COMAC C919 เครื่องบินที่จีนใช้เวลา 14 ปี ในการพัฒนา ยอมขโมยทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแข่งกับ Airbus และ Boeing

COMAC C919 เครื่องบินที่จีนใช้เวลา 14 ปี ในการพัฒนา ยอมขโมยทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อแข่งกับ Airbus และ Boeing

20 พ.ย. 2022
ในโลกนี้ ผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ มีผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2 ราย ที่สามารถครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ไปได้ นั่นคือ Airbus บริษัทสัญชาติยุโรป และ Boeing บริษัทสัญชาติอเมริกัน
ไม่ว่าประเทศใดในโลก ก็ต้องซื้อเครื่องบินโดยสารจาก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่นี้ แม้แต่สายการบินในประเทศจีนเอง ก็ต้องยอมซื้อเครื่องบินจากทั้ง Airbus และ Boeing
แต่ในขณะนี้ “จีน” มีความพยายามในการพัฒนาเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์เป็นของตัวเอง เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างชาติให้ได้มากที่สุด
และในวันนี้จีนก็ทำสำเร็จ.. ด้วยเครื่องบิน COMAC C919 ที่ใช้ระยะเวลาในการพัฒนานานกว่า 14 ปี
เครื่องบิน COMAC C919 เป็นเครื่องบินโดยสาร ขนาด 158-168 ที่นั่ง ถูกสร้างมาเพื่อเป็นคู่แข่งกับ Airbus A320 และ Boeing 737 Max โดยตรง เป็นผลงานการพัฒนาของบริษัท ซึ่งมีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ที่มีชื่อว่า Commercial Aircraft Corporation of China หรือเรียกย่อ ๆ ว่า COMAC
โดยเครื่องบิน COMAC C919 นี้ มีราคาอยู่ที่ราว 90-100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,200-3,600 ล้านบาท) ซึ่งนับว่าถูกกว่า Airbus A320 ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 111 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,000 ล้านบาท) และ Boeing 737 Max 8 ซึ่งมีราคาอยู่ที่ 121 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,300 ล้านบาท)
หลังจากเริ่มต้นการพัฒนาในปี 2008
COMAC C919 ผ่านอุปสรรคมามากมาย จนในที่สุด ก็ได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลการบินของจีน เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
และในขณะนี้ COMAC C919 ได้รับคำสั่งซื้อจากสายการบินภายในประเทศจีน รวมแล้ว 815 ลำ โดยเป็นคำสั่งซื้อจากงาน Airshow ในเมืองจูไห่ ประเทศจีน ซึ่งจัดขึ้นในช่วงวันที่ 8-13 พฤศจิกายน ราว 330 ลำ
- ทำไมจีน จึงอยากพัฒนาเครื่องบินโดยสารเป็นของตัวเอง ?
สาเหตุที่ทำให้จีน ต้องการพัฒนาเครื่องบินโดยสารเป็นของตัวเอง แน่นอนว่าสาเหตุหลัก เพราะอยากลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ โดยเฉพาะเครื่องบินโดยสาร ที่มีผู้เล่นรายใหญ่เป็นบริษัทสัญชาติยุโรป และอเมริกัน
ซึ่งในแต่ละปี สายการบินสัญชาติจีน รวมถึงบริษัทที่ทำธุรกิจให้เช่าเครื่องบิน มีความต้องการเครื่องบินโดยสารจำนวนมาก
และมีการคาดการณ์ว่า ประเทศจีนเพียงแห่งเดียว มีความต้องการเครื่องบินโดยสาร เกือบ 9,000 ลำ ภายในเวลา 20 ปี
โดยเครื่องบินโดยสารขนาดเล็กอย่าง COMAC C919 รวมถึง Airbus A320 และ Boeing 737 Max ก็มีความต้องการมากที่สุด ราว 6,300 ลำ
จึงจะเป็นการดีกว่า หากทำให้ทั้งเทคโนโลยี การผลิต และยอดขายเครื่องบิน เกิดขึ้นที่ประเทศของตัวเอง
- ยอมทำทุกอย่างเพื่อพัฒนาเครื่องบินของตัวเอง
แม้จีนจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้าน “เงินทุน” ที่รัฐบาลสามารถทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อสร้างเครื่องบินโดยสารเป็นของตัวเองได้
แต่การพัฒนา COMAC C919 ก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะมีแค่เงินอุดหนุนจากรัฐบาลอย่างเดียวยังไม่พอ ทว่าต้องมีทั้งองค์ความรู้ และเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง
ทำให้ COMAC C919 กลายเป็นเครื่องบินสัญชาติจีน ที่ใช้ชิ้นส่วนนำเข้าจากชาติตะวันตกจำนวนมาก เช่น
- เครื่องยนต์ จากบริษัทร่วมทุน ระหว่างสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส
- ระบบควบคุมการบิน ระบบบันทึกการบิน และเรดาร์ตรวจจับสภาพอากาศ จากสหรัฐอเมริกา
- โครงสร้างปีกเครื่องบิน จากเยอรมนี
- ระบบตรวจจับควันในห้องโดยสาร จากสหราชอาณาจักร
และมีเพียงชิ้นส่วนภายนอก เช่น โครงสร้างของเครื่องบิน ฝาครอบเรดาร์ตรวจจับอากาศ และชิ้นส่วนปีกที่เคลื่อนที่ได้เท่านั้น ที่จีนเป็นผู้ผลิตได้ด้วยตัวเอง
นั่นหมายความว่า เครื่องบิน COMAC C919 ใช้ชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างประเทศมากถึง 60%
แต่สิ่งที่จีนต้องการ จากการพัฒนาเครื่องบินลำนี้ คือการลดการพึ่งพาจากต่างชาติ
ทำให้จีน คิดต่อไปอีกขั้น ด้วยการตัดสินใจพัฒนาเครื่องยนต์ที่จะใช้กับเครื่องบินรุ่นนี้ด้วยตัวเอง
ทดแทนเครื่องยนต์ LEAP-1C ซึ่งเป็นผลงานของ CFM International บริษัทร่วมทุนระหว่าง General Electric ของสหรัฐอเมริกา และ Safran ของฝรั่งเศส และเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ติดตั้งกับเครื่องบิน Airbus A320 และ Boeing 737 Max อยู่แล้ว
หลังจากนั้นไม่นาน จีนก็ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องยนต์ที่ใช้กับ COMAC C919 เป็นของตัวเอง โดยใช้ชื่อเรียกเครื่องยนต์ที่ได้พัฒนาเองนี้ว่า CJ-1000AX
แต่กลายเป็นว่า เครื่องยนต์ CJ-1000AX ที่จีนพัฒนาขึ้นนี้ กลับมีลักษณะคล้ายกับเครื่องยนต์ LEAP-1C ของ CFM International ในหลายส่วน โดยเฉพาะขนาดของเครื่องยนต์ และใบพัด รวมถึงลักษณะทางวิศวกรรมอื่น ๆ
จนหลาย ๆ ฝ่ายต่างตั้งข้อสงสัย ว่าจีนพัฒนาเครื่องยนต์นี้ด้วยตัวเองจริงหรือไม่.. ?
- ปฏิบัติการพิเศษ “แฮกข้อมูล” เทคโนโลยีการบินของชาติตะวันตก
เมื่อหลาย ๆ ฝ่ายตั้งข้อสงสัย ทำให้กระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา (United States Department of Justice) อยู่เฉยไม่ได้ จึงเริ่มทำการสอบสวน และพบว่าความจริงแล้ว จีนไม่ได้พัฒนาเครื่องยนต์รุ่นนี้ด้วยตัวเอง
แต่เกิดจากปฏิบัติการพิเศษ แฮกข้อมูลบริษัทเทคโนโลยีการบินของชาติตะวันตกจำนวนมาก เพื่อขโมยข้อมูลทางเทคโนโลยี และทรัพย์สินทางปัญญา นำมาพัฒนาเครื่องยนต์ รวมถึงชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่ใช้ในเครื่องบินรุ่นนี้ด้วยตัวเอง
จากการรายงานของกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา พบว่า ปฏิบัติการแฮกข้อมูลนี้ กินระยะเวลานานหลายปี ตั้งแต่ปี 2010-2015
โดยใช้วิธีการติดตั้งมัลแวร์ขโมยข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ผ่านทางอินเทอร์เน็ต และหากไม่สามารถเจาะระบบเข้าไปได้ ก็จะใช้วิธีการจ้างพนักงานสัญชาติจีน ที่ทำงานในบริษัทเทคโนโลยีการบินซึ่งเป็นเป้าหมาย เพื่อนำมัลแวร์ไปติดตั้ง ผ่านทาง USB Flash Drive โดยตรง
ที่สุดแล้ว จีนสามารถขโมยข้อมูลจากบริษัทเทคโนโลยีการบิน จากชาติตะวันตกได้สำเร็จ รวมทั้งสิ้น 13 แห่ง โดยส่วนใหญ่ เป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน เช่น Ametek, Honeywell, Safran, Capstone Turbine และ General Electric
ผลจากการแฮกข้อมูลนี้ ทำให้เกิดการจับกุมเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองคนหนึ่งของจีน ในขณะประชุมแบบลับ ๆ กับวิศวกรของ General Electric ที่ประเทศเบลเยียม เมื่อเดือนเมษายน ปี 2018
ซึ่งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองคนนี้ คิดว่าวิศวกรของ General Electric จะเปิดเผยข้อมูลทางวิศวกรรมของเครื่องยนต์ให้กับเขา เพื่อนำกลับไปพัฒนาเครื่องยนต์ที่ประเทศจีนด้วยตัวเอง
และหลังจากนั้นไม่นาน เรื่องราวการแฮกข้อมูลจากบริษัทเทคโนโลยีการบินในโลกตะวันตกกว่า 13 แห่ง ก็ถูกเปิดเผยให้กับโลกได้รับรู้ โดยการกระทำทั้งหมด เป็นผลจากความพยายามของจีน ที่ต้องการลดการพึ่งพาจากต่างชาติ แม้จะต้องแลกมาด้วยการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ตาม
ขณะที่ในปัจจุบัน เครื่องบิน COMAC C919 นี้ เพิ่งจะได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานด้านการบินของประเทศจีน ให้ขึ้นบินได้เป็นครั้งแรก เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นการปิดตำนานการพัฒนาเครื่องบินอันสุดโต่ง ที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 14 ปี
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินหลาย ๆ คน ได้ให้ความเห็นต่อเครื่องบิน COMAC C919 ไว้ว่า เป็น
“เครื่องบินที่มีเทคโนโลยีอันล้าสมัย ซึ่งคุณสามารถหาซื้อได้ในปัจจุบัน”
เพราะชาติตะวันตก ต่างไม่ไว้ใจ ในการทำการค้า หรือขายชิ้นส่วนเครื่องบินให้กับบริษัทสัญชาติจีนนี้อีกต่อไป จนทำให้เครื่องบินรุ่นนี้ ไม่ใช่เครื่องบินที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์กันด้วยว่า การแฮกข้อมูลจากบริษัทเทคโนโลยีการบินสัญชาติตะวันตก อาจไม่ได้หยุดลงจริง ๆ ก็ได้ เพราะ COMAC ยังมีแผนการพัฒนาเครื่องบินรุ่นที่ใหญ่กว่า และทันสมัยกว่า ในอนาคตอันใกล้นี้..
อ้างอิง :
-https://www.businessinsider.com/comac-c919-chinese-commercial-jet-built-rival-boeing-and-airbus-2022-2
-https://www.businessinsider.com/comac-c919-chinese-commercial-jet-built-rival-boeing-and-airbus-2022-2
-https://www.channelnewsasia.com/business/chinas-comac-secures-330-aircraft-orders-boosts-demand-outlook-airshow-3055941
-https://www.justice.gov/opa/press-release/file/1106491/download
-https://www.zdnet.com/article/building-chinas-comac-c919-airplane-involved-a-lot-of-hacking-report-says/
-https://www.extremetech.com/extreme/300313-report-chinas-new-comac-c919-jetliner-is-built-with-stolen-technology
-https://www.globaltimes.cn/page/202211/1278987.shtml
-https://www.industryweek.com/the-economy/article/21118569/how-china-stole-an-entire-airplane
-https://www.flightglobal.com/systems-and-interiors/china-completes-assembly-of-first-high-bypass-turbofan-engine/126587.article
-https://simpleflying.com/comac-c919-airbus-a320/
-http://english.comac.cc/news/latest/202209/30/t20220930_7349819.shtml
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.