“บาร์บีคิวพลาซ่า” ปิ้งย่างที่เกิดจากการมองเห็น “ความสุข”

“บาร์บีคิวพลาซ่า” ปิ้งย่างที่เกิดจากการมองเห็น “ความสุข”

22 มิ.ย. 2019
“บนโต๊ะอาหาร 1 มื้อมันสามารถทำให้ทุกคนมีความสุขและสนุกร่วมกันทั้งการปิ้ง ปรุงรสชาติ ซึ่งเมื่อ 32  ปีที่แล้ว รูปแบบการทานปิ้งย่างยังไม่แพร่หลาย”
คุณชูพงศ์ ชูพจน์เจริญ ผู้ก่อตั้ง บาร์บีคิวพลาซ่า เล่าถึงไอเดียที่ทำให้เขาตัดสินใจเปิดร้าน บาร์บีคิวพลาซ่า สาขาแรกที่ เซ็นทรัล ลาดพร้าว
โดยใช้คอนเซ็ปต์ ปิ้งย่างสไตล์มองโกเลียนผสมญี่ปุ่น ที่ตอนนั้นหน้าตากระทะจะเหมือนหมวกของทหารมองโกเลียสมัยโบราณ จากนั้นก็ให้ลูกค้านำสารพัดวัตถุดิบมาย่าง
แต่ที่สร้างชื่อความอร่อยจนลูกค้าติดใจก็คือ น้ำจิ้มสูตรเด็ดลับเฉพาะ ที่มีไม่กี่คนในบริษัทจะรู้ส่วนผสมที่ลงตัวที่สุดของน้ำจิ้มสูตรนี้
เมื่อเป็นสิ่งใหม่ในเวลานั้น แถมรสชาติอร่อยถูกปาก ทำให้สาขาแรกที่ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ลูกค้าเยอะทุกวัน ส่งผลให้ บาร์บีคิวพลาซ่า ค่อยๆ ขยายสาขาต่อเนื่องโดยเน้นพื้นที่ศูนย์การค้าเป็นหลัก
จนเมื่อเวลาผ่านไป 9 ปี ร้านอาหารในศูนย์การค้าเพิ่มจำนวนมากขึ้น และมีทั้งคู่แข่งโดยตรงอย่างร้านปิ้งย่าง “ไดโดมอน” รวมไปถึงร้านอาหารประเภทอื่นๆ
ซึ่งทุกร้านก็คือคู่แข่งที่แย่งยอดขายกับ บาร์บีคิวพลาซ่า บนสมรภูมิศูนย์การค้า
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ทำให้คุณชูพงศ์มองว่า หากอยู่เฉยๆ ไม่คิดสร้างแบรนด์ และสร้างความต่างให้คนจดจำ สุดท้าย บาร์บีคิวพลาซ่า อาจถูกหลงลืมไปได้ในที่สุด
“มังกร” สัตว์ฮีโร่ในตำนานของจีน จึงถูกนำมาดัดแปลงให้น่ารักดูเป็นมิตร แล้วนำมาวางประจำในทุกสาขา เป้าหมายก็เพื่อสร้างสัญลักษณ์ประจำร้าน “บาร์บีคิวพลาซ่า” ให้แตกต่างจากร้านอาหารอื่นๆ ในห้าง
และดูจะเป็นความสำเร็จเกินคาด เมื่อยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง พร้อมกับลูกค้าเริ่มเปลี่ยนชื่อร้านด้วยคำพูดฮิตว่า ไปกิน “บาร์บีก้อน” แทนที่จะพูด “บาร์บีคิวพลาซ่า”
มาถึงตรงนี้ ดูเหมือนเส้นทางบนธุรกิจเตาปิ้งย่างของ “บาร์บีคิวพลาซ่า” จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ
แต่ธุรกิจใดก็ตามหากมีใครคนหนึ่งประสบความสำเร็จ ก็จะมีอีกหลายคนเดินตามมา ทำให้เริ่มมีร้านอาหารปิ้งย่างใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย
และเมื่อ 1 ธุรกิจมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น สิ่งที่หนีไม่ได้ ก็คือการแข่งขันเรื่องราคา ทำให้ในช่วงเวลาหนึ่งเราได้โปรโมชันในร้านปิ้งย่าง ทั้งมา 4 จ่าย 3 หรือแม้แต่ มา 3 จ่าย 2 ก็มีให้เห็นมาแล้วมากมาย
ปรากฏการณ์นี้ย่อมทำให้ บาร์บีคิวพลาซ่า เสียยอดขายไปไม่มากก็น้อย
แล้วถ้าคุณเป็นเจ้าของร้านจะแก้เกม Price war ที่เกิดขึ้นอย่างไร
หลายคนอาจมองว่าในเมื่อคู่แข่งเล่นเกมราคา ก็ต้องสวนกลับด้วยเกมราคารุนแรง แต่ บาร์บีคิว พลาซ่า กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น ถึงจะมีโปรโมชันบ้าง แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาในธุรกิจอาหาร
และก็ไม่ได้ลดราคารุนแรงเหมือนอย่างคู่แข่ง
ทางที่ถูกเลือกก็คือ “รีแบรนด์” ใหม่หมดในปี 2559 พร้อมกับเปลี่ยนธุรกิจจากเดิมคือ “ธุรกิจครอบครัว” มาเป็น “ธุรกิจที่บริหารในรูปแบบบริษัทเต็มตัว”
ไม่ใช่แค่นั้นแต่ยังเปลี่ยนวิธีคิดในการทำธุรกิจ “ต่อไปนี้จะไม่ขายอาหารอย่างเดียว แต่จะขายความสุข”
การปรับเปลี่ยนครั้งนั้นทำให้เราได้เห็น บาร์บีก้อน ที่แต่งตัวหล่อขึ้น พนักงานที่ให้บริการโดยส่งมอบความสุขให้ลูกค้า รวมไปถึง  Branding ที่ดูสดใหม่ สนุกมากขึ้นกว่าในอดีต
ที่น่าสนใจในเกมราคาร้านปิ้งย่างครั้งนั้น ได้ทำให้บางร้านถึงกับขาดทุนหนักจนต้อง “ปิดกิจการ” หรือต้องเปลี่ยนมือเจ้าของอย่างเช่น ร้าน “มิยาบิ” ที่ถูกกลุ่ม NPPG ซื้อกิจการไป เป็นต้น
เรื่องราวของ “บาร์บีคิวพลาซ่า” จึงนับเป็น Case Study ในธุรกิจร้านอาหารที่น่าสนใจไม่น้อย
เพราะจากจุดเริ่มต้นธุรกิจด้วยการมองเห็นความสุขในการทานอาหาร 1 มื้อ และเมื่อถึงเวลาที่ตัวเองต้องปรับตัว ในวันที่คู่แข่งในธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
ยังเลือกใช้จุดเริ่มต้นของธุรกิจก็คือ “ความสุข ลูกค้า” เพียงแค่นำมาปรับเปลี่ยนวิธีคิดการทำธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัย
ปิดท้ายข้อมูลที่น่าสนใจ ปัจจุบัน บริษัท เดอะ บาร์บีคิวพลาซ่า จำกัด เปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด และมี 5 แบรนด์ร้านอาหาร โดยร้านที่มีรายได้สูงสุดของบริษัทคือ  บาร์บีคิว พลาซ่า มี 150 สาขาในไทย มีรายได้ในปี 2018 ที่ผ่านมา 3,800 ล้านบาท
ส่วนความเคลื่อนไหวล่าสุด  บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ได้ซื้อกิจการร้านอาหารเกาหลี Red Sun ที่มี 12 สาขาในประเทศไทย จนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 74% โดยดีลนี้   ฟู้ดแพชชั่น ยังมีสิทธิการขายแฟรนไชส์ร้าน Red Sun ในต่างประเทศทั่วโลก ยกเว้น เกาหลี, จีน และ กัมพูชา
--------------------------------------------------------------------------------------------------
References :  บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.