เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เดินเกมรุก ลงทุนอัปเกรดและขยายโรงภาพยนตร์ หลังอุตสาหกรรมฟื้นกลับเป็นปกติ เม็ดเงินโฆษณาพุ่ง

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เดินเกมรุก ลงทุนอัปเกรดและขยายโรงภาพยนตร์ หลังอุตสาหกรรมฟื้นกลับเป็นปกติ เม็ดเงินโฆษณาพุ่ง

25 พ.ค. 2022
ย้อนกลับไปช่วงเกิดวิกฤติโควิด 19 ที่เป็นดั่งฝันร้ายของหลาย ๆ ธุรกิจ
หนึ่งในธุรกิจที่โดนซัดไปเต็ม ๆ และเจ็บหนัก ก็คือ “โรงภาพยนตร์”
ทั้งจากมาตรการล็อกดาวน์ จนโรงภาพยนตร์ต้องถูกปิดชั่วคราว แต่พอกลับมาเปิดให้บริการ ก็ต้องเผชิญกับข้อบังคับที่เข้มงวด เช่น ที่นั่งต้องเว้นระยะห่าง, จำกัดจำนวนผู้ชม
รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หันมาเสพคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิงกันมากขึ้น
เพราะต้องกักตัวอยู่บ้าน แถมผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสตรีมมิงเหล่านี้ยังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ลงทุนมหาศาลไปกับการสร้างคอนเทนต์เพื่อดึงดูดเวลาของผู้บริโภค
คู่แข่งและความท้าทายต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาใส่อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์นี้
ทำให้บางคนอาจคิดว่า หรือธุรกิจโรงภาพยนตร์ กำลังจะตาย ?
แต่ตอนนี้เราคงได้คำตอบที่ชัดเจนแล้วว่า
วิกฤติที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ เป็นเพียงเรื่อง “ชั่วคราว”
เพราะถึงแม้ว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิง จะตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบาย
แต่ประสบการณ์ความบันเทิงจากโรงภาพยนตร์ ยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจทดแทนได้
และเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยังโหยหาอยู่..
เห็นได้ชัดจากตอนนี้ ที่ผู้คนเริ่มกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ
การทำกิจกรรมความบันเทิงนอกบ้าน เช่น เดินศูนย์การค้า, เข้าร้านอาหาร รวมถึงดูหนังในโรงภาพยนตร์ ก็กลับมาคึกคักอีกครั้ง
ซึ่งสัญญาณการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์นี้ กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในสหรัฐฯ, ยุโรป และไทย
สำหรับในไทย หนึ่งในตัวเลขที่สะท้อนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจน
ก็คือผลประกอบการของ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR
เพราะถือเป็นเจ้าตลาดโรงภาพยนตร์ ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากที่สุดในประเทศ
ไตรมาส 1 ปี 2564
มีรายได้ 853 ล้านบาท ขาดทุน 120 ล้านบาท
ไตรมาส 1 ปี 2565
มีรายได้ 1,129 ล้านบาท กำไร 24 ล้านบาท
จากตัวเลขผลประกอบการดังกล่าว จะเห็นว่า MAJOR ฟื้นตัวจากสถานการณ์อันท้าทายอย่างแข็งแกร่งและรวดเร็ว ด้วยจำนวนผู้เข้าชมที่เพิ่มขึ้น เพราะผู้คนเริ่มมั่นใจที่จะเข้าไปใช้บริการกันมากขึ้น
ประกอบกับการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายป๊อปคอร์นและเครื่องดื่ม นอกเหนือจากหน้าบริเวณโรงภาพยนตร์ เช่น ผ่าน Food Delivery และ Shopee ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี
ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 275 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 32%
และมีกำไรเพิ่มขึ้น 144 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ส่วนในไตรมาสที่เหลือของปีนี้ ก็คาดว่าผลประกอบการของ MAJOR จะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เนื่องจากมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากฝั่งฮอลลีวูด จ่อเข้าฉายเป็นจำนวนมาก
และผู้คนโหยหาอยากที่จะทำกิจกรรมนอกบ้าน และกลับมาใช้ชีวิตปกติกันมากขึ้น
อย่างต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เรียกได้ว่าโรงภาพยนตร์ของ MAJOR มีบรรยากาศอันคึกคัก เต็มไปด้วยเหล่าคอหนัง และหลาย ๆ รอบฉาย ที่นั่งก็ถูกจองล่วงหน้ากันจนเต็ม..
หลังจากภาพยนตร์สุดยิ่งใหญ่แห่งปีอย่าง Dr. Strange and the Multiverse of Madness เข้าฉายไป
โดย Box Office เปิดเผยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ สามารถทำรายได้รวมใน 2 สัปดาห์แรก
ไปกว่า 291.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (10,200 ล้านบาท) ในสหรัฐอเมริกา
และทำรายได้รวมทั่วโลก อยู่ที่ 688 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (23,900 ล้านบาท)
ส่วนในประเทศไทย ขณะนี้ทำรายได้รวมทั่วประเทศกว่า 337.2 ล้านบาท จากการเข้าฉาย 19 วัน
ซึ่งหลังจากนี้ ก็จะมีภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ที่คอหนังจำนวนมากต่างรอคอย เตรียมเข้าฉายอีกอย่างต่อเนื่อง
ทั้ง “Top Gun Maverick” (25 พ.ค.) ตามด้วย “Jurassic World Dominion” (8 มิ.ย.)
รวมถึง “Thor: Love and Thunder” (6 ก.ค.) Black Panther : Wakanda Forever (10 พ.ย.) และ “Avatar The Way Of Water” (15 ธ.ค.)
เห็นรายชื่อภาพยนตร์แล้ว เรียกได้ว่าจัดเต็ม
และคงมีหลาย ๆ เรื่องที่สร้างรายได้และแทรฟฟิกมหาศาลให้กับโรงภาพยนตร์
นอกจากนี้ การที่อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์เริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติแล้วนั้น
ยังทำให้เม็ดเงินโฆษณา หลั่งไหลเข้ามาสู่โรงภาพยนตร์ เป็นเงาตามตัวอีกด้วย
โดยในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ปี 2565
ในภาพรวมอุตสาหกรรม มีการใช้เม็ดเงินลงโฆษณาไปกับโรงภาพยนตร์ ประมาณ 1,736 ล้านบาท
เติบโตขึ้น 43.71% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ซึ่งถือว่าเป็นประเภทสื่อ ที่มีอัตราการฟื้นตัวและการเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาสูงที่สุด
สะท้อนให้เห็นว่า แบรนด์สินค้าต่าง ๆ เริ่มกลับมาสนใจทำกิจกรรมทางการตลาด ร่วมกับโรงภาพยนตร์ นั่นเอง
ด้วยสัญญาณเชิงบวกเหล่านี้เอง ทำให้ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์อย่าง MAJOR หันมาใช้กลยุทธ์เชิงรุก
เดินหน้าลงทุนอัปเกรด และขยายโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง
เพื่อเสริมแกร่งธุรกิจ, เพิ่มอรรถรสและประสบการณ์การรับชมของลูกค้า
รวมถึงดึงดูดคอหนัง ให้กลับมามากขึ้นอีกครั้ง
เพื่อต้อนรับกระแสหนังดังที่เตรียมเข้าฉาย และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ฟื้นตัว
ไม่ว่าจะเป็นการ
- เปิดสาขาใหม่ “จันทบุรี ซีนีเพล็กซ์” ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 ที่เซ็นทรัล จันทบุรี
- เปิดโรงภาพยนตร์ IMAX สาขาใหม่ ที่เมกา ซีนีเพล็กซ์ ณ ศูนย์การค้าเมกาบางนา
ทำให้ตอนนี้ MAJOR มีโรงภาพยนตร์ IMAX มากถึง 7 แห่ง
- นำเข้านวัตกรรมระบบการฉายภาพยนตร์ “IMAX Laser” มาฉายในไทย นำร่อง 3 สาขา
ได้แก่ สาขา พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ,ไอคอน ซีเนคอนิค และเมกา ซีนีเพล็กซ์
โดย IMAX Laser เป็นระบบการฉายภาพยนตร์ ที่ผสมผสานการฉายภาพด้วยเลเซอร์ระดับ 4K ที่จะมอบรายละเอียดภาพที่ละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม โทนสีของภาพที่มีแสงสว่างและคอนทราสต์ที่ลึกกว่า
กับระบบเสียงที่ได้รับการปรับปรุงให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ในการรับชมภาพยนตร์ระดับพรีเมียม
มองเห็นภาพขนาดใหญ่ และฟังเสียงได้ชัดเจนเหมือนกันทุกที่นั่ง
- เปิดโรงภาพยนตร์ ScreenX เพิ่มอีก 1 แห่ง ที่พารากอน ซีนีเพล็กซ์
บนหน้าจอ ScreenX ขนาด 20 เมตร ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยโรงภาพยนตร์ ScreenX คือ รูปแบบโรงภาพยนตร์แบบแรกของโลก ที่ใช้ระบบการฉาย 3 ทิศทาง เพื่อให้มุมมองภาพ 270 องศา ทำให้ผู้ชมดื่มด่ำไปกับการดูแบบเต็มอรรถรส สมจริงเสมือนเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ของภาพยนตร์เรื่องนั้น ๆ
- รีโนเวตโฉมใหม่ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สุขุมวิท-เอกมัย” พร้อมเปิดพฤษภาคมนี้
- เดินหน้าทยอยอัปเกรดเครื่องฉายเป็นระบบ Laserplex ในโรงภาพยนตร์ปกติ
รวมถึงการเป็นเจ้าภาพงาน CineAsia 2022 ในวันที่ 5 – 8 ธันวาคม 2565 ที่ ไอคอนสยาม
นอกจากการอัปเกรดและขยายโรงภาพยนตร์แล้ว
ที่น่าสนใจคือ ทาง MAJOR ยังมีแผนต่อยอดธุรกิจ
ด้วยการเตรียมนำสินค้าไฮไลต์ ที่ขึ้นชื่อของบริษัทอย่าง “ป๊อปคอร์น”
เข้าไปวางจำหน่ายตาม 7-Eleven ทั่วประเทศ กว่า 12,000 สาขา อีกด้วย..
และจะขยายช่องทางการจัดจำหน่ายไปสู่โมเดิร์นเทรด และร้านสะดวกซื้ออื่น ๆ ต่อไป
ซึ่งจะกลายเป็นอีกแหล่งช่องทางสร้างรายได้ใหม่ ที่มีศักยภาพของ MAJOR ในอนาคต..
สรุปแล้ว ทั้งวิถีชีวิตของผู้คนที่กำลังกลับมาเป็นปกติ กิจกรรมนอกบ้านกลับมาคึกคักขึ้น
ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ ที่จ่อคิวเข้าฉาย
และการมองหาช่องทางขยายธุรกิจอยู่เสมอ
คงส่งผลให้ช่วงเวลาที่เหลือในปีนี้ของ MAJOR และอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ มีแนวโน้มที่สดใสขึ้น..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.