จากตลาดนัดรถไฟสู่ “จ๊อดแฟร์” ตลาดนัดที่คนเยอะจนแทบไม่มีที่เดิน

จากตลาดนัดรถไฟสู่ “จ๊อดแฟร์” ตลาดนัดที่คนเยอะจนแทบไม่มีที่เดิน

7 ก.ค. 2022
เชื่อว่าหากพูดถึงตลาดนัดกลางคืนที่คึกคักและร้อนแรงที่สุดในเวลานี้ คงหนีไม่พ้น “จ๊อดแฟร์” ตลาดนัดกลางคืนย่านพระราม 9 ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่กลับได้รับความนิยมจนคนแน่นแทบทุกวัน
เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะที่ผ่านมาก็มีธุรกิจตลาดนัดกลางคืนเกิดขึ้นใหม่มากมาย แต่ก็ดูไม่ได้โดดเด่นเหมือนที่จ๊อดแฟร์ทำได้
แล้วจ๊อดแฟร์แตกต่างจากตลาดนัดกลางคืนที่อื่นตรงไหน ?
ทำไมถึงฮิต ทั้งที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน เราจะมาหาคำตอบไปด้วยกัน..
อย่างแรก ต้องมารู้จักกับ “คุณไพโรจน์ ร้อยแก้ว” เจ้าของตลาดจ๊อดแฟร์ และตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์
เขาเป็นบุคคลแรก ๆ ที่มีการทำแบรนด์ให้กับ “ตลาดนัดกลางคืน” ให้กลายเป็นมากกว่าสถานที่ ที่มีไว้แค่ซื้อขายสินค้า..
โดยคุณไพโรจน์นั้น พื้นเพเป็นคนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เริ่มต้นการทำธุรกิจด้วยการขายของเก่าตามแหล่งค้าขาย อย่างตลาดนัดจตุจักรและคลองถม มาตั้งแต่สมัยเรียน
ระหว่างนั้นคุณไพโรจน์เริ่มเล็งเห็นถึงความลำบากของพ่อค้าแม่ค้า ที่ต้องทนขายของในสถานที่ที่ไม่สะดวก และมักโดนไล่ที่จากเจ้าถิ่นหรือเทศกิจอยู่เป็นประจำ
เขาจึงนำปัญหาดังกล่าวมาเป็นแรงบันดาลใจ และพัฒนาเป็นแนวทางในการสร้างตลาดนัดเป็นของตัวเอง จนเกิดเป็นตลาดนัดที่มีสัญญาเช่าที่ที่แน่นอน และมีระบบอำนวยความสะดวกให้กับพ่อค้าแม่ค้า
เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงดูดให้ร้านค้าดี ๆ มาตั้งร้านในตลาดนัดของตัวเองมากขึ้น
และร้านค้าดี ๆ เหล่านี้ ก็จะทำหน้าที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้คนมาเดินตลาดนัดกันมากขึ้นนั่นเอง
และเมื่อร้านค้าดี ๆ ทำหน้าที่เรียกลูกค้าแล้ว
ตัวตลาดเอง ก็ต้องไม่อยู่เฉย ต้องพยายามทำให้ลูกค้าเก่า กลับมาใช้บริการซ้ำด้วยเช่นกัน
ซึ่งจุดนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับธุรกิจตลาดนัดกลางคืน
เพราะมีสถิติว่า ผู้บริโภคถึง 31% มีโอกาสที่จะเดินตลาดนัดกลางคืนเพียง 1 ครั้ง ภายในช่วงเวลา 4 เดือนเท่านั้น
คุณไพโรจน์ จึงได้ให้ความสำคัญกับ แสงสว่างภายในตลาด, การประชาสัมพันธ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างที่จอดรถ หรือห้องน้ำ เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังเริ่มมีการแบ่งโซนออกเป็นหลายโซน ตั้งแต่โซนความบันเทิง, โซนอาหาร และมีการใส่กิจกรรมต่าง ๆ ให้ตลาดนัดมีสีสันมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการบ่อยขึ้น
ทั้งหมดกลายมาเป็นมาตรฐานของตลาดนัดรถไฟ ศรีนครินทร์ และตลาดนัดรถไฟ รัชดา ตลาดกลางคืนแห่งแรก ๆ ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย
แต่ก็อย่างที่เรารู้กัน หลังจากการระบาดของโควิด 19 ทำให้ตลาดนัดรถไฟ รัชดา และตลาดนัดกลางคืนอีกหลายแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากตลาดไม่มีผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบการก็แบกรับต้นทุนการดำเนินการ เอาไว้ไม่ไหว..
อย่างไรก็ตาม โควิด 19 นั้นไม่ใช่ปัญหาถาวร และตลาดนัดกลางคืน ก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอยู่ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่กลับมาใช้ชีวิตกลางคืนกันมากขึ้น หลังจากสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย
ดังนั้นเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จึงถึงเวลาที่ต้องสานต่อความสำเร็จของตลาดนัดรถไฟ รัชดา
จนเป็นที่มาของ “จ๊อดแฟร์” ตลาดแห่งใหม่ ที่มาทำให้ตลาดนัดกลางคืนกลับมาคึกคักอีกครั้ง
แต่การกลับมาในครั้งนี้ จ๊อดแฟร์ ใช้กลยุทธ์ที่ต่างจากตลาดนัดรถไฟแบบดั้งเดิมไปพอสมควร ซึ่งนั่นก็คือ..
1) จัดผังตลาดให้เอื้อต่อร้านอาหารมากขึ้น
จริงอยู่ที่ว่า จุดประสงค์ของคนส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจไปตลาดนัดกลางคืน คือการเดินทางไปซื้อเสื้อผ้าและไปเดินเล่นสบาย ๆ
แต่รู้หรือไม่ว่า มีผลสำรวจระบุว่า ที่จริงแล้ว คนที่ไปตลาดนัดถึง 45% มีแนวโน้มใช้จ่ายไปกับของกินมากกว่าที่จะใช้จ่ายไปกับเสื้อผ้า
ดังนั้น จ๊อดแฟร์ จึงได้มีการจัดทำพื้นที่ส่วนกลางที่เอื้อต่อธุรกิจร้านอาหารที่จะมาเปิดมากขึ้น ซึ่งต่างจากตลาดนัดรถไฟที่จะเน้นไปที่เสื้อผ้าและของใช้เบ็ดเตล็ดต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะกินข้าวที่มีแทบทุกล็อกของตลาด รวมไปถึงจุดทิ้งขยะที่ทั่วถึง
จึงทำให้จ๊อดแฟร์สามารถดึงดูดร้านอาหาร ให้มาเปิดหน้าร้านของตัวเองได้มากกว่าเดิม
เป็นสาเหตุที่ว่า ทำไมเราถึงเห็นจ๊อดแฟร์เต็มไปด้วยร้านอาหาร..
2) Brand CI หรือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ที่แข็งแกร่ง กระตุ้นให้เกิด FOMO (Fear of Missing Out)
จากสถิติระบุว่า ผู้บริโภครู้จักตลาดนัดกลางคืนผ่านโซเชียลมีเดียถึง 65%
ดังนั้นความสวยงามของสถานที่นั้นจึงสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการถ่ายรูปแล้วแชร์ผ่านโซเชียลมีเดีย
ดังนั้น Brand CI ถึงเป็นเครื่องมือสำคัญมาก ที่ถูกหยิบนำมาใช้ในการคุมโทนตลาด และสร้างความโดดเด่น
โดยทุกอย่างของจ๊อดแฟร์ ตั้งแต่โลโก, Mood & Tone ของตลาด รวมไปถึงกราฟิกในการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งหมดต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในชนิดที่ว่าแม้แต่จุดให้บริการแอลกอฮอล์ล้างมือ ก็ยังมีการนำโลโกของตลาดมาติดไว้
ผลก็คือ ตลาดจ๊อดแฟร์ กลายเป็นตลาดที่มีโทนสีขาวสบายตา เหมาะกับการถ่ายรูปที่สวยแทบทุกมุม..
และเมื่อตลาดมีโทนที่สวยงามสบายตาเหมาะกับการถ่ายรูป รวมกับเหล่าสินค้าจากร้านอาหารในตลาดที่ต้องแข่งขันกันทำให้หน้าตาของอาหาร ออกมาดูน่ากินและถ่ายรูปสวย
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คนที่เดินทางมาจ๊อดแฟร์ จะถ่ายรูปและแชร์ภาพสวย ๆ จากตลาดจ๊อดแฟร์ลงโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มจะแชร์ภาพสถานที่และอาหารลงโซเชียลมีเดียของตัวเอง
จุดนี้เองที่ทำให้จ๊อดแฟร์จุดติด และกลายเป็นกระแสในโลกโซเชียลในที่สุด
จนกลายเป็นตลาดที่หลายคน ไม่อยากพลาด หรือเกิดอาการ FOMO (Fear of Missing Out) อาการของคนที่กลัวตกเทรนด์ ไม่อยากพลาดอะไรก็ตามที่เป็นกระแสในขณะนั้น
หรือเห็นเพื่อน ๆ หรือคนอื่น ๆ ไปมาแล้ว และแชร์ประสบการณ์ลงโซเชียลมีเดีย ตัวเราเองก็อยากลองไปดูบ้าง
และรู้หรือไม่ว่า ผู้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 80% ในเอเชียนั้น มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการ FOMO ได้ง่ายกว่าที่อื่น ๆ รวมไปถึง 60% ของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ยอมเดินทางไปสถานที่ต่าง ๆ เพียงแค่ว่าสถานที่นั้น “ถ่ายรูปสวย” อีกด้วย
ทั้งหมดนี้เองที่ทำให้ “จ๊อดแฟร์” กลายเป็นตลาดนัดกลางคืนยอดนิยม จนแทบไม่มีที่เดินอย่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้..
3) ประสบการณ์ของทีมงาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จ๊อดแฟร์ประสบความสำเร็จ คือ คุณไพโรจน์และทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการทำตลาดนัดกลางคืนสูง
จนทำให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าที่มีฐานลูกค้าเยอะ ต่างไว้วางใจและเชื่อมั่นในระบบการทำงานของตลาด
สังเกตได้จากการเปิดจองล็อกสำหรับขายสินค้าในตลาดของคุณไพโรจน์ ที่มีคนสนใจเยอะ จนถึงขนาดต้องจับฉลากเพื่อหาผู้เช่าให้ได้ในบางครั้ง..
และด้วยชื่อเสียงนี้เอง ที่เป็นดั่งความได้เปรียบทางการแข่งขันชั้นดี ที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้า เลือกไปเปิดร้านในตลาดของคุณไพโรจน์ก่อนตลาดอื่น ๆ เสมอ
สุดท้ายนี้ ถึงแม้ว่าภาพของเต็นท์ผ้าใบหลากสีของตลาดนัดรถไฟ รัชดา จะจากเราไปตลอดกาล
แต่เต็นท์สีขาวสะอาดตาของจ๊อดแฟร์ และอาหารอร่อย ๆ คงจะทำให้ใครหลายคนได้หวนนึกถึงวันเก่า ๆ ได้ไม่มากก็น้อย..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.