ลูกจ้างร้านสำเพ็ง สู่รองเท้าแตะพันล้าน กีโต้ แกมโบล

ลูกจ้างร้านสำเพ็ง สู่รองเท้าแตะพันล้าน กีโต้ แกมโบล

24 ม.ค. 2020
ในบรรดาธุรกิจที่ดูบ้านๆ ธรรมดา แต่แอบรวย
สามารถสร้างรายได้แตะระดับพันล้านได้
นอกจากธุรกิจขนม กับซอสปรุงรสแล้ว อีกตัวอย่างก็คือ
ธุรกิจรองเท้าแตะ..
ซึ่งในตลาดรองเท้าแตะ เจ้าตลาดที่ครองส่วนแบ่ง 3 อันดับแรก ได้แก่
แอ๊ดด้า กีโต้ และแกมโบล
ปี 2561 รายได้และกำไรของบริษัทเหล่านี้
บริษัท แอ๊ดด้า ฟุตแวร์ (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของแบรนด์ “แอ๊ดด้า”
มีรายได้ 1,957 ล้านบาท กำไร 43 ล้านบาท
บริษัท กีโต้ (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์ “กีโต้”
มีรายได้ 1,020 ล้านบาท กำไร 52 ล้านบาท
บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ “แกมโบล”
มีรายได้ 1,189 ล้านบาท กำไร 51 ล้านบาท
ส่วนอีกแบรนด์คงไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะเราต่างรู้จักกันดี ก็คือ ตราช้างดาว รองเท้าแตะพื้นยางสีขาว สายหนีบสีฟ้า ซึ่งเป็นของบริษัท นันยาง โดยปี 2561 มีรายได้ 1,107 ล้านบาท เป็นสัดส่วนรายได้จากรองเท้าแตะ 50% หรือประมาณ 554 ล้านบาท
แต่ที่น่าสนใจ ทั้งหมดนี้ก็คือแบรนด์ กีโต้ และ แกมโบล ที่หลายคนอาจคิดว่าเป็นคู่แข่ง คู่กัดกัน
ความจริงแล้วมีเจ้าของเดียวกัน นั่นคือ พี่น้องตระกูล “กิจกำจาย”
ดังนั้น ถ้ารวมรายได้ทั้งสองแบรนด์เข้าด้วยกัน ก็จะได้ 2,209 ล้านบาท และกำไร 103 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเจ้าตลาดอย่าง แอ๊ดด้า ทันที
กีโต้ มีสโลแกน “เท่ที่เท้า”
แกมโบล มีสโลแกน “Join the way”
เรื่องราวจุดเริ่มต้นของ พี่น้องกิจกำจาย ยิ่งน่าสนใจไม่แพ้กัน
กว่าจะสร้างอาณาจักรรองเท้าแตะระดับประเทศมาได้
จุดสตาร์ต เริ่มที่ศูนย์ ไม่มีเงินทุน ไม่ความรู้ ไม่มีการศึกษา หรือคนที่คอยบอกลู่ทาง เพื่อให้ไปถึงเส้นชัย
พี่น้องกิจกำจายเกิดในครอบครัวชาวจีน ที่มีฐานะยากจน เวลาทานข้าวต้องซื้อมาแบ่งกินด้วยกัน
ทำให้ต่างคนต้องหางานทำไปด้วย เรียนไปด้วย
พวกเขาจึงตัดสินใจเรียนจบ ป.4 แล้วออกมาทำมาหากิน หรือค้าขาย แทนที่จะเรียนต่อ
หลังจากเรียนจบ พวกเขาก็ได้ทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายรองเท้าย่านสำเพ็ง
ในตอนนั้น รองเท้าที่ขายราคาเพียงคู่ละ 3 บาทเท่านั้น
เมื่อทำงานอยู่พักหนึ่ง ทำไปทำมา จนเรียนรู้เรื่องรองเท้าและวิชาการค้าขายได้ระดับหนึ่ง
พวกเขาก็เริ่มเห็นลู่ทาง เห็นว่ากิจการรองเท้ามีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
บวกกับความคิดที่ว่า หากอยากมีรายได้มากขึ้นจนพอเลี้ยงดูครอบครัวได้ ก็ต้องออกไปโบยบินทำธุรกิจเอง
เหล่าพี่น้องได้เริ่มธุรกิจแรกเปิดแผงขายรองเท้าตามตลาดนัด
โดยรับรองเท้าหลายๆ แบรนด์มาจากโรงงาน แล้วก็ขยับมาขายส่งให้แก่ร้านค้าปลีกต่างๆ
ทำธุรกิจขายส่งแบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนโรงงานผลิตตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่งไม่ทัน
จึงจุดประกายความคิดที่ว่า ต้องมีโรงงานผลิตรองเท้าเป็นของตัวเอง..
เพราะจะได้ควบคุมทุกขั้นตอนการผลิต รวมถึงต้นทุนและคุณภาพสินค้า
จากแต่เดิมกำไรต้องขึ้นกับผู้ผลิตเป็นใหญ่ พอควบคุมต้นทุนได้ ก็สามารถทำกำไรได้มากขึ้น
โดยเริ่มแรกใช้เงินทุนที่เก็บมาสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร 2 - 3 ตัว พร้อมที่ดินเล็กๆ
และเริ่มปั้นแบรนด์รองเท้าของตัวเองผลิตขาย ชื่อ “กิเลน” ในปี พ.ศ. 2512
ซึ่งชื่อนี้เป็นสัตว์ในตำนานของจีน ที่มีหน้าตาคล้ายๆ สิงห์
แรกๆ โรงงานใช้กลยุทธ์ทำน้อยๆ ซื้อวัตถุดิบด้วยเงินสด ไม่ทำอะไรเกินตัว
แต่พอผ่านไปได้ 5 ปี ก็เริ่มหาลู่ทางขยายกิจการ ลงทุนโรงงานเพิ่ม
จึงกู้เงินธนาคารมาลงทุน สั่งนำเข้าเครื่องจักรขนาดใหญ่จากอิตาลี เกาหลีเพิ่ม
ขยายโรงงานจากพื้นที่ไม่ถึง 1 ไร่ ก็ขยายไปถึง 12 ไร่
สั่งวัตถุดิบมาเก็บไว้จำนวนมาก จนโรงงานไม่มีที่เก็บ ต้องเอาไปวางไว้หน้าโรงงาน
เรียกได้ว่าทุ่มหมดหน้าตัก
จึงต้องรับออเดอร์จากลูกค้ามาจำนวนมาก เป็นจำนวนหลายล้านคู่ เพื่อให้คุ้มค่าต่อการลงทุน
แต่แล้ว.. ด้วยความเก่งค้าขาย แต่ไม่เก่งผลิต จึงบริหารการผลิตผิดพลาด
ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าตามออเดอร์ลูกค้าได้ทัน
เมื่อรายได้ไม่เข้าเป้า ในขณะที่ขยายโรงงานที่ใหญ่เกินตัว มาพร้อมกับหนี้สินจำนวนมาก
เงินทุนร่อยหรอ จนกิจการเกือบล้มละลาย
ถึงมีปัญหารุมเร้า มืดแปดด้าน แต่ด้วยความสามัคคี พี่น้องกิจกำจายจึงค่อยๆ ช่วยกันแก้ปัญหา
มีการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ เลือกรับเฉพาะออเดอร์ OEM ที่มีคุณภาพ อัตรากำไรดี
และเริ่มโฟกัสกับสิ่งที่ถนัดที่สุด ซึ่งก็คือการผลิตรองเท้าแตะ ส่วนอะไรทำแล้วขาดทุน ก็เลิกทำไป
โรงงานเคยรับจ้างผลิต OEM ให้กับแบรนด์ชื่อดังมากมาย เช่น Nike, Adidas, Puma, Hush Puppies
ก่อนจะหันมาเน้นสร้างแบรนด์รองเท้าของตัวเองมากขึ้น เพราะมองว่ามีอัตรากำไรที่ดีกว่า
เมื่อธุรกิจฟื้นตัว ก็ได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์ กิเลน มาเป็น กีโต้ ในปี พ.ศ. 2535
เพราะรู้สึกว่าชื่อเดิมไม่ทันสมัย ฟังดูแล้วเชยๆ
ถ้าต้องการสร้างแบรนด์ให้เติบโตต่อไปได้ในระยะยาว ต้องเปลี่ยนชื่อ และสร้างแบรนด์ให้ดูสากลขึ้น
และก็เหมือนโชคกลับมาเข้าข้าง
เพราะในช่วงนั้น กระแสสินค้าและแบรนด์ญี่ปุ่นในเมืองไทยกำลังร้อนแรง
จึงทำให้ “กีโต้” ที่ชื่อคล้ายญี่ปุ่น ดูมีคุณค่าเพิ่มขึ้นในสายตาลูกค้า
ส่วนแบรนด์ “แกมโบล” ถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2546
โดยคุณสุรชัย กิจกำจาย หนึ่งในพี่น้องตระกูลกิจกำจาย ได้แยกตัวออกมาสร้างแบรนด์รองเท้าของตัวเอง
แกมโบล แปลว่า กระโดดโลดเต้น ในภาษาอังกฤษ
ซึ่งคุณสุรชัยมองว่า เหมาะกับการเป็นชื่อแบรนด์รองเท้า
และสามารถสื่อได้อีกว่า เน้นเจาะกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ
การแยกแบรนด์ แกมโบล ออกมาอีกแบรนด์ ไม่ใช่เพื่อต้องการแย่งชิงดีชิงเด่นกันระหว่างพี่น้อง
แต่เพื่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ การตลาด และนวัตกรรม
รองเท้าแตะที่สร้างชื่อให้กับ กีโต้ และเป็นตำนานมากที่สุดคงเป็น Kito Keyboard
ส่วน แกมโบล ก็เป็นรุ่นรองเท้าสลับสี หรือข้างละสี
ซึ่งต่างเป็นรุ่นที่ถูกออกแบบมาให้มีความแปลกใหม่ และได้ถูกจำหน่ายไปแล้วกว่าหลักล้านคู่
ปัจจุบันโรงงานผลิตของกีโต้และแกมโบล มีพนักงานกว่า 2,600 คน
มีกำลังการผลิต 30,000 คู่ต่อวัน ซึ่งผลิตเต็มที่ได้ 60,000 คู่ต่อวัน
กระบวนการผลิตจะใช้แรงงานฝีมือ ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องจักร
ซึ่งจะทำให้สินค้าได้คุณภาพละเอียดกว่าการผลิตแบบใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ 100%
กีโต้และแกมโบล มีการส่งออกไปขายต่างประเทศ
และเป็นที่นิยมในตลาดเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว, เมียนมา, กัมพูชา และเวียดนาม
การส่งออกคิดเป็น 30% ของรายได้
ซึ่ง 80% ของการส่งออกทั้งหมดจะเป็นแถบอาเซียน ส่วนที่เหลือคือตะวันออกกลาง
กลยุทธ์การตลาดที่กีโต้และแกมโบลใช้ในปัจจุบัน จะเน้นเรื่อง Emotional มากกว่า Functional
เพราะผู้บริโภคในยุคนี้ เวลาซื้ออะไร จะซื้อด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล
คำนึงถึง ภาพลักษณ์, แบรนด์, ดีไซน์, พรีเซ็นเตอร์ ฯลฯ มากกว่าความคุ้มค่า หรือความทนทาน
จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ กีโต้และแกมโบล กำลังสร้างแบรนด์ให้ดูเท่ ดูคูลในสายตาลูกค้า โดยเฉพาะวัยรุ่นสมัยใหม่
อย่างเช่น ล่าสุด ทางกีโต้ก็ได้จ้างพรีเซ็นเตอร์คนใหม่ในปี พ.ศ. 2563
คือคุณ เป๊ก ผลิตโชค เพื่อเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และเป็นการสื่อสารว่า ใส่กีโต้ ก็หล่อเท่ได้เหมือนกัน
เมืองไทยเป็นเมืองร้อน
รองเท้าแตะจึงเป็นไอเทมที่เกือบทุกคนต้องมีเผื่อไว้อย่างน้อยคนละคู่
เอาไว้ใส่ในวันสบายๆ อย่างเช่น ออกไปซื้อของหน้าปากซอย เดินตลาด เดินห้าง
ตลาดและธุรกิจรองเท้าแตะ จึงน่าจะอยู่ควบคู่กับสังคมไทยไปอีกนาน
เส้นทางของพี่น้องกิจกำจาย ที่มีจุดเริ่มต้นจากลูกจ้างย่านสำเพ็ง จนกลายเป็นเจ้าแบรนด์รองเท้าแตะระดับพันล้าน
สรุปเป็นเคล็ดลับความสำเร็จได้ว่า
พวกเขาแค่เดินไปเรื่อยๆ และไม่หยุดเดินไปข้างหน้า
บนเส้นทางที่พวกเขาเลือกและเชื่อมั่น
จนในที่สุด.. พวกเขาก็ได้ก้าวเข้าเส้นชัย
ด้วยรองเท้าแตะที่พวกเขาสร้างมากับมือ
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.