‘SMD’ โชว์ผลงานงวด 9 เดือนแรกปี 65 ทำรายได้โตกว่า 55.41%  เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ พร้อมซุ่มเปิดตัว ATK นวัตกรรมใหม่ที่แรกในไทย

‘SMD’ โชว์ผลงานงวด 9 เดือนแรกปี 65 ทำรายได้โตกว่า 55.41% เร่งเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ พร้อมซุ่มเปิดตัว ATK นวัตกรรมใหม่ที่แรกในไทย

15 พ.ย. 2022
‘SMD’ เผยผลการดำเนินงานทำรายได้และกำไร 9 เดือนแรก 2565 ดีต่อเนื่อง ทำรายได้ 1,841.12 ล้านบาท เติบโตขึ้น 55.41% และมีกำไรสุทธิ 291.89 ล้านบาท กำไรเติบโตขึ้น 10.28% สภาพคล่องเงินสดล้นมือ ผู้บริหารเดินหน้าขยายโอกาสไปยังธุรกิจใหม่ พร้อมซุ่มเตรียมเปิดตัว ATK นวัตกรรมใหม่ที่แรกในไทย ตรวจได้ทั้งเชื้อ COVID-19 และ Influenza A+B มั่นใจรายได้รวมปี 2565 ทำได้ 2,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย พร้อมตั้งเป้าปีหน้าเติบโตไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายไม่น้อยกว่า 2,200 ล้านบาท 
ดร.วิโรจน์ วสุศุทธิกุลกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซนต์เมด จำกัด (มหาชน) หรือ SMD ผู้นำธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2565 (กรกฎาคม-กันยายน) บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการบริการ จำนวน 442.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 68.45 ล้านบาท ถึงจะชะลอจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย แต่ทำได้ดีเกินคาดแม้รายได้จาก ATK จะหดตัวลงเมื่อเทียบกับต้นปีนี้ ผลักดันให้ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 มีรายได้รวม 1,841.12 ล้านบาท เพิ่มขึ้น  656.47 ล้านบาท หรือยอดขายเพิ่มขึ้น 55.41% กำไรสุทธิ 291.89 ล้านบาท กำไรเติบโตขึ้น 10.28% นับเป็นการโชว์ฟอร์มทำสถิติมีรายได้และกำไร 9 เดือนแรกสูงสุดต่อเนื่อง 
คาดการณ์ผลประกอบการในไตรมาสสุดท้ายของปียังคงมีแนวโน้มที่ดีต่อ ซึ่งได้รับผลบวกจากความต้องการสินค้าเครื่องมือแพทย์ที่ใช้สำหรับรักษาโรคยากและซับซ้อนเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมซุ่มพัฒนาสินค้า เตรียมเปิดตัว ATK นวัตกรรมใหม่ที่แรกในไทย ตรวจได้ทั้งเชื้อ COVID-19 และ Influenza A+B (SARS-CoV-2 and Influenza A+B Antigen Combo Rapid Test) ซึ่งจะมีออกมาจำหน่ายทั้งแบบ professional use สำหรับโรงพยาบาลและแบบ home use สำหรับตรวจด้วยตัวเอง ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม คาดว่าเมื่อเปิดตัวจะได้รับผลตอบรับที่ดีจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19  สายพันธุ์โอมิครอนและสายพันธุ์ XBB ที่เริ่มกลับมาระบาดหนักใหม่ในหลายๆประเทศ จากมาตรการผ่อนคลายในประเทศต่างๆ ซึ่งมาพร้อมกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ A+B 
ทั้งนี้ ในไตรมาส 3 /2565 รายได้จากการขายแยกตามกลุ่มบริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มสินค้าด้านเวชบำบัดวิกฤต คิดเป็นสัดส่วน 46.41% กลุ่มการช่วยหายใจและเวชศาสตร์การนอนหลับคิดเป็นสัดส่วน 21.83% กลุ่มหทัยวิทยาคิดเป็นสัดส่วน 5.78% กลุ่มเครื่องมือแพทย์ทั่วไป คิดเป็นสัดส่วน 24.66% และกลุ่มสมาร์ทฮอสพิทอล คิดเป็นสัดส่วน 1.13% เป็นต้น โดยมีสัดส่วนรายได้จากลูกค้าที่เป็นภาครัฐ 58% และลูกค้าภาคเอกชน 42% 
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SMD กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าลุยงานในไตรมาส 4 อย่างเต็มที่ เพื่อเป้ารายได้รวมในปี 2565 อยู่ที่ 2,000 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าปีหน้าเติบโตไม่น้อยกว่า 10% โดยยอดขายไม่น้อยกว่า 2,200 ล้านบาท พร้อมกันนี้ SMD ได้เดินหน้าต่อยอดธุรกิจเดิมรวมถึงขยายธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตแบบสมดุล  ยั่งยืน และรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 
1) เพิ่มและเน้นสินค้าใหม่สำหรับผู้ที่หายป่วยจาก Covid แล้ว แต่ยังคงมีอาการ Long COVID ซึ่งอาการดังกล่าวพบได้ในอัตราที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการขณะป่วยมากยิ่งมีโอกาสเกิด Long Covid มากขึ้นเท่านั้น เครื่องมือที่เกี่ยวเนื่องสำหรับการรักษา เช่น เครื่องตรวจสมรรถภาพปอดระดับสูง (Lung Function Test) แบบ Bodystik,  เครื่องเพิ่มสมรรถภาพการไหลเวียนโลหิต (EECP), และเครื่องผลิตออกซิเจนขนาดเล็กแบบพกพาติดตัว (Portable Medical Oxygen Concentrator), เครื่องบำบัดด้วยออกซิเจนความกดบรรยากาศสูง (Hyperbaric Chamber) เป็นต้น
2) ธุรกิจบริการให้เช่าเครื่องมือแพทย์ ในลักษณะการเช่าซื้อ (Leasing) รองรับความต้องการของโรคพยาบาลภาครัฐ โรงเรียนแพทย์ รวมทั้งโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ที่ไม่ได้มีเงินก้อนใหญ่สำหรับซื้อเครื่องมือแพทย์ราคาสูงเต็มจำนวนในครั้งเดียว ให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือแพทย์ ที่มีความทันสมัยและเป็นเครื่องมือที่มีความซับซ้อนได้ง่ายยิ่งขึ้น ตอบโจทย์เทรน Aging Society ซึ่งประเทศไทยกำลังจะมีผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นในอนาคตและต้องการเครื่องมือแพทย์มาดำเนินการรักษาโรคต่างๆอย่างเพียงพอ
3) ธุรกิจด้านซอฟแวร์ทางการแพทย์ (Health Tech) ถือเป็นการนำระบบซอฟแวร์ Telemedicine ต่างๆ มาเชื่อมต่อระหว่างเครื่องมือแพทย์เพื่อไปสู่ Hospital Information System ของโรงพยาบาล รวมถึงการจัดจำหน่ายระบบ Hospital Information System โดยบริษัทฯ ได้รับการแต่งตั้งจากบริษัท อีซีฟาย เทคโนโลยี จำกัด ให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ระบบ EzHMIS เป็นระยะเวลา 3 ปี (ลงนามในสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่าย เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565) นอกจากนี้ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษาโปรเจค Health Tech อื่นๆเพื่อเป็นทางเลือกในการทำธุรกิจแบบไม่หยุดอยู่กับที่
4) ธุรกิจจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ Selfcare ผ่านเครื่อง Vending Machine ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบต่างๆให้พร้อม และดีลสถานที่วางกับโรงพยาบาลต่างๆ คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายประมาณปี 2566 ที่จะถึงนี้ โดยเป็นการขายสินค้าอุปกรณ์สำหรับใช้ดูแลสุขภาพด้วยตัวเองที่บ้าน เช่น เครื่องวัดความดันโลหิตแบบดิจิตอล เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย ปรอทวัดไข้ดิจิตอล วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และ ATK เป็นต้น ผ่านช่องทางตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ Vending Machine ซึ่งหน้าจอเป็นระบบทัชสกรีนขนาดใหญ่ จ่ายเงินสะดวกด้วยระบบ QR code บัตรเครดิต เงินสด ธนบัตร ทำให้สะดวกต่อการใช้งาน โดยในเฟสแรก จะเน้นการวางตู้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ให้ผู้ป่วยที่ต้องการเครื่องมือเหล่านั้น สามารถซื้อกลับบ้านได้อย่างสะดวก
นอกจากนี้ โปรเจคล่าสุด เรากำลังมีการพัฒนา ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 และ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A+B  (SARS-CoV-2 and Influenza A+B Antigen Combo Rapid Test) ทั้งแบบ professional use สำหรับโรงพยาบาลและแบบ home use สำหรับตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของประชาชนจำนวนมาก รวมทั้งสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งเราพบว่ามีผู้ป่วยหลายคนมีอาการคล้ายโควิท แต่เมื่อตรวจด้วย ATK COVID-19 แล้วให้ผล Negative ทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นอะไร แยงจมูกเก็บตัวอย่างถูกต้องหรือไม่ เป็นแค่หวัดธรรมดาที่หายได้เอง หรือเป็นไข้หวัดใหญ่ที่ต้องไปพบแพทย์กินยา ซึ่งเราจะสร้างผลิตภัณฑ์มาแก้ไขปัญหานี้ให้กับประชาชน 
ดร.วิโรจน์  กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเองมีประสบการณ์กลับจากไปดูงานที่ต่างประเทศ เมื่อกลับมามีอาการป่วยใกล้เคียงกับโควิดแทบทุกประการ แต่ตรวจ ATK COVID-19 ไม่ขึ้น จึงถือโอกาสทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่นี้และพบว่าตรวจพบ Influenza A หลังจากนั้นจึงรีบไปพบแพทย์ และได้ยา Oseltamivir มาเรียบร้อย ถือว่าเป็น Early Treatment จากการทำ Early Screening ผ่านชุดตรวจแบบใหม่ของเรา และยิ่งการตรวจพบโรคเร็วเท่าไหร่ การรักษาด้วยยาก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้นเช่นกัน  
คาดว่าหากพัฒนา ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 และ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A+B  เสร็จน่าจะได้รับผลตอบรับที่ดี และสร้างความแตกต่างความน่าสนใจให้มากกว่า ATK ในแบบเดิมๆได้อย่างชัดเจน อีกทั้งเราสามารถสร้างกำไร Gross Margin ได้มากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีนวัตกรรมสูงมากขึ้นเมื่อเทียบกับ ATK ในรูปแบบปกติ นอกจากนี้ ในปัจจุบัน บริษัทฯ มีเงินสดเต็มหน้าตัก สภาพคล่องล้นมือ ประกอบกับเงินกู้ธนาคารระยะสั้นและระยะยาวจ่ายคืนหมดแล้วไม่มีเหลือ พร้อมลงทุนเดินหน้าขยายโอกาสไปยังธุรกิจใหม่  เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว 
“SMD เราให้ความสำคัญกับ Business Model และ ESG ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตแบบสมดุล ยั่งยืน และรุ่งเรืองร่วมกัน เรามุ่งเน้นการแสวงหาเครื่องมือแพทย์ที่มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์  ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รวมไปถึงมีอายุยืนยาวมากขึ้น และ/หรือ มีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนทุกท่านที่ได้ลงทุนกับหุ้น SMD ไม่ใช่แค่ได้รับผลดีจากเรื่องกำไรหรือผลตอบแทน แต่ยังเป็นเรื่องของประโยชน์ที่ผู้ป่วย และสังคมรวมทั้งระบบสาธารณะสุขในภาพรวมของไทย จะได้รับตามที่ได้ดังกล่าวมาข้างต้นอีกด้วย” ดร.วิโรจน์ กล่าว
Tag:SMD
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.