ทำไม KBank ถึงร่วมทุน กลุ่มคาราบาว ผลักดันร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชุมชน ?

ทำไม KBank ถึงร่วมทุน กลุ่มคาราบาว ผลักดันร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชุมชน ?

3 ส.ค. 2022
โชห่วย ร้านค้าปลีกที่ตั้งอยู่ตามชุมชนเล็ก ๆ และอยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน
ในช่วงหลัง ๆ มานี้ เราอาจจะได้ยินคำพูดที่ว่า “โชห่วยกำลังจะตาย” ทั้งจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การเติบโตของร้านสะดวกซื้อ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาดิสรัปต์
เช่นเดียวกับ คุณเสถียร เศรษฐสิทธิ์ ผู้บุกเบิกกลุ่มคาราบาว และผู้ก่อตั้งร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่มองเห็นปัญหานี้
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังมองเห็นศักยภาพของร้านโชห่วยที่มีจุดแข็งคือ การเป็นที่รู้จักของคนในชุมชน เพียงแต่ยังมีจุดอ่อนอีกหลายจุดที่ต้องปรับปรุง และพัฒนา
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว คุณเสถียร ก่อตั้งบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด
เพื่อเข้าไปยกระดับร้านโชห่วยแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็นร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน”
พัฒนาจุดอ่อนต่าง ๆ ด้วยการลงทุนกับอุปกรณ์ภายในร้าน จัดหาสินค้า ให้องค์ความรู้เรื่องการดูแลร้าน และนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาบริหารจัดการ
คุณเสถียร เชื่อว่า “ถ้าสามารถทำให้ร้านโชห่วย 3-4 แสนร้านที่มีอยู่ในประเทศไทย ยังดำรงอยู่ได้ มันจะเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคตได้”
ปัจจุบัน ร้านถูกดี มีมาตรฐาน มีอยู่แล้วกว่า 5,000 ร้าน กระจายตัวอยู่ใน 62 จังหวัดทั่วประเทศไทย
แม้แต่ในพื้นที่ห่างไกลอย่างอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ก็ตาม
“แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เราก็ฟันฝ่าด้วยการลองผิดลองถูก แล้วทุกอย่างก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ” คุณเสถียรกล่าว
กระทั่งล่าสุด ธนาคารกสิกรไทย (KBank) พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจรายสำคัญ
ที่เชื่อมั่นในศักยภาพของกลุ่มคาราบาวว่า มีความสามารถในการปลุกปั้นธุรกิจต่าง ๆ ให้ประสบความสำเร็จ จึงประกาศร่วมทุนกว่า 15,000 ล้านบาท ร่วมพัฒนาร้านถูกดี มีมาตรฐานด้วย
คำถามสำคัญก็คือ นอกจากเชื่อมั่นในศักยภาพของกลุ่มคาราบาวแล้ว
KBank เห็นโอกาสอะไร จึงร่วมลงทุนในครั้งนี้ ?
เรื่องนี้ คุณพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย อธิบายว่า เงินร่วมทุนของ KBank กว่า 15,000 ล้านบาท จะนำไปใช้ใน 2 ส่วน
1. KBank จะใช้เงินร่วมทุน 13,000 ล้านบาท โดยแยกออกเป็น
- การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทในกลุ่มธุรกิจคาราบาว จำนวน 8,000 ล้านบาท
- การร่วมลงทุนผ่านตราสารการลงทุนที่ให้สิทธิลงทุนในหุ้นของบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด จำนวน 5,000 ล้านบาท
คุณพัชร อธิบายง่าย ๆ ว่า “KBank จะเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด
และถ้าบริษัทอยากกู้ KBank จะทำหน้าที่เป็นแบงก์ โดยจะมีเงินสำรองให้ก้อนหนึ่ง”
ในส่วนนี้ ก็เพื่อส่งเสริมศักยภาพของร้านถูกดี มีมาตรฐาน ให้เป็นร้านสะดวกซื้อของชุมชนที่เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ
2. KBank ร่วมกับกลุ่มคาราบาว จัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ “บริษัท กสิกร คาราบาว จำกัด (kbao)” ด้วยเงินร่วมทุน จำนวน 2,000 ล้านบาท
ในส่วนนี้ KBank ตั้งเป้าว่าจะให้บริการสินเชื่อเต็มรูปแบบผ่านร้านถูกดี มีมาตรฐาน
โดยจะเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และการค้าขายต่าง ๆ
ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มลูกค้าที่ไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ประจำ ไม่มีบัญชีเงินฝาก หรือเจ้าของร้านค้าที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อนำไปปรับปรุงร้านค้า หรือสำหรับซื้อสต็อกสินค้า
ในจุดนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของ KBank ที่ต้องการขยายบริการทางการเงินให้เข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ KBank ยังวางแผนให้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เป็นจุดให้บริการทางการเงินในชีวิตประจำวันของคนในชุมชน เช่น บริการถอนเงิน จ่ายบิล รวมถึงเพิ่มบริการดิจิทัลต่าง ๆ เช่น สแกนจ่ายด้วย QR Code ด้วย
ซึ่งนี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่ KBank มองเห็นว่า เป็นโอกาสในการขยายบริการทางการเงิน
โดยคุณพัชร กล่าวว่า “ความร่วมมือนี้ จะทำให้ KBank มีจุดบริการ KBank Service เพิ่มขึ้นอีก 30,000 จุด จากเดิมที่มีจำนวนกว่า 27,000 จุด”
ปัจจุบัน KBank มีช่องทางให้บริการผ่านสาขาจำนวน 830 สาขา, ตู้เอทีเอ็มและตู้ฝากถอนเงินอัตโนมัติ รวม 11,000 ตู้ และ K PLUS ที่มีลูกค้าใช้งานกว่า 18 ล้านราย
อย่างไรก็ดี การให้บริการสินเชื่อเต็มรูปแบบแก่กลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงบริการ
อาจสร้างคำถามตามมาว่า จะก่อให้เกิดหนี้เสีย หรือ NPL มากขึ้นหรือไม่ ?
คุณพัชร ตอบคำถามนี้ โดยยกข้อดีของร้านโชห่วยในชุมชน รวมถึงร้านถูกดี มีมาตรฐาน
นั่นก็คือ ความรู้สึกในการเป็นเจ้าของร้าน การได้รู้จัก ใกล้ชิด และสนิทกับลูกค้าที่อยู่ในชุมชนแทบทั้งหมด
ตรงนี้เองที่เป็น ข้อมูล หรือ Data ในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เจ้าของร้านสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจได้ว่า สามารถปล่อยสินเชื่อให้ลูกค้ารายนี้ได้หรือไม่
ประกอบกับ เงินที่ปล่อยกู้ผ่านร้านถูกดี มีมาตรฐาน ไม่ใช่เงินกู้สำหรับนำไปใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย
แต่เป็นเงินกู้สำหรับนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเพื่อการค้าขาย
“นี่จึงเป็นจุดที่ทำให้หนี้เสียอาจไม่ได้แย่เท่าไรนัก” คุณพัชรกล่าว
พูดถึงในฝั่งของ KBank แล้ว ทางฝั่งของบริษัท ทีดี ตะวันแดงเอง ก็มองว่า นี่เป็นโอกาสในการพัฒนาร้านถูกดี มีมาตรฐานเช่นกัน
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ปัจจุบัน ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เปิดไปแล้วกว่า 5,000 ร้าน
มีพาร์ตเนอร์ที่รอเปิดร้านอีกกว่า 1,000 ราย
และในทุก ๆ สัปดาห์ มีพาร์ตเนอร์เข้ามาสมัครเพื่อขอเปิดร้านกว่า 500 ราย
คุณเสถียร จึงตั้งเป้าว่า จะขยายร้านถูกดี มีมาตรฐาน ให้มากขึ้น
โดยคาดว่าจาก 5,000 ร้านในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ร้าน ภายในสิ้นปีนี้
จากนั้น จะขยายเป็น 20,000 ร้าน ภายในปี 2566 และมุ่งสู่ 30,000 ร้าน ภายในปี 2567
อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญในการดำเนินการและการเพิ่มจำนวนร้านค้า ต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล
ดังนั้น คุณเสถียร มองว่า การที่ KBank เข้ามาร่วมทุน จึงเป็นเรื่องดี
เพราะหมายความว่า KBank มองเห็นศักยภาพ และเห็นว่าธุรกิจนี้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ทำให้พี่น้องทั่วประเทศได้ประโยชน์ ได้มีธุรกิจเป็นของตัวเอง
“ถ้าเรามีเงินจำนวนมาก โอกาสที่เราจะเปิดร้านได้อย่างรวดเร็ว ก็มากขึ้น
เราต้องทำอีกหลายอย่างมาก ต้องมีคลังสินค้าที่กระจายอยู่ทั่วประเทศราว 7-8 แห่ง
จึงจะสามารถส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนในการจัดการที่ไม่แพง” คุณเสถียรกล่าว
นอกจากนี้ คุณเสถียรยังได้บอกเล่าเกี่ยวกับการขยายร้านถูกดี มีมาตรฐาน ออกเป็น 3 ช่วง
- ช่วงแรก Point of Sale หรือเป็นศูนย์กลางสินค้า
เป็นช่วงเริ่มต้นของการทำร้านถูกดี มีมาตรฐาน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือเป็นร้านค้าปลีกยุคใหม่ ที่ทันสมัย มีสินค้าครบครัน และสนิทใจกับลูกค้า
ชูแนวคิด “กินแบ่ง ไม่กินรวบ” ที่ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และมุ่งแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย
- ช่วงที่สอง Point of Service หรือเป็นศูนย์กลางสินค้าและบริการ
คือช่วงปัจจุบันของร้านถูกดี มีมาตรฐาน ซึ่งจากเดิมเป็นแค่ศูนย์กลางสินค้า ก็ขยายมาให้บริการมากขึ้น
โดยได้เพิ่มระบบสมาชิก ให้ลูกค้าได้สะสมแต้ม เพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากร้านได้ และระบบพรีออร์เดอร์ (ถูกดี สั่งได้) ที่ให้ลูกค้าสามารถสั่งซื้อสินค้าที่ไม่มีในร้านได้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า
ซึ่งบริการนี้ ทำให้เจ้าของร้านไม่ต้องกังวลเรื่องการสต็อกสินค้า หรือพื้นที่เก็บสินค้าในร้าน และยังช่วยทำให้ร้านเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดอีกด้วย
นอกจากนี้ การร่วมมือกับ KBank ก็ตอบโจทย์ในส่วนของการเป็น Point of Service
นั่นก็คือ ร้านถูกดี มีมาตรฐาน จะกลายเป็นจุดให้บริการทางการเงิน ทั้งให้บริการสินเชื่อ บริการถอนเงิน จ่ายบิล และบริการดิจิทัลต่าง ๆ แก่คนในชุมชนด้วย
- ช่วงที่สาม Point of Everything หรือเป็นศูนย์กลางของชุมชน
วิสัยทัศน์ของคุณเสถียรต่อร้านถูกดี มีมาตรฐาน ก็คือ การเป็นศูนย์กลางของชุมชน
ไม่ใช่แค่ขายสินค้า แต่ยังมีการให้บริการต่าง ๆ ที่มากขึ้น ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้คนในชุมชน
นอกจากการให้บริการทางการเงิน อย่างการให้สินเชื่อแล้ว
ร้านถูกดี มีมาตรฐาน อาจจะเป็นจุดที่ช่วยผู้คนในการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐ เช่น บัตรสวัสดิการ, ลงทะเบียนฉีดวัคซีน
นอกจากนี้ ร้านถูกดี มีมาตรฐาน อาจเป็นจุดบริการทางการแพทย์ เป็นจุดจ่ายยา หรือเป็นจุดรับ-ส่งสินค้าได้ โดยอาศัยโครงข่ายของร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่มีรถส่งสินค้าไปยังร้านที่มีทั่วประเทศอยู่แล้ว
คุณเสถียร ได้ยกตัวอย่างว่า ร้านถูกดี มีมาตรฐาน อาจเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกร ในยามที่สินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำ ก็เข้าไปช่วยซื้อ และกระจายไปวางขายตามร้านถูกดี มีมาตรฐานในร้านต่าง ๆ
เป้าหมายทั้งหมด ก็ตรงกับความตั้งใจของ KBank เช่นกัน ที่วางบทบาทในฐานะสถาบันการเงินที่จะเข้าไปมีส่วนช่วยกลุ่มคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ ได้
เช่น กลุ่มคนที่ไม่มีบัญชีเงินเดือน ไม่มีรายได้ประจำ เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ KBank พยายามผลักดัน เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินของ KBank ได้สะดวกและง่ายขึ้น
คุณเสถียร เชื่อว่า “ภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ ธุรกิจที่วาดหวังไว้เหล่านี้ จะค่อย ๆ สมบูรณ์ขึ้น
และเมื่อถึงเวลานั้น ร้านถูกดี มีมาตรฐานทุกร้าน จะเป็นศูนย์กลางของชุมชน”
ท้ายที่สุด คุณเสถียรมองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาร้านถูกดี มีมาตรฐาน ก็คือ การเป็นประโยชน์ต่อชุมชน
“ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำกับร้านถูกดี มีมาตรฐาน จะมีส่วนช่วยหลายหมื่นครอบครัวในประเทศนี้ ให้ขึ้นมายืนอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี
ต้องยอมรับว่า คนที่ทำร้านโชห่วยทุกวันนี้ เป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่ในสังคม
ถ้าวันหนึ่ง เขามาทำร้านถูกดี มีมาตรฐาน มีรายได้ 5-6 หมื่นบาทต่อเดือน
เขาจะมีตัวตน มีที่อยู่ที่ยืนในสังคม อย่างน้อยครอบครัวของเขาจะมีอนาคต ธุรกิจนี้จะถูกส่งต่อไปถึงลูกหลานได้
หรืออย่างน้อยที่สุด ก็เป็นแหล่งที่คนในชุมชนสามารถกู้ยืมเงิน โดยไม่ต้องถูกเก็บดอกเบี้ย 20-30%” คุณเสถียรกล่าวทิ้งท้าย
ซึ่งคุณพัชร กล่าวว่า เรื่องนี้สอดคล้องกับสิ่งที่ KBank พยายามทำ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
นั่นก็คือ การขยายการให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มคนตัวเล็กตัวน้อยที่เข้าไม่ถึง นั่นเอง..
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” คลิก https://bit.ly/3z1T5hx
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.