ทำไมจังหวัดที่มีทะเลอยู่แล้ว ถึงต้องมีสวนน้ำ ?

ทำไมจังหวัดที่มีทะเลอยู่แล้ว ถึงต้องมีสวนน้ำ ?

2 ก.ค. 2022
“การท่องเที่ยว” ถือเป็นจุดเด่นที่สร้างรายได้มหาศาล และเป็นเสาหลักให้กับประเทศไทย มาอย่างยาวนาน
โดยเฉพาะ “ทะเลไทย” ที่มีภูมิทัศน์อันสวยงาม และธรรมชาติที่ยังอุดมสมบูรณ์
จึงไม่แปลกที่ทะเลไทย จะกลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก..
หากลองดูสถิติการท่องเที่ยวในปี 2020 ที่ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 537,794 ล้านบาท โดยไม่นับกรุงเทพมหานคร
สะท้อนให้เห็นว่าภาคการท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในจังหวัดที่มีทะเลเป็นจุดขายจะมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก เช่น
ภูเก็ต มีรายได้จากการท่องเที่ยว 108,464 ล้านบาท
ชลบุรี มีรายได้จากการท่องเที่ยว 62,499 ล้านบาท
ประจวบคีรีขันธ์ มีรายได้จากการท่องเที่ยว 18,021 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่าแค่ 3 จังหวัดนี้ ก็สามารถสร้างรายได้จากภาคการท่องเที่ยวได้รวมกันถึง 188,984 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.1% ของ 537,794 ล้านบาท ที่เป็นรายได้รวมของภาคการท่องเที่ยวทั่วประเทศ
(ไม่รวมกรุงเทพมหานคร)
และเป็นเรื่องน่าแปลกที่ทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งมีทะเลเป็นจุดขายทั้งหลายกลับมี “สวนน้ำ” อยู่ด้วยแทบจะทุกจังหวัด
ไม่ว่าจะเป็น สวนน้ำ Vana Nava ที่หัวหิน, สวนน้ำรามายณะ ที่พัทยา และล่าสุดสวนน้ำ Andamanda ที่เพิ่งเปิดให้บริการที่ภูเก็ต..
แล้วทำไมจังหวัดที่มีทะเลให้เล่นน้ำอยู่แล้วเหล่านี้ ถึงยังต้องมีสวนน้ำอีก ?
เรื่องนี้คงต้องไปดูโมเดลของเมืองท่องเที่ยวที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย ที่มักจะประกอบไปด้วย 3 ปัจจัยหลัก ๆ นั่นก็คือ
- แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
- แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม
- แหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น
ซึ่งประเทศไทยก็สามารถตอบโจทย์การท่องเที่ยวได้แทบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ธรรมชาติที่สวยงาม
และวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์
แต่หากพูดถึง Man-Made Destination หรือแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้น เรียกได้ว่ามีน้อยมาก ถ้าเทียบกับประเทศที่เป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวด้วยกันเอง
ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทยมาเสมออย่าง ประเทศญี่ปุ่น
ก็เป็นอีกประเทศที่มีทั้ง 3 ปัจจัยนี้ครบ
เพราะญี่ปุ่นมีทั้งธรรมชาติที่สวยงาม เช่น ภูเขาไฟฟูจิ
มีแหล่งวัฒนธรรมที่น่าค้นหาอย่างวัดวาอารามต่าง ๆ อาหารการกิน
และยังมี Man-Made Destination สุดยิ่งใหญ่อย่าง Disneyland รวมไปถึงสวนสนุก Universal ด้วย
ดังนั้นในเมื่อเรารู้แล้วว่าเมืองไทยยังขาด Man-Made Destination อยู่
คำถามต่อไปคือ Man-Made Destination แบบไหนถึงจะเหมาะกับตลาดอย่างประเทศไทย ?
การจะสร้างสวนสนุกมาใช้ดึงดูดนักท่องเที่ยวแบบที่ญี่ปุ่นทำนั้น ก็ดูแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับประเทศไทย
อย่างแรกเลย คงเป็นเพราะสภาพอากาศของประเทศไทย ที่ร้อนแทบตลอดทั้งปี ไม่เหมาะกับการทำกิจกรรมกลางแจ้ง จึงทำให้ช่วงที่มีคนมาใช้บริการจะไปอยู่ในช่วงหน้าหนาวเป็นส่วนใหญ่
อย่างต่อมาคือ สวนสนุกใช้ต้นทุนสูงมาก
ยกตัวอย่างเช่น ต้นทุนในการสร้างสวนสนุกระดับ Disneyland
ก็ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าระดับ 20,000 ล้านบาทแน่ ๆ
ซึ่งแน่นอนว่าการลงทุนในระดับนี้ ย่อมมาพร้อมกับค่าบริการที่สูง เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายรวมของกิจการ
รวมไปถึงต้องทำราคาให้ธุรกิจมีกำไร เช่น บัตร 1-Day Passport ของ Disneyland ที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1,800-4,800 บาท
ราคาดังกล่าวถึงแม้กลุ่มลูกค้า “ชาวต่างชาติ” จะมีกำลังซื้อได้สบาย ๆ
แต่สำหรับคนท้องถิ่นอย่างคนไทยที่มีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่ 325 บาทต่อวัน กลับดูจะไม่ค่อยสนุกสักเท่าไร
แล้วธุรกิจอะไรที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการสร้างสวนสนุก แถมเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
รวมไปถึงต้องมีราคาค่าตั๋วที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ต่างมาใช้บริการได้ ?
ซึ่งคำตอบก็คือ “สวนน้ำ” เพราะธุรกิจประเภทนี้เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย จึงทำให้ธุรกิจมีโอกาสสร้างรายได้สม่ำเสมอ
ยกตัวอย่างเช่น สองสวนสนุกอันดับต้น ๆ ของไทยอย่าง ดรีมเวิลด์ และสยามอะเมซิ่งพาร์ค
ก็มีการใช้สวนน้ำมาเสริมธุรกิจสวนสนุกของตัวเอง
กระตุ้นให้คนเข้ามาใช้บริการมากขึ้นในช่วงที่อากาศร้อน ที่คนไม่ค่อยมาเล่นสวนสนุกนั่นเอง
รวมไปถึงธุรกิจสวนน้ำ ยังใช้ต้นทุนในการสร้างไม่สูงเท่ากับสวนสนุก จึงทำให้สามารถทำราคาค่าตั๋วให้เหมาะสมสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติได้อีกด้วย
ในเมื่อโจทย์คือการขายทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ
ดังนั้น “สถานที่ตั้ง” จึงเป็นที่ไหนไปไม่ได้เลย นอกจากเมืองที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเฉลี่ยต่อปีสูงที่สุด..
นั่นก็คือ ภูเก็ต, พัทยา และประจวบคีรีขันธ์ ตามลำดับ
โดยในปี 2020 มีรายงานว่า เมืองท่องเที่ยวเหล่านี้ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้จำนวนมาก
ภูเก็ต มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2,110,854 คน
ชลบุรี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1,458,336 คน
ประจวบคีรีขันธ์ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 188,649 คน
จึงเป็นที่มาของการที่เรามักเห็นธุรกิจสวนน้ำ ตั้งอยู่ในเมืองที่มีทะเลอยู่แล้วนั่นเอง..
ตัดภาพมาที่ปัจจุบัน ธุรกิจสวนน้ำดูจะซบเซาอย่างหนัก จากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา
เพราะชาวต่างชาติซึ่งเป็นลูกค้าหลักของธุรกิจสวนน้ำไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้
จนกลายเป็นว่า ณ ตอนนี้ธุรกิจสวนน้ำทั้งหลาย ต้องหวังพึ่งคนไทยไปก่อน จนกว่าการท่องเที่ยวจะกลับมา
แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าราคาค่าตั๋วเฉลี่ยที่ 1,000 บาทต้น ๆ ก็ยังดูสูงเกินไปสำหรับคนไทยอยู่ดี
รวมไปถึงตำแหน่งที่ตั้งในเมืองท่องเที่ยวทั้งหลายที่เข้าถึงได้ยากมาก ถ้าไม่มีรถยนต์ส่วนตัว
ทั้งค่ารถ ค่าตั๋ว และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในสวนน้ำ ที่มักมีราคาสูงกว่าร้านค้าด้านนอก
ก็เป็นดั่งกำแพงชั้นดีที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยอยากมาใช้บริการ
สรุปก็คือ กลุ่มลูกค้าชาวไทยไม่สามารถแบกธุรกิจสวนน้ำได้
รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมในเร็ว ๆ วันนี้
จึงไม่แปลกเลยที่จะทำให้สวนน้ำหลายแห่ง ต้องแบกรับการขาดทุน
เช่น สวนน้ำ Vana Nava ที่ในปี 2564 ขาดทุนกว่า 344 ล้านบาท
จนกระทั่งสวนน้ำบางแห่ง ถึงขนาดต้องประกาศปิดกิจการกันแบบไม่มีกำหนด
อย่างสวนน้ำ Santorini และสวนน้ำ Cartoon Network
ก็ต้องมาลุ้นกันว่า หลังจากที่ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ 100% แล้ว
ธุรกิจสวนน้ำจะยังชุ่มฉ่ำเหมือนปีแรก ๆ
หรือจะแห้งเหือดกลายเป็นไอน้ำในความทรงจำ
ให้ผู้คนถามกันทุกครั้งเวลานั่งรถผ่านว่า “อ้าว สวนน้ำแห่งนี้ปิดไปแล้วเหรอ”
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.