สรุปปรากฏการณ์ โซเชียลมีเดีย กลายเป็นห้องเรียนภาษาไทย

สรุปปรากฏการณ์ โซเชียลมีเดีย กลายเป็นห้องเรียนภาษาไทย

27 ก.ย. 2022
เชื่อว่าหลายคนที่ได้มีโอกาสได้ไถฟีดโซเซียลมีเดียในวันนี้
คงจะได้เห็นหลายแบรนด์ชั้นนำอย่าง KFC, นันยาง, Kerry ต่างพากันสวมบทบาทเป็นคุณครูภาษาไทย
มาสอนการสะกดชื่อแบรนด์หรือชื่อสินค้า ที่หลายคนมักจะสะกดผิดอยู่บ่อย ๆ เช่น
Kerry ที่โพสต์ว่า “เคอรี่ ไม่ใช่ เคอร์รี่” และต้องออกเสียงว่า “แครี่”
KFC ที่โพสต์ว่า “วิงซ์แซ่บ ไม่ใช่ วิ้งแซ่บ”
ซึ่งเรื่องราวนี้ได้สร้างทั้งสีสันให้กับโลกโซเชียล และสร้างความมึนงงให้กับใครหลายคนพอสมควร..
โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้น เริ่มมาจากเพจ “คำไทย” ได้มีการโพสต์สอนคำที่คนไทยมักจะสะกดผิดอยู่เป็นประจำ เช่น
“งอน ไม่ใช่ งอล”
“สังเกต ไม่ใช่ สังเกตุ”
“อนุญาต ไม่ใช่ อนุญาติ”
และปิดท้ายด้วยคำว่า “รัก ไม่ใช่ ดวงดาวเมื่อพราวแสง”
ที่เป็นเนื้อเพลงฮิตของวงสาว สาว สาว หนึ่งในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องแฟนฉันที่โด่งดังมาก ๆ ในอดีต
จนทำให้ใครหลายคนที่ได้เห็นโพสต์นั้น ต่างก็ชื่นชอบและเกิดการแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก เพราะคิดถึงวันเก่า ๆ นั่นเอง
แต่จุดที่ทำให้โพสต์นี้กลายเป็นไวรัลมากขึ้น จนหลายแบรนด์ถึงกับต้องทำตาม นั่นก็เพราะเพจทางการของ “สถานทูต” สหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่มีภาพลักษณ์ดูเป็นทางการ และขึ้นชื่อเรื่องความหินในการผ่านวีซ่า กลับมีการเล่นกับกระแสนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
ด้วยการโพสต์ว่า
“อาร์คันซอ ไม่ใช่ อาร์คันซัส”
“ดีซี ไม่ใช่ รัฐ”
“Rhode Island ไม่ใช่ เกาะ”
และ “รัก ไม่ใช่ ดวงดาวเมื่อพราวแสง”
โพสต์ดังกล่าวกลายเป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว.. และเป็นที่มาว่าทำไมหลายแบรนด์ถึงได้ใช้จังหวะนี้ในการสร้างคอนเทนต์สอนภาษาในลักษณะเดียวกัน
เพื่อทำ Real-time Marketing ที่เป็นการใช้ประโยชน์จากกระแสโซเชียล มาสร้าง Engagement ให้กับตัวเอง ในแบบที่ไม่ต้องเสียเงินโปรโมตแบรนด์นั่นเอง..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.