รถไฟความเร็วสูง คู่แข่งคนใหม่ของ วินรถตู้ ในอนาคต

รถไฟความเร็วสูง คู่แข่งคนใหม่ของ วินรถตู้ ในอนาคต

26 พ.ย. 2019
การแข่งขันด้านราคา อย่างไม่มีใครยอมใครของ “สายการบินโลว์คอสต์”
ไม่ใช่แค่ทำให้ตัวเองมีกำไรน้อยลง อย่างเดียว
แต่..ได้ทำให้ธุรกิจรถทัวร์ ได้ผลกระทบรายได้ลดน้อยลง
บางรายถึงกับขาดทุนต่อเนื่อง จนต้องปิดกิจการไปในที่สุด
เพราะ ณ วันนี้หากเราเดินทางจาก กรุงเทพ - เชียงใหม่ หรือจังหวัดที่ไกลๆ
ค่าโดยสารสายการบินโลว์คอสต์ที่มีราคาแพงกว่ารถทัวร์เพียงนิดหน่อย
แต่.. แลกกับการถึงที่หมายได้เร็วกว่ามาก
ย่อมทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลือกโดยสารเครื่องบินแทนรถทัวร์
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ เลยทำให้จำนวนคนโดยสารรถทัวร์ กำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปี 2556 มีผู้ใช้บริการรถ บขส. 9.6 ล้านคน
ปี 2561 มีผู้ใช้บริการรถ บขส.ไม่ถึง 6 ล้านคน
จะเห็นว่าจำนวนคนใช้รถทัวร์ของ บขส. ลดลงชัดเจน
แน่นอนคนใช้บริการรถทัวร์เอกชนก็ย่อมน้อยลงด้วยเช่นกัน
เป็นผลให้เจ้าของรถทัวร์หลายแห่งต้องลดเที่ยววิ่งลงมากกว่า 40%
เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่น้อยลง และควบคุมต้นทุนการทำธุรกิจ
และหากสายการบินโลว์คอสต์ คือผู้แย่งชิงลูกค้าที่เดินทางระยะไกลไปจากอ้อมกอดผู้ประกอบการรถทัวร์ จนทำให้หลายรายกำลังตกอยู่ในที่นั่งลำบาก
รถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า ที่วิ่งตั้งแต่ บางซื่อ - โคราช ที่รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน
และรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งจากสนามบินดอนเมืองถึงสนามบินอู่ตะเภา ที่กลุ่มเอกชนร่วมกันลงทุน
ก็น่าจะทำให้รถตู้ได้รับผลกระทบมากพอสมควร
เพราะเส้นทางรถตู้นั้นจะเน้นในจังหวัดที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก
ซึ่งมีหลายเส้นทางเลยทีเดียว ที่วิ่งทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูง
ยกตัวอย่างเช่น หากเราอยู่กรุงเทพฯ และจะเดินทางไป
อยุธยา, สระบุรี, ปากช่อง, โคราช
แต่เดิม.. อาจจะนั่งวินรถตู้ ที่ต้องเสียเวลาบนรถนานถึง 1.30 - 4 ชั่วโมง
แต่เมื่อมีรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เราจะใช้เวลาเดินทางแค่ 20 นาที - 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม.. เราก็คงต้องรอดูว่าเมื่อรถไฟความเร็วสูงเปิดให้บริการ
ทั้งสองสายในเส้นทาง กรุงเทพ - โคราช และเส้นทาง กรุงเทพ - สนามบินอู่ตะเภา
จะมีอัตราค่าบริการราคาเท่าไร
หากไม่ได้แพงกว่ามากนักเมื่อเทียบกับเรตราคารถตู้ที่อยู่ระหว่าง 90 - 250 บาทในเส้นทางเหล่านี้
ในอีก 4 ปีข้างหน้ารถตู้ก็อาจจะต้องสูญเสียลูกค้าไปไม่ใช่น้อย
กับการวิ่งรถที่มีเส้นทางทับซ้อนกับรถไฟฟ้าความเร็วสูง
แต่...ก่อนจะไปถึงเวลานั้น เจ้าของวินรถตู้ ต้องพบเจอกับความท้าทายในเรื่องต้องเปลี่ยนรถเป็นแบบมินิบัส
เพราะกฎหมายกำหนดให้รถตู้สาธารณะเดิมถ้ามีอายุการใช้งาน 10 ปี ต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส
และตอนนี้กระทรวงคมนาคม กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาเปลี่ยนกฎใหม่
ให้ยืดเวลารถตู้จาก 10 ปีเป็น 12 ปี แล้วค่อยเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส
โดยให้เหตุผลว่า หากรถตู้ในกรุงเทพฯ ที่มีมากกว่า 4,000 คัน
ต้องเปลี่ยนเป็นรถมินิบัสที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมทั้งหมดในอนาคต
จะมีผลให้การจราจรในกรุงเทพฯ วิกฤติมากขึ้นกว่าเดิม
ซึ่งกฎดังกล่าวก็มีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เพราะจริงๆ แล้วรถตู้
ไม่ใช่รถที่ถูกออกแบบมาเพื่อ 'ขนส่งสาธารณะ' และบ่อยครั้งที่เกิดอุบัติเหตุ
ซึ่งรัฐบาลควรบังคับเปลี่ยนมาเป็นรถมินิบัสทั้งหมดทุกคัน
คงต้องติดตามดูกันต่อไปว่าบทสรุปเรื่องนี้ผลลัพธ์จะเป็นเช่นไร
แต่ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ หรือรถมินิบัส
เมื่อรถไฟความเร็วสูงออกสตาร์ตทำงานเมื่อไร
ผู้ประกอบการก็ต้องคิดหาวิธี ปรับตัว เพื่อความอยู่รอด ในเวลานั้น
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.