ขยะอาหารเดลิเวอรี่ 560 ล้านชิ้นในปีนี้ ฟู้ดแพชชั่น จึงขอ Food Delivery สไตล์รักษ์โลก

ขยะอาหารเดลิเวอรี่ 560 ล้านชิ้นในปีนี้ ฟู้ดแพชชั่น จึงขอ Food Delivery สไตล์รักษ์โลก

29 พ.ย. 2019
ต้องบอกว่าเป็นปีที่ธุรกิจร้านอาหารกำลังปรับตัว
เพื่อให้เข้ากับยุค App Food Delivery ครองเมือง
บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
ได้รวม 7 แบรนด์ร้านอาหารมาอยู่ใน App เดียวอย่าง 1112 Delivery
พร้อมกับให้พนักงานส่งกว่า 3,000 คนทั่วประเทศบุกตลาด Delivery อย่างเต็มสูบ
CRG เตรียมเปิด Cloud kitchen ที่ร่วมหลายแบรนด์มาประกอบอาหารในครัวเดียวกัน
เพื่อปรุงเมนูอาหารตามออเดอร์ลูกค้าที่สั่งกับบรรดา App Food Delivery
จนมาถึง ฟู้ดแพชชั่น เจ้าของแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่าและแบรนด์อาหารอื่นๆในเครือ
ก็กำลัง “ปรับตัว” ด้วยการครีเอทโมเดลบริการจัดส่งอาหารในเครือฟู้ดแพชชั่น ทั้งหมด
ภายใต้แนวคิด “Wasteless Delivery” ลดขยะ Single-use plastics
แล้วแนวคิดนี้ ฟู้ดแพชชั่น ไม่ได้มาคนเดียวแต่เลือกจะจับมือกับ 3 พันธมิตร Duni - โครงการวน - GrabFood
โดย Duni จะทำหน้าที่ พัฒนา ช้อน ชาม ที่ทําจากชานอ้อย สามารถย่อยสลายในเวลา 45 วัน
แทนการใช้พลาสติกที่ใช้เวลาย่อยสร้างเป็นร้อยๆ ปี
บริษัท ทีพีบีไอ จํากัด (มหาชน) หรือ เจ้าของโครงการวน (Won) ทำหน้าที่พัฒนาถุงพลาสติก
รีไซเคิลคุณภาพสูงมีความหนาถึง 5 เท่า ในบริการจัดส่งอาหารทุกออเดอร์
GrabFood นําเสนอทางเลือกให้กับลูกค้าในการไม่รับช้อน-ส้อมพลาสติกโดยสามารถกดเลือกได้ผ่านทาง App
พร้อมอบโค้ดส่วนลดค่าส่งมูลค่า10 บาท สำหรับลูกค้าที่ไม่ใช้พลาสติกเมื่อสั่งอาหารในเครือบริษัท ฟู้ดแพชชั่น
ทีนี้หลายคนคงสงสัยว่าทำไมบริษัท ฟู้ดแพชชั่น ถึงต้อง Delivery สไตล์รักษ์โลก
เพราะรู้หรือไม่ ณ วันนี้ ตลาด App Food Delivery ที่กำลังโตระเบิดได้สร้างกองขยะที่กำลังใหญ่ขึ้นทุกวัน
ตัวเลขมูลค่าของตลาด Food Delivery ในปีนี้ถูกคาดการณ์มูลค่าอยู่ที่ 35,000 ล้านบาท
โดยตัวเลขค่าเฉลี่ยการสั่งออเดอร์ 1 ครั้ง = 250 บาทนั้นหมายความว่าหากเรานำ 250 บาทมาหาร
จะได้จำนวนการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ประมาณ 140 ล้านครั้งในปีนี้
และในออเดอร์ 1 ครั้งสร้างขยะอย่างน้อย 4 ชิ้น ซึ่งนั้นหมายความว่า ปีนี้จะมีขยะจาก Food Delivery สูงถึง 560 ล้านชิ้นเลยทีเดียว
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ คงไม่ใช่ร้านอาหารหรือกลุ่ม App Food Delivery ที่จะค่อยดูแลไม่ให้ขยะล้นประเทศมากไปกว่านี้
ยังหมายถึงพวกเราทุกคน เพราะหากเราไม่เริ่มทำในวันนี้
และยังคิดว่าสารพัดขยะที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งไกลตัวไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา
เมื่อวันใดวันหนึ่งภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติที่สวยงาม แปรเปลี่ยนเป็นภาพที่สกปรกทรุดโทรม
วันนั้นเราอาจไม่สามารถขอคืนสิ่งแวดล้อมดีๆ กลับคืนมาจากใครได้เลย
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.