เทเลนอร์กรุ๊ป ปั้นบริษัทใหม่ด้านเทเลคอม-เทคโนโลยี ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี

เทเลนอร์กรุ๊ป ปั้นบริษัทใหม่ด้านเทเลคอม-เทคโนโลยี ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี

30 มิ.ย. 2022
เทเลนอร์กรุ๊ป ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค
ฉลองครบรอบ 25 ปีของการดำเนินธุรกิจในเอเชีย
ร่วมมือกับเครือซีพี ตั้งเป้าสร้างบริษัทใหม่ด้านเทเลคอม-เทคโนโลยี ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค
โดยคุณซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer (CEO) ได้กล่าวว่า
“เทเลนอร์ เข้าสู่ตลาดไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว วิสัยทัศน์ของบริษัท คือ คนไทยทุกคนควรเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ ซึ่งทางเทเลนอร์กรุ๊ป ได้เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ ให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ไม่ว่าจะเป็น
- การคิดค่าบริการเป็นวินาที เพื่อให้ลูกค้าทุกคนได้เข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม
- คิดค้นการตลาด และการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในวงกว้าง เช่น Happy Sim และโครงการ “ดีแทคใจดีให้ยืม”
ซึ่งการเข้าถึงของโทรศัพท์มือถือของประเทศไทย อยู่ที่ 86% และมีการเชื่อมต่อมือถือ 98.5 ล้านอุปกรณ์
และนี้ถือว่าเป็นการเติบโต 1.0 ที่ทางเทเลนอร์กรุ๊ป ได้เติบโตไปพร้อม ๆ กับประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในอีก 20 ปีข้างหน้า การเติบโตของเทเลนอร์ในประเทศไทย จะแตกต่างกันมาก
อุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “Perfect Storm”
โดยเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง ปัญญาประดิษฐ์ (AI), IoT และ 5G กำลังเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากยิ่งขึ้น
จากที่เมื่อก่อน ดีแทค มีหน้าที่เชื่อมต่อแค่ผู้คนเข้าด้วยกัน แต่หลังจากนี้ ดีแทค จะต้องยกระดับการให้บริการ โดยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ กับอินเทอร์เน็ต
ต้องใช้ AI เพื่อให้เข้าใจถึง Data จำนวนมหาศาลที่สร้างขึ้น พร้อมกับระบบให้รองรับ 5G เพื่อที่บริษัทจะได้เป็นตัวกลางเชื่อมต่อสิ่งต่าง ๆ นับร้อยนับพัน อย่างไร้รอยต่อ
ที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มธุรกิจ และภาครัฐบาลจะได้รับผลประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีใหม่นี้ได้ เช่น การขนส่งท่าเรือขนาดใหญ่ ระบบป้องกันประเทศ และการแพทย์
นอกจากนี้ การแข่งขันสำหรับโทรคมนาคมจะเปลี่ยนไป คู่แข่งจะไม่ใช่แค่บริษัทโทรคมนาคมแบบดั้งเดิม
แต่เป็นบริษัทแพลตฟอร์มระดับโลก เช่น AWS, Google Cloud และ Microsoft
บริษัทแพลตฟอร์มระดับโลกเหล่านี้จะเป็นทั้งพันธมิตรของบริษัทโทรคมนาคมและจะเป็นคู่แข่งด้วย
ซึ่งทางเทเลนอร์ได้ลงนามความร่วมมือระดับโลกเป็นพันธมิตรร่วมกับ AWS, Google และ Microsoft เป็นที่เรียบร้อย
พอเป็นแบบนี้ สิ่งที่เทเลนอร์พยายามสร้างขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่แค่บริษัทโทรคมนาคม
แต่บริษัทกำลังพยายามสร้างบริษัทเทคโนโลยีใหม่ ที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ที่จะสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าได้
ซึ่งเราจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อเราได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทระดับโลกเหล่านี้
เพราะว่าบริษัทโทรคมนาคมขนาดเล็กในประเทศ อาจจะไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทระดับโลก
นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องตั้งบริษัทใหม่ ร่วมกับเครือซีพี ดังแนวคิด “Equal Partnership”
เพื่อสร้างบริษัทที่สามารถต่อยอด และยกระดับประเทศไทย ไปสู่การเป็นผู้นำในโลกดิจิทัล
และรู้หรือไม่ว่า เทเลนอร์กรุ๊ป และบริษัทเอเซียต้า บริษัทโทรคมนาคมของประเทศมาเลเซีย
ได้รับแจ้งถึงความชัดเจนจากหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบให้เดินหน้าควบรวมกิจการ
ระหว่าง Celcom จากเอเซียต้า และ Digi จากเทเลนอร์กรุ๊ป เป็นที่เรียบร้อย
ซึ่งทางเทเลนอร์กรุ๊ป คาดหวังว่าการร่วมมือในครั้งนี้ระหว่าง เทเลนอร์กรุ๊ป และเครือซีพี
จะได้ผลตอบรับที่ดีจากหน่วยงานภาครัฐ”
ด้านคุณเยอเก้น โรสทริป, EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวเสริมว่า
“ทางบริษัทเชื่อว่าการควบรวมกิจการระหว่างดีแทคและทรู จะสร้างบริษัทที่แข็งแกร่ง ที่สามารถลงทุนและมีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีของประเทศไทยสู่อนาคต
ซึ่งนี่คือโอกาสของประเทศไทย ที่จะขับเคลื่อนไปสู่การเติบโต 2.0 และทำให้ประเทศอยู่ในแนวหน้าของภูมิภาค
ที่สำคัญคือ ประเทศไทยต้องการผู้เล่นในตลาดที่แข็งแกร่ง 2 ราย ไม่ใช่แค่รายเดียวที่แข็งแกร่ง แต่อีก 2 ไม่แข็งแกร่ง
นอกจากนี้ การสร้างบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยีในประเทศไทยนี้ จะเป็นสิ่งดีสำหรับผู้บริโภค, ธุรกิจสตาร์ตอัป และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท
ซึ่งบริษัทจะนำเทคโนโลยีขั้นสูง และความเชี่ยวชาญของเทเลนอร์ ทั้งในกลุ่มภูมิภาคนอร์ดิกและเอเชีย เข้ามาสู่บริษัทใหม่ในประเทศไทย
อีกทั้งบริษัทจะรักษามาตรฐานการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ สนับสนุนการพัฒนาผู้มีความสามารถด้านดิจิทัล และสร้างสถานที่ทำงานสำหรับอนาคต”
มาถึงตรงนี้ เราคงพอสรุปได้ว่า เทเลนอร์กรุ๊ปได้ให้คำมั่นว่า พวกเขาจะไม่ทิ้งธุรกิจในประเทศไทยที่ได้ดำเนินงานมาเกือบ 20 ปี
ที่สำคัญคือ ทั้งเครือซีพีและกลุ่มเทเลนอร์ ต่างมั่นใจว่า การพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันในครั้งนี้ จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและคนไทย
ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาค ตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้ตามเป้าหมาย..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.