ถอดบทเรียน “HAKUNA MATACHA” จากธุรกิจที่ก้าวพลาด สู่ร้านขนมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เจ้าของรางวัลโรบินฮู้ด ร้านแห่งปีดีต่อใจ

ถอดบทเรียน “HAKUNA MATACHA” จากธุรกิจที่ก้าวพลาด สู่ร้านขนมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เจ้าของรางวัลโรบินฮู้ด ร้านแห่งปีดีต่อใจ

16 พ.ย. 2022
“เวลาจะทำอะไร ให้นึกถึงผลประโยชน์ของคนอื่น ก่อนผลประโยชน์ของตัวเอง
เพราะถ้าเรามีเจตนาที่ดีในการทำ และแก้ปัญหาให้คนอื่นได้ สุดท้ายผลดีมันก็จะเกิดขึ้นกับตัวเราเอง”
นี่คือคำพูดของ คุณวิว-ธนพร ภคนันท์วณิชย์ เจ้าของร้านขนมและเครื่องดื่มสไตล์เกาหลี-ญี่ปุ่น “HAKUNA MATACHA” (ฮาคูน่า มาทาช่า)
จากคนที่ทำอาหารไม่เป็น แต่วันนี้เธอกลายเป็นเจ้าของร้านขนมดาวรุ่ง ที่มีฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
รู้หรือไม่ว่า แบรนด์น้องเล็กนี้ เคยก้าวพลาด จนเกือบต้องล้มเลิกกิจการไป
แต่ตอนนั้นคุณวิว บอกตัวเองว่า “จะยอมแพ้ไม่ได้”
ทำให้ HAKUNA MATACHA กลับมายืนได้อีกครั้ง และทุกวันนี้ธุรกิจก็สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว
แล้วตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบนเส้นทางธุรกิจ เธอต้องผ่านอะไรมาบ้าง กว่าจะมาถึงจุดนี้
วันนี้ MarketThink ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณวิว-ธนพร ภคนันท์วณิชย์
ที่จะมาแชร์ถึงประสบการณ์ในการสร้างธุรกิจ ทั้งช่วงที่เกือบจะล้มเหลว และช่วงที่ประสบความสำเร็จ
รวมถึงในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ว่าเธอมีวิธีจัดการกับอุปสรรคอย่างไร ?
- จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ จนมาเป็นร้าน “HAKUNA MATACHA”
ก่อนจะมาสร้างธุรกิจ คุณวิวเคยเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมานาน 8 ปี จนมาเจอสถานการณ์โควิด 19 ซึ่งทำให้ตัวเองมีรายได้น้อยลง จากการถูกลดเงินเดือน และชั่วโมงบิน
เพื่อหาช่องทางในการหารายได้เสริม เธอจึงคิดลองขายของทางออนไลน์ ซึ่งมองว่าพวกเสื้อผ้าน่าจะขายยาก เพราะคนไม่ได้ออกไปเที่ยวกันในช่วงกักตัว แต่ของกินน่าจะขายได้
ถึงแม้จะเห็นช่องทาง แต่ก็มีอุปสรรคอยู่ นั่นเพราะคุณวิวเป็นคนทำอาหารไม่เป็น..
แต่เธอก็ไม่คิดที่จะยอมแพ้ในทันที พร้อมบอกกับตัวเองว่า ถึงแม้จะไม่เคยทำ แต่ก็ควรลองออกจาก Comfort Zone บ้าง
สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจทำขนมขาย โดยไปหาข้อมูล ซื้อหนังสือมาอ่าน ดู YouTube แล้วค่อย ๆ ฝึกทำตาม
ตอนทดลองทำในบ้าน เวลาเพื่อนมาที่บ้าน ก็ให้เพื่อนลองชิมดูว่าอร่อยไหม แล้วขอฟีดแบ็กตรง ๆ เพื่อนำไปปรับปรุงสูตรขนมต่อไป
จนในที่สุด ก็ได้ออกมาเป็นสินค้าตัวแรกอย่าง “โยเกิร์ตผลไม้” โดยตอนแรกได้โพสต์ขายบน Facebook ของตัวเองก่อน และมีลูกค้ากลุ่มแรกเป็นเพื่อน ๆ มาช่วยอุดหนุน ซึ่งผลตอบรับก็ออกมาดี เพื่อนบอกอร่อย เลยสั่งซื้อซ้ำ และซื้อเอาไปฝากคนอื่น ๆ ต่ออีกที
ซึ่งตอนนั้นคุณวิวตั้งใจจะทำขนมขายเล่น ๆ เพื่อหารายได้เสริมอีกทางหนึ่งในช่วงโควิด 19 ที่ชั่วโมงบินลดลงแต่พอสถานการณ์โควิดลากยาว และได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากการขายออนไลน์ เธอเลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทุ่มเทกับธุรกิจอย่างเต็มตัว
ต่อมาคุณวิวตัดสินใจเปิดหน้าร้านของตัวเองในชื่อ “Hakuna Matacha” แถวสีลมซอย 10 โดยที่เลือกทำเลนี้ เพราะมองว่ามีพนักงานออฟฟิศเยอะ แต่เริ่มแรกเปิดร้านขายชานมไข่มุกก่อน ไม่ได้ขายขนม เพราะช่วงนั้นกระแสชานมกำลังมาแรง และเธอคิดว่าน่าจะทำได้ดีในธุรกิจนี้
แต่ความจริงมักไม่ใช่อย่างที่เราคิดเสมอไป..
เพราะผลปรากฏว่าไม่เวิร์ก การแข่งขันในตลาดนี้สูงมาก และธุรกิจสู้คู่แข่งไม่ได้ ซึ่งแรก ๆ เปิดร้านมาคนก็เยอะ เพราะคนกำลังเห่อร้านใหม่ แต่ผ่านไปสักพัก คนก็เริ่มหดหาย บางวันร้านขายได้แค่ 2 แก้วก็มี..
บวกกับร้านตั้งอยู่ในทำเลที่ไม่ดี แถมอยู่ Outdoor ทำให้เวลาฝนตก (ซึ่งตอนนั้นเข้าฤดูฝนพอดี) ร้านก็เลยขายไม่ได้ เพราะไม่มีคนมาเดิน
ตอนนั้นคุณวิวยอมรับว่ารู้สึกเฟลและกดดันมาก เพราะเอาเงินก้อนที่ได้จากการลาออกมาเป็นเดิมพัน และไม่อยากรบกวนที่บ้าน
แต่ถึงแม้ภายในใจจะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว แต่เธอก็ย้ำกับตัวเองเสมอว่า “เจ๊งไม่ได้ ห้ามเจ๊ง ต้องสู้ต่อเท่านั้น”
เธอจึงดิ้นรนทำทุกวิถีทาง นั่งหาข้อมูล หาทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด โดยเริ่มจากการลองเอาอย่างอื่นมาวางขาย เลยเอาเมนูโยเกิร์ตผลไม้ที่เคยทำขายออนไลน์ มาขายในร้านและขยายฐานลูกค้า โดยเพิ่มจุดขายที่ทำเลข้างนอก
แต่เนื่องจากงบมีจำกัด จึงใช้วิธีออกบูทชั่วคราว ตามงานอิเวนต์ต่าง ๆ เพราะไม่ต้องลงทุนเยอะ และได้ออกอิเวนต์ครั้งแรกที่เดอะไนน์ พระราม 9 ซึ่งผลตอบรับกลายเป็นว่า โยเกิร์ตผลไม้ขายดีจนหมดเกลี้ยง แต่ชานมขายไม่ได้เลย
หลังจากนั้น ก็ลองไปออกบูทที่อื่นเพิ่มเรื่อย ๆ และตัดสินใจโฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี โดยไม่ขายชานม และมาเน้นขายโยเกิร์ตกับนมผลไม้ เท่านั้น
ต่อมาคุณวิวจึงเปลี่ยนคอนเซปต์ร้าน ว่าไม่ใช่ร้านชานมไข่มุกแล้ว แต่เป็นร้านขนมและเครื่องดื่มสไตล์เกาหลี-ญี่ปุ่น ซึ่งตอบโจทย์กับตลาดในตอนนั้น ที่คนออกนอกประเทศไม่ได้ และคนไทยชอบอาหารญี่ปุ่น-เกาหลี ในเมื่อไปไม่ได้ Hakuna Matacha เลยอยากยกขนม และเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น-เกาหลี มาไว้ที่เมืองไทย
จากเมนูโยเกิร์ตกับนมผลไม้ ร้านก็มีการแตกไลน์สินค้าใหม่ ๆ มาเป็นเค้กและแซนด์วิช
พัฒนาเมนูไปเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมีทั้งหมด 22 เมนูแล้ว และก็มีผลไม้อื่นนอกจากสตรอว์เบอร์รี
โดยคุณวิวเปิดเผยว่าตอนที่คิดจะทำเมนูเค้กออกมาขาย ใช้เวลาทดลอง 2 เดือน กว่าจะเป็นเค้ก 1 ชิ้น โดยลองผิดลองถูก ปรับสูตรแล้วปรับสูตรอีก จนกว่าจะถูกใจ
และตอนทำเสร็จแล้ว ก็ลองแช่ เพื่อดูว่าเก็บได้นานแค่ไหน ถ้าเอาออกนอกตู้เย็นเป็นอย่างไร ต้องจับเวลา และจดบันทึกเองทั้งหมด เพราะธุรกิจไม่มี R&D ไม่อย่างนั้นเวลาเอาไปขายจริง ก็ไม่รู้จะสื่อสารกับลูกค้าอย่างไร
สุดท้ายก็ได้เป็นรูปเค้กบล็อกมาก่อน เพราะอยากให้แพ็กเกจจริงไม่เหมือนเค้กทั่วไป ที่ต้องทะนุถนอมเพราะมันอยู่ในกล่อง ทำให้เวลากลับบ้าน แม้เค้กจะละลาย ก็เอาไปแช่ตู้เย็น แล้วเอากลับมากินได้เหมือนเดิม
ซึ่งช่วงนั้นเค้กกล่องก็เป็นเทรนด์เกาหลีด้วย ตอนเริ่มวางขาย สินค้าก็หมดอย่างรวดเร็ว พอร้านเห็นว่าขายดี เลยเพิ่มจำนวนสินค้า และยอดขายก็เพิ่มขึ้น
หลังจากนั้น พอบูทที่ไปออกขายดี ทางศูนย์การค้าต่าง ๆ จึงติดต่อเข้ามา ว่ามีพื้นที่ว่าง สนใจทำเป็นร้าน Pop-up ไหม ซึ่งคุณวิวมองว่าเป็นโอกาส จึงตอบตกลงรับทุกโอกาสที่เข้ามา
ทั้งนี้ คุณวิวมีกลยุทธ์ในการเลือกโลเคชันสำหรับเปิดร้าน คือ จะออกไปสำรวจพื้นที่ด้วยตัวเอง โดยไปยืนดูในพื้นที่นั้น ๆ ที่เล็งไว้ แล้วก็สังเกตว่า ช่วงไหนคนเยอะ ช่วงไหนคนน้อย เพื่อดูแทรฟฟิกคนว่าเป็นอย่างไร และดูผังว่าบริเวณนั้นมีร้านค้าอะไรบ้าง เพื่อดูเพื่อนบ้าน ว่าขายอะไร โดยต้องขายสินค้าที่ไม่เหมือนกัน
- การกำหนดกลุ่มเป้าหมายของ Hakuna Matacha
คนทำธุรกิจมักชอบกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เช่น ลูกค้าต้องอายุเท่าไร เป็นใคร อยู่ตรงไหน ตอนแรก คุณวิวก็ทำแบบนั้น โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก-วัยรุ่น แต่การสัมผัสลูกค้าโดยตรง และจากข้อมูลหลังบ้าน พบว่าลูกค้าของร้านค่อนข้างหลากหลาย มีตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เนื่องจากสินค้าของร้านเป็นของที่ดีต่อสุขภาพ และมีสัดส่วนเท่ากันหมด ทั้งชายและหญิง
ซึ่งตอนแรกคุณวิวก็แปลกใจ ไม่คิดว่าผู้ชายจะมาอุดหนุนพวกโยเกิร์ตสตรอว์เบอร์รี มากขนาดนี้ ทำให้คุณวิวรู้ว่า อย่าไปกำหนดกลุ่มลูกค้าตายตัว และ Hakuna Matacha จะไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพราะสามารถขายให้กับทุกเพศ ทุกวัยได้ และเวลาเลือกทำเลตั้งร้าน ที่ไหนแทรฟฟิกเยอะคือโอกาส เพราะทุกคนมีสิทธิ์เป็นลูกค้าของแบรนด์ได้หมด นั่นเอง
- จุดพลิกผัน เข้าสู่โมเดลดิลิเวอรีด้วย Robinhood
แม้ว่าจะออกบูทและมีหน้าร้านหลายแห่งแล้ว แต่คุณวิวมองว่ายังไม่พอจึงเริ่มสนใจช่องทางดิลิเวอรี อย่างไรก็ตามพอไปสมัครแพลตฟอร์มเจ้าไหนก็โดยปฏิเสธหมด ไม่มีใครรับเพราะคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์
แต่โชคดีมาได้ Robinhood ที่กำลังเปิดตัว และ Hakuna Matacha จึงเป็นร้านแรก ๆ ที่เข้าร่วมแอป Robinhood ซึ่งการขยายช่องทางสู่ดิลิเวอรี ถือเป็นการเดินหมากที่ถูกต้อง เพราะหลังจากนั้น ก็เกิดเหตุการณ์ล็อกดาวน์ทั่วกรุงเทพฯ ห้างฯ ต้องปิดชั่วคราว
พอห้างฯ ปิด ร้านบนห้างฯ จึงขายไม่ได้ คุณวิวเลยอาศัยช่องทางดิลิเวอรีมาแก้เกมด้วยการยกตู้แช่ไปที่บ้านของพนักงาน ซึ่งทางร้านจะจ่ายค่าไฟให้ทั้งหมด แล้วดำเนินการย้ายหมุดบน Robinhood ไปที่บ้านของพนักงานแต่ละคน เพื่อเป็นจุดขายและกระจายสินค้า ทำให้ลูกค้ายังสามารถสั่งออร์เดอร์ได้เหมือนเดิม แม้ห้างฯ จะปิด
ซึ่งคุณวิวเผยว่า ข้อดีของ Robinhood คือ เป็นเจ้าเดียวที่ย้ายหมุดได้เลยทันที อย่างเจ้าอื่น เวลาจะเปลี่ยนอะไรยากมาก ๆ ต้องไปแจ้ง Back office และกว่าจะทำเรื่องเสร็จต้องใช้เวลาเป็นเดือน
นอกจากนั้นจุดเด่นของ Robinhood คือการไม่คิดค่า GP ร้านค้าในการใช้แพลตฟอร์ม ทำให้สามารถขายขนมในราคาเท่าหน้าร้านได้ ซึ่งการตัดสินใจอยู่บนแอป Robinhood ในตอนนั้น จึงทำให้ร้านปรับตัวได้ทันที ในช่วงที่ต้องเผชิญกับวิกฤติ
พร้อมกับขยายรอบและพื้นที่ในการส่งสินค้าของร้าน Hakuna Matacha ไปตามทั่วกรุงเทพฯ เช่น ปิ่นเกล้า, ราชพฤกษ์, รังสิต, หลักสี่, บางนา ที่ร้านไม่ได้ตั้งอยู่ ด้วยรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิ โดยร้านจะกด Robinhood ส่งสินค้าให้ลูกค้า
บวกกับตอนนั้น Robinhood ทำโปรส่งฟรี 0 บาท เลยยิ่งช่วยดันยอดขายของร้าน ชดเชยรายได้บนห้างฯ พอเป็นอย่างนี้ เลย Win-Win ทั้งกับร้านและลูกค้า เพราะลูกค้าเวลาสั่ง จะไม่เสียค่าส่ง
ดังนั้นแพลตฟอร์ม Robinhood จึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ร้าน Hakuna Matacha ฝ่าฟันช่วงวิกฤติ ให้สามารถยืนหยัด จนถึงวันที่กลับเข้ามาขายบนห้างฯ ได้เหมือนเดิม
- ยึดหลัก “ลูกค้าต้องได้ประโยชน์” ในการทำธุรกิจ
คุณวิวมีคติว่า เวลาจะทำอะไร ต้องนึกถึงลูกค้าก่อนว่าลูกค้าได้ประโยชน์ พอลูกค้าหรือคนจ่ายเงิน รู้สึกว่าตัวเองได้ประโยชน์ก็รู้สึกอยากอุดหนุนร้านต่อไป อย่างเวลามีลูกค้าสั่งออร์เดอร์มาทาง LINE Chat ของทางร้านก็จะแนะนำอธิบายลูกค้าให้โหลดแอปพลิเคชันและสั่งผ่าน Robinhood ลูกค้าก็จะจ่ายราคาสินค้าที่เท่ากับหน้าร้าน เพราะ Robinhood ไม่เก็บค่า GP ร้านเองก็ไม่จำเป็นต้องบวกราคาขายเพิ่ม
ถ้าลูกค้าไม่มีแอป Robinhood ร้านก็จะอำนวยความสะดวกกดให้ เพียงแค่โอนเงินมาให้อย่างเดียว
ถึงการทำแบบนี้จะเป็นการเพิ่มภาระให้กับพนักงานและแอดมินของร้าน ทั้งขั้นตอนการปักหมุดให้ถูกต้องและใส่รายละเอียดของลูกค้าเพิ่ม
แต่คุณวิวมองว่าหากลูกค้าประหยัดขึ้น และลูกค้าแฮปปี ก็เต็มใจที่จะทำ
เพราะการสร้างประโยชน์และความรู้สึกประทับใจให้กับลูกค้า แม้ลูกค้าจะไม่ได้ซื้อสินค้าทุกวัน แต่ในระยะยาว เขาจะไม่ลืมเรา เพราะความใส่ใจของแบรนด์
พร้อมกับย้ำพนักงานตลอดว่า การทำงานที่นี่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ต้องซื่อสัตย์”
ซื่อสัตย์ทั้งกับบริษัท เพื่อนร่วมงาน และลูกค้า อย่าเอาเปรียบพวกเขา
“พยายามปฏิบัติต่อลูกค้า เหมือนปฏิบัติต่อแฟน” คุณวิวกล่าว
- เส้นทางธุรกิจ ไม่ได้ราบรื่น มีแต่อุปสรรค แต่เราเติบโตได้ ด้วยการเรียนรู้จาก “ความผิดพลาด”
สิ่งที่หล่อหลอมมาเป็น HAKUNA MATACHA ในวันนี้ เกิดจากการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
บนเส้นทางธุรกิจ มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ผู้ประกอบการต้องทำพลาด อย่าง HAKUNA MATACHA เอง ก็เฟลเรื่องชานม ที่สู้คู่แข่งไม่ได้
หรือแม้แต่เรื่องการบริหารจัดการ ที่คุณวิวไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน พอมีพนักงานจำนวนมากขึ้นต้องดูแล ทำให้เคยโดนพนักงานโกง เพราะระบบยังไม่ดี แต่คุณวิวก็ค่อย ๆ เรียนรู้ และปิดช่องโหว่ สิ่งสำคัญคือ เมื่อพลาดแล้ว ต้องยืดอกยอมรับ ลุกให้เร็ว แล้วเอาความผิดพลาดนั้นมาเป็นบทเรียน ให้เราเติบโตขึ้น
- ได้รับรางวัลร้านแห่งปี ดีต่อใจ (Merchant of the Year)
จากร้านเล็ก ๆ ในวันนั้น ที่คุณวิวปลุกปั้นมา ความพยายาม และสปิริตในการฝ่าฟันความท้าทายบนเส้นทางธุรกิจทั้งหมดนี้ ที่คนนอกไม่เคยรับรู้มาก่อน สุดท้ายก็เข้าตา Robinhood
โดยร้าน HAKUNA MATACHA ได้รับ รางวัลผู้พิชิตวิกฤตการณ์ (Best Crisis Management) และรางวัลที่สุดแห่งปี รางวัลร้านแห่งปีดีต่อใจ (Merchant of the Year) จากงานมอบรางวัลคนตัวเล็กที่ยิ่งใหญ่ “Robinhood Academy Awards 2022”
ท่ามกลางร้านอื่น ๆ ซึ่งเป็นร้านดัง ร้านเก่าแก่ ที่เข้าร่วมชิงรางวัลด้วยนั้น
ซึ่งคุณวิว เผยความรู้สึกว่าการได้รับรางวัลนี้ ตัวเองรู้สึกดีใจมาก และทำให้รู้สึกมีพลังว่าการที่สู้วิกฤติตลอดเวลาที่ผ่านมา ก็มีคนเห็นความพยายามของเราแล้ว เป็นแรงขับเคลื่อนที่จะตั้งใจพัฒนารักษาและปรับปรุงให้ดีมากขึ้น
อีกทั้งการได้รับรางวัลนี้ ส่วนตัวคุณวิวยังมองว่าอยากเป็นแรงบันดาลใจให้กับร้านค้าและคนตัวเล็ก ๆ คนอื่น ๆ ด้วย เพราะแสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเป็นร้านใหญ่ ร้านดัง แม้เป็นเพียงร้านเล็ก ๆ ที่ไม่เคยมีชื่อมาก่อน แต่ถ้าสู้ไม่ถอยทุ่มเททำเต็มที่ ก็มีสิทธิ์ได้รับรางวัลเหมือนกัน
- เรื่องที่คุณวิว อยากฝากถึงร้านอาหารที่กำลังประสบปัญหา หรือคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจ
ไม่ว่าจะเจออะไรก็ตาม อย่างแรกต้องมั่นใจในตัวเองก่อน ว่าตัวเองสามารถทำได้ ทำได้ในที่นี้หมายความว่า ทำได้แบบที่ไม่ฝืนเกินตัว
คนเราเวลาทำอะไร ก็ต้องมีทั้งล้มเหลว มีทั้งประสบความสำเร็จ แต่เราอย่าไปเอาประสบการณ์ที่ล้มเหลว มาทำให้ตัวเราต้องล้มเหลวตามไปด้วย
เพราะอย่าลืมว่า การเป็นเจ้าของร้าน เราไม่ได้ดูแลแค่ตัวเราเอง ซึ่งเรามีลูกน้องมีลูกค้ามีทุกคนที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องดูแล เวลาที่เราล้มนึกถึงพวกเขาให้มาก ๆ พยายามอย่าจมปลักนานเราต้องกลับมาให้ไว และค่อย ๆ หาวิธีแก้ปัญหา
นอกจากนี้ เวลาจะทำอะไรก็ตาม ให้นึกถึงผลประโยชน์ของคนอื่น ก่อนผลประโยชน์ของตัวเองเสมอ เพราะหากเรามีเจตนาที่ดีในการที่จะทำอะไรสักอย่าง เพื่อแก้ไขปัญหา หรือช่วยเหลือคนอื่น โดยที่ไม่ต้องนึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองก่อน สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ทั้งหมด มันก็จะดีกับตัวเราเองในที่สุด
การทำธุรกิจหากนึกหวังเอาผลประโยชน์เข้าตัวเองมาก ๆ โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร
ทำแบบนี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว ซึ่งไม่ได้ทำให้มีคนรัก (แบรนด์) ของคุณในระยะยาวอย่างแท้จริง
วันนี้เราอาจจะยังเป็นคนตัวเล็ก สักวันเราจะเป็นคนตัวเล็กที่ยิ่งใหญ่
ถึงเราจะโตช้าหน่อย หรือยังไม่โตในตอนนี้ แม้จะโตในอนาคต แต่ก็เป็นการเติบโตที่ยั่งยืนมากกว่า..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.