“Hyperlocal Marketing” กลยุทธ์ที่ทำให้เลย์ มีหลายรสชาติ

“Hyperlocal Marketing” กลยุทธ์ที่ทำให้เลย์ มีหลายรสชาติ

28 ส.ค. 2022
เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเลย์ ถึงมีรสชาติออกมาไม่ซ้ำกัน
แถมยังมีรสชาติแปลกใหม่ออกมาให้ลิ้มลองกันอยู่เสมอ
และไม่เพียงแค่รสชาติที่ไม่ซ้ำกันในไทยเท่านั้น
แต่เลย์ในต่างประเทศ ก็มีรสชาติที่ไม่เหมือนกับที่ไทยอีกด้วย
ซึ่งนี่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ
แต่เกิดจากความตั้งใจ ด้วยกลยุทธ์ที่เรียกว่า “Hyperlocal Marketing”
เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป
แล้วกลยุทธ์ที่ว่านี้ คืออะไร ?
โดยปกติแล้ว เมื่อธุรกิจมีสินค้าอยู่ในมือและมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
เวลาทำการตลาด ก็จะมุ่งตรงไปยังผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนั้น ๆ
แต่ถ้าสินค้าที่มีอยู่ในมือมีกลุ่มเป้าหมายที่กว้าง
สินค้าจึงต้องมีความหลากหลาย และมีราคาที่เข้าถึงได้
รวมทั้ง ต้องปรับสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้คนในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
เพื่อเพิ่มโอกาสที่แบรนด์จะประสบความสำเร็จในการเจาะตลาด และสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค
และนี่เอง เป็นที่มาของ Hyperlocal Marketing
ซึ่งเป็นแนวทางการทำการตลาดที่ไม่ใช่แค่การตอบโจทย์ผู้บริโภคที่กว้างมากเพียงอย่างเดียว
แต่จะต้องมีความแปลกใหม่ รสชาติถูกปาก และเข้ากันได้กับไลฟ์สไตล์ของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ
ซึ่งเลย์ เป็นแบรนด์ขนมขบเคี้ยว ที่มีความโดดเด่นในด้านนี้
เพราะในแต่ละปี เลย์มักออกรสชาติใหม่ ๆ มาให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลองกันอยู่เสมอ
และพยายามออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในแต่ละประเทศตลอดเวลา
อย่างในไทยเอง รสชาติใหม่ที่ออกมาในปีนี้ ก็ถือว่ามีความหลากหลาย
ไม่ว่าจะเป็น รสเห็ดทรัฟเฟิล รสไก่ทอดหาดใหญ่ หรือรสกลิ่นปูผัดผงกะหรี่
แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้บริโภคชอบรสชาติแบบไหน ?
จริง ๆ แล้วมีหลายเครื่องมือที่แบรนด์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
แต่หนึ่งในวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ คือการใช้ช่องทางออนไลน์ อย่างโซเชียลมีเดีย
ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ที่สามารถเข้าไปอ่านรีวิวหรือคอมเมนต์ของผู้ใช้งาน
รวมถึงให้ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ของแบรนด์ได้ว่า ชอบรสชาติแบบไหน
ซึ่งทำให้เลย์รับรู้การตอบสนองของผู้คน และเก็บข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนารสชาติใหม่ ๆ
เพราะตลาดขนมขบเคี้ยว เรียกได้ว่าเป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง
แถมผู้บริโภคยังมีทางเลือกที่หลากหลาย
การสร้างความแปลกใหม่และเร้าใจให้กับผู้บริโภค จึงเป็นการตลาดที่แบรนด์ควรใส่ใจ
โดยเลย์ยังทำให้หน้าซอง เห็นได้ชัดเจนและจดจำได้ง่าย อีกทั้งราคาของเลย์ก็สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม
รวมถึงมีการวางขายในหลายสถานที่ ทั้งรูปแบบออฟไลน์ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านขายของชำ หรือรูปแบบออนไลน์ ที่มีการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย ทำให้ผู้บริโภคจดจำสินค้า และตัดสินใจไปซื้อมาลิ้มลองรสชาติที่แปลกใหม่ในที่สุด
นอกจากนี้ การโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการใช้ศิลปินหรือนักแสดงคนดัง เป็นสิ่งที่เลย์ทำในหลายประเทศ
โดยในไทยเองนั้น ปัจจุบันก็มีบิวกิ้นและพีพี ศิลปินชื่อดังมาร่วมโปรโมตเลย์รสเห็ดทรัฟเฟิล
หรือก่อนหน้านี้ ก็เป็นญาญ่าและณเดชน์ ที่มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับแคมเปญ ย่อโลกความอร่อยลงซอง
อย่างไรก็ตาม กระแสรักสุขภาพ อาจส่งผลต่อยอดขายของเลย์ได้
เพราะมันฝรั่งทอดเป็นอาหารที่มีไขมันสูง
เลย์จึงเปลี่ยนภาพลักษณ์ด้วยการใช้น้ำมันรำข้าว หรือมีการใช้ช่องทางให้ผู้บริโภคเลือกได้ว่าจะเอาวัตถุดิบไหนออกจากผลิตภัณฑ์ และเลย์จะเสนอสินค้าในเครือที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนคนนั้น
อีกทั้งเลย์ใช้การตลาด ด้วยการทำให้ภาพจดจำของเลย์เป็นขนมสำหรับครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน หรือสำหรับเด็กทุกเพศทุกวัย
และในสหรัฐฯ เอง ยังมีแคมเปญ “More Smiles With Every Bite” เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถออกแบบเมนูที่นำเอาเลย์มาจับคู่กับอาหาร ทำให้เกิดการมีส่วนร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเลย์กลายมาเป็นแบรนด์ที่เป็นที่จดจำของใครหลายคน
และยังเป็นที่พูดถึงในทุกยุคทุกสมัย แม้จะมีอายุมากกว่า 100 ปีแล้วก็ตาม
เพราะเลย์รู้จักที่จะพัฒนาสินค้าให้มีหลากหลายรสชาติ
คอยสร้างความแปลกใหม่อยู่เสมอ และสามารถปรับภาพลักษณ์ให้เป็นไปตามไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั่วโลกได้อย่างดี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.