EIC ประเมิน เศรษฐกิจไทย ปีนี้โต 3.0% ส่วนปีหน้าโต 3.7% หลังภาคการท่องเที่ยวและบริการ ฟื้นตัว

EIC ประเมิน เศรษฐกิจไทย ปีนี้โต 3.0% ส่วนปีหน้าโต 3.7% หลังภาคการท่องเที่ยวและบริการ ฟื้นตัว

13 ก.ย. 2022
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.0% (จากเดิม 2.9%) และ 3.7% ในปี 2566
ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการ จากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการผ่อนคลายมาตรการเดินทางข้ามพรมแดนทั่วโลก
โดย EIC ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทย จะเพิ่มเป็น 10.3 ล้านคนในปีนี้ และ 28.3 ล้านคนในปี 2566 หลังจีนมีแนวโน้มเริ่มเปิดประเทศผ่อนคลายการท่องเที่ยวตั้งแต่ปลายปีนี้
ประกอบกับแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ที่คาดว่าจะเติบโตได้ดีกลับไปใกล้ระดับก่อนเกิด COVID-19 ในปี 2566 ส่งผลให้รายได้จากภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง
แต่ยังมีแรงกดดันจากค่าครองชีพที่ยังสูงอยู่ EIC ปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อไทยในปี 2565 เป็น 6.1% (เดิม 5.9%) และคาดว่าเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงอย่างช้า ๆ อยู่ที่ 3.2 % ในปี 2566 สูงกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ จากราคาพลังงานและอาหารที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง
รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตไปยังราคาสินค้าในกลุ่มอื่นที่มีมากขึ้น
ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
-EIC ปรับประมาณการเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในปีนี้
และมองว่าเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายในปีหน้าอีกปี ซึ่งจะกดดันกำลังซื้อและการบริโภคในประเทศ รวมถึงกระทบต้นทุนและการลงทุนของธุรกิจ
มองไปข้างหน้า เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเปราะบางอยู่ บางกลุ่มครัวเรือนและภาคธุรกิจมีความเสี่ยงรายได้โตไม่ทันค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็ก
นอกจากนี้ รัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยราว 5% ในปลายปีนี้ ซึ่งยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อสะสมนับตั้งแต่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งสุดท้ายในปี 2563 ทำให้แรงงานที่พึ่งพาค่าจ้างขั้นต่ำมีรายได้ที่แท้จริงลดลง
ขณะที่ผู้ประกอบการมีต้นทุนค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากแรงงานต่างชาติออกจากประเทศแล้วยังกลับเข้ามาไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ต้นทุนทางการเงินยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั้งในไทยและประเทศเศรษฐกิจหลัก ยิ่งซ้ำเติมแผลเป็นทางเศรษฐกิจจากวิกฤติ COVID-19 ที่มีอยู่ก่อน
-เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการมากขึ้น
แทนที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกและการลงทุน แต่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะยังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ทยอยลดลงไม่เร็วนักไปจนถึงสิ้นปี 2566 ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ลดลง
ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้า ๆ โดย GDP จะยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อน COVID-19 จนกระทั่งไตรมาส 2 ปี 2566 และเศรษฐกิจไทยยังมี Output gap เป็นลบ และอาจต้องรอจนปลายปี 2567 ที่เศรษฐกิจจะกลับไประดับศักยภาพได้อีกครั้ง
ด้วยเหตุนี้ จึงมองว่า กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่องจนถึงปีหน้า
โดย กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง (ครั้งละ 25 bps) ในเดือน ก.ย. และ พ.ย. สู่ระดับ 1.25% ณ สิ้นปีนี้
และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง (ครั้งละ 25 bps) สู่ระดับ 2% ณ สิ้นปีหน้า เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว
-เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญ ในระยะต่อไป
1) ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป กดดันการส่งออกและลงทุนในระยะถัดไป
2) เศรษฐกิจจีนที่อาจชะลอตัวมากกว่าคาดจากมาตรการ Zero Covid และปัญหาในภาคอสังหาฯ ที่ยังมีหนี้ในระดับสูง
3) เงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จากราคาโภคภัณฑ์ที่กระทบกาลังซื้อของครัวเรือน และต้นทุนในภาคธุรกิจ
4) ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคการผลิตและลงทุน ดังนั้น บทบาทของภาครัฐ ในการดูแลกลุ่มเปราะบางยังคงมีความจำเป็นอยู่
ขณะที่ข้อจำกัดทางการคลังมีมากขึ้น จากทั้งเม็ดเงินและกรอบระยะเวลาใน พ.ร.ก กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่ใกล้หมดลง โดยในระยะถัดไปคาดว่าแรงสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นไปอย่างเฉพาะจุดมากขึ้น
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.