SCGC บริษัทเคมีภัณฑ์ ที่กำลังจะครองตลาดอาเซียน

SCGC บริษัทเคมีภัณฑ์ ที่กำลังจะครองตลาดอาเซียน

15 มิ.ย. 2022
หากพูดถึง “ธุรกิจเคมีภัณฑ์” หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว
แต่รู้หรือไม่ว่า กล่องนม ฝาขวด บรรจุภัณฑ์ แท็งก์น้ำ เข็มฉีดยา ถุงมือยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ ท่อประปา รวมไปถึงของใช้ในชีวิตประจำวันอีกมากมาย ต่างก็มีองค์ประกอบของเม็ดพลาสติกผสมอยู่ด้วย
โดยผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ รายใหญ่ของประเทศไทย ที่กำลังไปเติบโตในภูมิภาคอาเซียน ก็คือ บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2564 SCGC เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างกำไรสูงสุดให้กับกลุ่ม SCG คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 61 ของกำไรสำหรับปีของกลุ่ม SCG เลยทีเดียว
ทำไม SCGC ถึงเป็นบริษัทเคมีภัณฑ์ที่น่าจับตามอง
และโอกาสในการเติบโตในภูมิภาคอาเซียน มีมากน้อยแค่ไหน ?
SCGC ดำเนินธุรกิจเคมีภัณฑ์มานานเกือบ 40 ปี
โดยหน้าที่หลัก ๆ คือ การคิดค้นนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ ที่จะเข้ามาช่วยให้การผลิตเม็ดพลาสติก สามารถนำมาใช้ใหม่ได้อย่างเป็นมิตรต่อโลกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยในปี 2564 SCGC มีกำลังการผลิตถึง 6.9 ล้านตัน และส่งออกไปยังหลากหลายประเทศทั่วโลก
และถ้าจะให้พูดถึงสินค้าที่ SCGC และพันธมิตรทางธุรกิจผลิต ก็ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ครบวงจรตั้งแต่ปิโตรเคมีต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
เม็ดพลาสติกและพอลิเมอร์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์ อย่างกล่องนมและกล่องน้ำผลไม้
ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมมูลค่าเพิ่มสูง เช่น พลาสติกสำหรับการผลิตท่อ ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางรถยนต์ พลาสติกทางการแพทย์
ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
พูดง่าย ๆ ว่าสินค้าที่ SCGC ผลิตทั้งหมด เป็นวัตถุดิบสำหรับเกือบทุกอุตสาหกรรมและสินค้าที่คนทั่วโลกต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
แล้วโอกาสการเติบโตในภูมิภาคอาเซียนของ SCGC มีมากน้อยแค่ไหน ?
อัตราการใช้พอลิเมอร์โดยเฉลี่ยต่อคนในภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบันอยู่ที่ 26 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งยังต่ำกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 69 กิโลกรัมต่อปี และ 73 กิโลกรัมต่อปี ตามลำดับ ดังนั้น อัตราการใช้พอลิเมอร์โดยเฉลี่ยต่อคนในภูมิภาคอาเซียนจึงยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ SCGC เข้าไปตั้งฐานการผลิตที่ประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนามเพิ่มเติม
นอกจากนั้น หากรวมจำนวนประชากรระหว่างประเทศไทย ประเทศเวียดนาม และประเทศอินโดนีเซีย จะเท่ากับ 440 ล้านคน คิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรในอาเซียนทั้งหมดเลยทีเดียว
โดยแผนการขยายกำลังการผลิตในอนาคตอันใกล้คือ ประเทศเวียดนาม ซึ่งขณะนี้กำลังก่อสร้างโครงการคอมเพล็กซ์ ปิโตรเคมีโดย Long Son Petrochemicals หรือ LSP ซึ่ง SCGC ถือหุ้น 100% ส่วนในประเทศอินโดนีเซีย SCGC มีการลงทุนผ่านการถือหุ้นร้อยละ 30.57 ใน Chandra Asri Petrochemicals หรือ CAP ซึ่งมีแผนจะขยายโรงงานและกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบของการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอินโดนีเซียและประเทศเวียดนาม คือ
อำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ทั้งในเรื่องการจัดส่งที่ใช้เวลาน้อยลง ลดต้นทุนการจัดเก็บสินค้าคงคลัง และการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น
ความสามารถในการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับลูกค้าเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของพื้นที่นั้น ๆ
รองรับความต้องการของตลาดเคมีภัณฑ์ที่กำลังจะเติบโตในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบัน SCGC เป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ PE PP และ PVC รายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ร้อยละ 19.0 ของกำลังผลิตทั้งหมดในอาเซียนทั้งหมด
ที่สำคัญคือ SCGC ยังตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำตลาดเคมีภัณฑ์ในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเติบโตไปพร้อม ๆ กับเมกะเทรนด์โลก เช่น การเติบโตของชุมชมเมือง การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด การดูแลรักษาสุขภาพ การใส่ใจสิ่งแวดล้อม
สิ่งเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้เคมีภัณฑ์ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของ SCGC ที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services - HVA)
รวมไปถึงการพัฒนา Green Innovation เช่น พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Polymer) และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ด้านการลดคาร์บอน
โดยในปี 2564 รายได้ของ SCGC จากสินค้า HVA คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 35.8 ของรายได้จากการขายรวมของ บริษัทฯ และจะขยายสินค้าในกลุ่มพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Polymer เป็น 1 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573
นอกจากความแข็งแกร่งและโอกาสในการเติบโตแล้ว แนวคิดในเรื่องความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่ SCGC ให้ความสำคัญ
โดยแนวคิดที่ว่าก็คือ ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environmental, Social และ Governance ซึ่งเป็นแนวทางดำเนินธุรกิจและเป็นตัวชี้วัดของบริษัทฯ ในเรื่องการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดความเหลื่อมล้ำ
สำหรับเป้าหมายด้าน ESG ของ SCGC ในระยะยาว ที่มีการกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานอย่างชัดเจนและวัดผลได้คือ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 โดยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยให้ได้ 20% ของปีฐาน 2564 ภายในปี 2573
แผนการดำเนินงานและเป้าหมายเหล่านี้ จะทำให้ SCGC มีศักยภาพที่จะก้าวเป็นผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน (Chemicals Business for Sustainability) โดยใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ภายใต้การส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
ด้วยโอกาสทางธุรกิจที่กล่าวมา เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC จึงมีแผนที่จะออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นของบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ในเบื้องต้น SCGC มีวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้รับจากการ IPO ดังนี้
ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งบริษัท การก่อสร้างโรงงาน (Organic) การเข้าซื้อกิจการรวมถึงทรัพย์สินอื่น (Inorganic) และ/หรือการลงทุนเพื่อบำรุงรักษา (Maintenance) รวมถึงชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการของ SCGC
ต้องมาติดตามกันต่อว่า ผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์อย่าง SCGC ซึ่งมุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบรับเมกะเทรนด์ทั้งในวันนี้และอนาคต จะเติบโตไปได้อีกไกลขนาดไหน…
Tag:SCGC
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.