เต่าบินอาจแตกไลน์เป็นตู้ขายบะหมี่, ตู้ขายอาหารตามสั่ง
หรือตู้ขายอะไรสักอย่างที่เราไม่คิดว่า “ตู้อัตโนมัติ” จะทำได้..
อ้างอิง:
-https://www.tao/-bin.com
-https://bkklovehoro.com/ตู้กาแฟเต่าบิน-ราคาเท่าไหร่-แฟรนไชส์น่าลงทุนไหม/การเงินการลงทุน/
-https://www.forth.co.th/elementor-11593-2-2-12-3-2-3-2-3-8-2/
-https://www.facebook.com/termtemvending/?_rdc=2&_rdr
-https://www.facebook.com/TaoBinBeverage/
-https://prtimes.jp/main/html/rd/p/000000023.000067976.html
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.