ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในแถบอาเซียน

ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในแถบอาเซียน

24 มิ.ย. 2019
ประเทศไทยมีจุดเด่นเรื่องการท่องเที่ยว และเป็นที่หมายปองของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง
ปี 2560 มีจำนวน 35 ล้านคน สร้างรายได้ 1.8 ล้านล้านบาท
ปี 2561 มีจำนวน 38 ล้านคน สร้างรายได้ 2 ล้านล้านบาท
แต่จริงๆ แล้ว ยังมีอีกอุตสาหกรรมที่ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
และอุตสาหกรรมนี้ยังได้ประโยชน์จากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย
อุตสาหกรรมนี้คือ Medical tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
โดยคาดว่าปี 2561 มีผู้ป่วยต่างชาติมาใช้บริการ 3.4 ล้านครั้ง สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 1 แสนล้านบาท
การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ คือการที่ผู้ป่วยชาวต่างชาติเดินทางมารักษาตัวในโรงพยาบาลของประเทศไทย พร้อมกับท่องเที่ยวไปในตัว
จุดเริ่มต้นเป็นปี 2547 ที่รัฐบาลไทยได้พยายามผลักดันในเรื่อง Medical Tourism
จนทำให้ไทยได้เป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์ในอาเซียน หรือ Medical Hub ในปี 2557 แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างสิงคโปร์ไปได้ (อ้างอิงนิตยสาร Forbes)
ทำให้ธุรกิจต่างๆ อย่าง ธุรกิจสปา แพทย์แผนไทย โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนได้รับประโยชน์
มีผู้ป่วยต่างชาตินิยมเข้ามารักษาตัวในประเทศไทย 
โดย 5 อันดับแรกคือ กลุ่มตะวันออกกลาง 12.5% เมียนมา 8.7% สหรัฐฯ 6.2% สหราชอาณาจักร 5% และญี่ปุ่น 4.9%
เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย มีคุณภาพการบริการที่ดี 
และมีค่าบริการรักษาพยาบาลที่ถูกกว่าประเทศอื่นมาก ในระดับคุณภาพพอๆ กัน
ที่สำคัญบุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีทักษะและ ความสามารถเทียบเท่าประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สิงคโปร์, ญี่ปุ่น และประเทศแถบยุโรป
โดยในประเทศไทยมีจำนวนโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI คือ โรงพยาบาลที่มีความเป็นเลิศในทุกมาตรฐาน เป็นจำนวน 64 โรงพยาบาล ครอบคลุมหลายจังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในอาเซียน และอันดับ 4 ของโลก
เรื่องทั้งหมดนี้ เลยทำให้ผู้ป่วยต่างชาติต้องการเข้ามารักษาตัวในไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะชาวจีน ที่ในช่วงที่ผ่านมา มีความสนใจเข้ามาใช้บริการมากขึ้น
เพราะว่าประเทศจีนมีแพทย์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ
และยังมีระยะเวลาการรอคิวเข้ารักษาที่นานกว่าประเทศไทย
เรื่องยังไม่จบเท่านี้
บริษัทเทคโนโลยีอย่าง Airbnb และ Hotels.com ก็เข้ามาร่วมวงด้วย 
โดยเพิ่มบริการที่ช่วยค้นหาโรงพยาบาล และจัดหาที่พักอาศัยให้สำหรับผู้ป่วยต่างชาติโดยเฉพาะ
เราลองมาดูตัวอย่างผลประกอบการของโรงพยาบาลที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS
เป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัทมีโรงพยาบาลในเครือมากมาย 
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ, สมิติเวช, บีเอ็นเอช, พญาไท, เปาโล และรอยัล 
โรงพยาบาลรวมทั้งหมด 46 แห่ง มี 8,011 เตียง โดยมีสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติคิดเป็น 30%
ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 407,393 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 70,496 ล้านบาท กำไร 8,386 ล้านบาท
ปี 2560 มีรายได้ 77,137 ล้านบาท กำไร 10,216 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 81,097 ล้านบาท กำไร 9,191 ล้านบาท
บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH
ถือเป็นโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศไทย 
มี 580 เตียง โดยสัดส่วนรายได้มากถึง 66% เป็นของผู้ป่วยต่างชาติ
ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 124,632 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้ 18,128 ล้านบาท กำไร 3,626 ล้านบาท
ปี 2560 มีรายได้ 18,530 ล้านบาท กำไร 3,944 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 18,541 ล้านบาท กำไร 4,152 ล้านบาท
จะเห็นว่าผู้ป่วยต่างชาติมีความสำคัญต่อรายได้ของโรงพยาบาลเหล่านี้พอสมควร
ดังนั้นด้วยชื่อเสียงของโรงพยาบาลเอกชนไทยที่ต่างชาติยอมรับ บวกกับแนมโน้มสังคมผู้สูงอายุ
โรงพยาบาลคงสามารถเติบโตได้อีก และเติบโตไปพร้อมๆ กับอุตสากรรมการท่องเที่ยวของไทย
สรุปแล้วประเทศไทยก็มีเรื่องดี ที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกเหมือนกัน โดยเฉพาะวงการแพทย์
ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เพราะเด็กหัวกะทิของประเทศ 
ต่างนิยมเลือกเรียนแพทย์เป็นอันดับแรก..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.