foodpanda เผยรายงานด้านสังคมฉบับแรก จัดสรรงบ 1,200 ล้าน สร้างการเติบโตให้ชุมชน ส่งเสริมธุรกิจ SME

foodpanda เผยรายงานด้านสังคมฉบับแรก จัดสรรงบ 1,200 ล้าน สร้างการเติบโตให้ชุมชน ส่งเสริมธุรกิจ SME

8 มิ.ย. 2022
foodpanda ออกรายงานด้านสังคม (Social Impact Report) ฉบับแรก ในธีม “pandapurpose 2021”
เพื่อเน้นย้ำถึงความคิดริเริ่มที่บริษัทได้ทำเพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในเอเชีย
foodpanda ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,200 ล้านบาท)
เพื่อสร้างการเติบโตให้ชุมชน ส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง (Small and Medium-sized Enterprises- MSMEs) ด้วยนวัตกรรมของดิจิทัล และเสริมสร้างศักยภาพให้ไรเดอร์ในเอเชีย
รายงาน pandapurpose 2021 นำเสนอการดำเนินงานของ foodpanda ใน 12 ตลาด ได้แก่ บังกลาเทศ, กัมพูชา, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ลาว, มาเลเซีย, เมียนมาร์, ปากีสถาน, สิงคโปร์, ไต้หวัน, ไทย และฟิลิปปินส์
ในการสนับสนุนไรเดอร์, ร้านค้า และลูกค้า ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยไฮไลต์สำคัญคือ นวัตกรรมดิจิทัลใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพเรื่องผลประกอบการให้กับธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เสริมทักษะให้ไรเดอร์ และอีกหลายโครงการ เช่น โครงการท้องถิ่นในปากีสถานและบังกลาเทศ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการหญิงมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจมากขึ้น ผ่านโครงการ Home Chef
นอกจากนี้จำนวนไรเดอร์หญิงยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญของปี 2021 และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความยั่งยืนทั่วภูมิภาค
“ตั้งแต่ foodpanda ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 เรายึดมั่นใน Core Value ของเราคือ “พรุ่งนี้ต้องดีขึ้น 1%” (get 1% better every day) เราต่อยอดเทคโนโลยี มาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ผู้คนนับล้าน เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ต่อยอดธุรกิจ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
และสร้างพื้นที่ที่เกิดประโยชน์กับระบบนิเวศของเรา ทั้งพันธมิตรร้านค้า ไรเดอร์ และลูกค้า” นายเจค็อบ เซบาสเตียน แอนเกอร์เลอร์ (Jakob Sebastian Angele) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ foodpanda ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว
รายงานด้านสังคม (Social Impact Report) ฉบับแรก พูดถึงเป้าหมายหลัก 3 ด้าน
ซึ่งอยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ของ foodpanda ได้แก่ ผู้คน, ความก้าวหน้า และสิ่งแวดล้อม
1) ผู้คน : ส่งเสริมการเติบโตของชุมชน
foodpanda เชื่อว่าสังคมจะเติบโตได้ก็ต่อเมื่อมีระบบนิเวศที่ส่งเสริมและเอื้อให้ธุรกิจท้องถิ่นสามารถเติบโตและไปต่อได้
ในปี 2021 foodpanda ได้ลงทุน 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,000 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลางทั่วทั้งภูมิภาค เช่น ร้านค้าในตลาดสดในไทยและไต้หวัน, ร้านโชห่วยในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ และร้านค้าริมถนนในสิงคโปร์
โดยเป็นการช่วยเหลือด้านนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มช่องทางหารายได้และเชื่อมต่อกับลูกค้าแบบออนไลน์
สถานการณ์โควิดทำให้หลายคนสูญเสียรายได้ foodpanda ช่วยบรรเทาสถานการณ์ด้วยการจ้างงานไรเดอร์รายใหม่กว่า 370,000 คนในปี 2021 และมีการลงทุมเพิ่ม 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 207 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของไรเดอร์ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมด้านความปลอดภัย, ประกัน และการช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับการซื้อจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์
และ foodpanda ยังจัดสรรงบ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 17 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นและชุมชนในการบรรเทาสถานการณ์โควิด ผ่านการจัดส่งอาหาร, ของใช้จำเป็น และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ขาดแคลน
นอกจากนี้ foodpanda ยังส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน ผ่านความร่วมมือกับกระทวงสาธารณสุขของแต่ละประเทศอีกด้วย
2) ความก้าวหน้า : ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมดิจิทัลและการมีส่วนร่วมแบบไม่แบ่งแยก
foodpanda ส่งเสริมการสร้างแพลตฟอร์มที่ทุกคนมีส่วนร่วมโดยไม่แบ่งแยก
ในปี 2021 foodpanda ทำให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทด้านเศรษฐกิจมากขึ้น โดยมีจำนวนไรเดอร์ผู้หญิงเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า และส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการหญิงในแพลตฟอร์มผ่านโครงการ Home Chef
นอกจากนี้ยังมีการลงทุน 91,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาศักยภาพไรเดอร์ ในฮ่องกง, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา, การพัฒนาตนเอง และการตลาด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในอนาคต
ในสิงคโปร์ foodpanda มีการอบรม 19,500 ชั่วโมง เพื่อส่งเสริมคนทำงานระดับ mid-career ให้ก้าวสู่การเป็นวิศวกรข้อมูลและซอฟต์แวร์ผ่านโปรแกรม GoSchool และ #GetReadySG
รวมถึง foodpanda ยังได้ลงทุนกว่า 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2 ล้านบาท) ในด้านสุขภาพจิต และมี แอปฯ สำหรับการดูแลจิตใจให้แก่พนักงานและไรเดอร์อีกด้วย
3) สิ่งแวดล้อม : สร้างคนรุ่นใหม่ หัวใจสีเขียว
ในฐานะบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจใน 12 ประเทศทั่วเอเชีย foodpanda ได้ริเริ่มโครงการด้านเทคโนโลยีเพื่อเชิญชวนให้ร้านค้า, ไรเดอร์ และลูกค้า ใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
foodpanda ได้ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในประเทศต่าง ๆ เดินหน้าทำโครงการเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านอาหาร (Food Sustainability) และลดขยะพลาสติกเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญต่อธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรี
ในปี 2021 foodpanda ลดการใช้ช้อนส้อมพลาสติกได้ถึง 900 ล้านชิ้น ผ่านฟีเจอร์ในแอปฯ ที่ให้ลูกค้าเลือกไม่รับช้อนส้อมพลาสติก และยังมีสินค้า Sustainability กว่า 25,000 ชนิด (เช่น อาหาร Plant-based) ให้เลือกซื้อผ่าน pandamart และ foodpanda shops
โดยฮ่องกงและไต้หวัน เป็นตลาดแรกของ foodpanda ที่มีการมอบตราสัญลักษณ์ “ร้านค้าสีเขียว” ให้กับร้านค้าพันธมิตร ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 70 ร้าน ที่ได้รับการรับรองจาก foodpanda โดยโมเดลร้านค้าสีเขียวจะขยายสู่ตลาดอื่น ๆ ในปี 2022
และในปี 2021 foodpanda สิงคโปร์ เป็นแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรีเจ้าแรกที่มีเมนู Cultured-meat จำหน่าย โดยร่วมมือกับ GOOD Meat
นอกจากนี้ foodpanda ยังมีเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากการจัดส่งอาหาร จึงรณรงค์ให้ใช้วิธีจัดส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผลที่ได้คือ กว่า 20% ของ foodpanda ไรเดอร์ทั่วเอเชีย เปลี่ยนวิธีการจัดส่งเป็น การเดิน, การขี่จักรยาน หรือการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า..
- ก้าวต่อไปในปี 2022 และในอนาคต
ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของ foodpanda รายงานด้านสังคม (Social Impact Report) ฉบับแรกนี้ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ foodpanda ในการเติบโตไปพร้อมกับระบบนิเวศ ที่ประกอบไปด้วยไรเดอร์, ร้านค้า และลูกค้า ใน 11 ตลาดทั่วเอเชีย
foodpanda จะขยายโครงการเพื่อสังคมต่อไปในปี 2022 และในอนาคต ผ่านการส่งเสริมชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยนวัตกรรมดิจิทัล
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.