ร้านสเต๊ก “เจฟเฟอร์” กำลังอยู่ในห้องไอซียู

ร้านสเต๊ก “เจฟเฟอร์” กำลังอยู่ในห้องไอซียู

30 ม.ค. 2020
ถ้าไม่รู้จะทำธุรกิจอะไร ก็ให้เปิดร้านอาหาร..
สโลแกนนี้คงไม่ใช่สูตรสำเร็จ ที่ใช้ได้ทุกสถานการณ์แล้วในยุคนี้
เพราะแม้แต่ร้านอาหารเจ้าดังบางราย ก็แทบเอาตัวไม่รอด
รู้ไหมว่า มีร้านสเต๊กชื่อดัง ที่เมื่อก่อนเคยปัง ตอนนี้เลือดกำลังใกล้หมดตัว..
ผลประกอบการของบริษัท เจฟเฟอร์เรสโตรองต์ จำกัด หรือร้านสเต๊กเจฟเฟอร์ที่เรารู้จักกัน
ปี 2559 มีรายได้อยู่ที่ 708 ล้านบาท ขาดทุน 5 ล้านบาท
ปี 2560 มีรายได้อยู่ที่ 647 ล้านบาท ขาดทุน 76 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้อยู่ที่ 611 ล้านบาท ขาดทุน 81 ล้านบาท
โดย 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทขาดทุนรวมไปแล้วกว่า 162 ล้านบาท และถ้าพื้นฐานกิจการไม่เปลี่ยนไป
บริษัทนี้ก็มีแนวโน้มที่บริษัทจะมีรายได้ลดลง และขาดทุนมากขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยอัตราทำกำไรที่เป็นอยู่
ทุกๆ ยอดขาย 100 บาท ของร้านเจฟเฟอร์จะขาดทุน 13 บาท
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราเดินเข้าร้าน แล้วสั่งเมนูสเต๊กไก่เจฟเฟอร์ ที่จานละ 99 บาท
แสดงว่าร้านจะรับภาระขาดทุนไป 13 บาทต่อจาน..
ทั้งนี้ต้องหมายเหตุว่า ถ้าปริมาณยอดขายของร้านเพิ่มขึ้น อัตราการขาดทุนอาจลดลง
เนื่องจากร้านมีต้นทุนคงที่ อย่างเช่น ค่าเช่า และ เงินเดือนพนักงานอยู่
แต่กลับกัน หากร้านมียอดขายหดตัวลง ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ก็ทำให้อัตราการขาดทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน
แล้วเกิดอะไรขึ้นกับร้านสเต๊กในอดีตที่ผู้คนแวะเข้ามาเกือบเต็มร้าน แต่ในวันนี้กลับเงียบเหงา ?
เมื่อสมัยก่อน ในช่วงแรกๆ ที่ร้านเจฟเฟอร์เข้ามาตีตลาด ได้รับผลตอบรับจากผู้บริโภคค่อนข้างดี
ซึ่งร้านดึงดูดลูกค้าด้วยกลยุทธ์อาหารราคาถูก ราคาต่อจานไม่ถึงหลักร้อย
และมีจุดเด่นเรื่องการ Mix & Match ในเมนูอาหาร
เวลาสั่งอาหาร ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะทานอะไรคู่กับอะไร
จับคู่สเต๊กชิ้นที่ 2 ชิ้นที่ 3 หรือเครื่องเคียงสารพัดเมนูเพิ่มได้ตามใจชอบ
ผ่านเมนูหลากหลายมากกว่า 100 เมนู ทั้งสเต๊ก, สลัด, สปาเก็ตตี้, เบอร์เกอร์, ข้าว, เครื่องดื่ม และขนมหวาน
ซึ่งสมัยก่อนยังไม่ค่อยมีร้านสเต๊กที่ให้ตัวเลือกแบบนี้กับลูกค้า
ด้วยราคาที่สบายกระเป๋า มีตัวเลือกหลากหลาย แถมรสชาติอาหารยังถูกปากคนไทย
เลยทำให้ เจฟเฟอร์เริ่มครองใจผู้บริโภคได้ และอดีตก็เคยเป็นตัวเลือกร้านสเต๊กแรกๆ ที่ผู้คนนึกถึง ซึ่งมีภาพลักษณ์สูสีกับร้านสเต๊กแนวหน้าอื่นๆ
แต่เมื่อมีคู่แข่งมากขึ้น ในขณะที่ร้านต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูง ทั้งค่าเช่าพื้นที่ห้าง และค่าพนักงาน อัตรากำไรของธุรกิจจึงต่ำ และลำบากที่จะแข่งขันด้วยถ้าคุณภาพสินค้าและบริการของเจ้าอื่นดีกว่า
ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่สะสมเรื่อยมา จนเจฟเฟอร์ เริ่มแสดงอาการโคม่า
แล้วสถานการณ์ของคู่แข่งเจฟเฟอร์เป็นอย่างไร ?
คู่กัดที่เป็นเจ้าตลาดร้านสเต๊ก ก็คงไม่พ้น ซานตาเฟ่ กับ ซิซซ์เล่อร์
บริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด เจ้าของซานตาเฟ่ สเต๊ก
ปี 2560 มีรายได้ 1,148 ล้านบาท กำไร 49 ล้านบาท
ปี 2561 มีรายได้ 1,159 ล้านบาท กำไร 46 ล้านบาท
บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด เจ้าของร้าน ซิซซ์เล่อร์ เจ้าตลาดใหญ่สุด
ปี 2560 มีรายได้ 2,580 ล้านบาท กำไร 97 ล้านบาท
ปี 2561 มัรายได้ 2,669 ล้านบาท กำไร 77 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีคู่แข่งร้านสเต๊กหน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย ที่เข้ามาร่วมวง รอเวลาเลื่อยขาเก้าอี้จากรุ่นพี่ๆ
อย่างเช่น Eat-Am-Are ร้านสเต๊กที่กำลังมาแรง ด้วยราคาและคุณภาพที่อร่อยคุ้ม พร้อมบริการที่ดี จนทำให้ผู้บริโภคต่างประทับใจ
ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น พร้อมได้รับอาหารและบริการที่ดีขึ้นจากภาวะการแข่งขัน
แต่ก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ เจฟเฟอร์ ต้องค้นหาให้ได้ว่าจะติดอาวุธอะไรไปสู้กับคู่แข่ง
พร้อมหาวิธีเพิ่มยอดขาย และกลับมาทำกำไรได้เช่นเดิม
โดยปกติแล้ว เราทราบกันดีว่า ธุรกิจที่ปิดกิจการไป ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่กิจการขาดทุน
แต่เพราะกิจการขาดกระแสเงินสดที่เพียงต่อการดำเนินธุรกิจ
กรณีของ เจฟเฟอร์ ก็เช่นกัน ถึงแม้ร้านจะขาดทุนต่อเนื่อง แต่หากมีเงินสดเพียงพอ ก็สามารถเปิดร้านต่อไปได้เรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ขาดทุน ก็เหมือนคนป่วยที่หายใจอยู่ ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัด จนกลับมาทำกำไร
อาการก็จะทรุดลงเรื่อยๆ
ณ สิ้นปี 2561 เจฟเฟอร์มีสินทรัพย์ทั้งหมด 439 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีหนี้สิน 468 ล้านบาท
ก็คือมีหนี้สิน มากกว่า ทรัพย์สินไปแล้ว
ดังนั้น ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทจึงติดลบ 29 ล้านบาท
ซึ่งถ้าบริษัทขาดทุนปีละ 80 ล้านบาทในปีต่อๆ ไปอีก และเจ้าของบริษัทอยากดิ้นรนสู้ต่อ การแก้เกมเฉพาะหน้า ก็ต้องให้ยาบรรเทาอาการป่วย โดยจัดหาแหล่งเงินทุนมาสนับสนุนกิจการเพิ่มเติม
ซึ่งมียาสองชนิดให้เลือก คือ ไม่กู้ยืมธนาคาร ก็เจ้าของกิจการอัดฉีดเงินเพิ่มทุน
กรณีกู้ยืมธนาคารก็เป็นไปได้ยาก เพราะเห็นได้ชัดเจนว่า หนี้สินของบริษัทสูงมากแล้ว
ธนาคารเองก็ไม่อยากเอาตัวเองไปเสี่ยง เว้นแต่บริษัทจะเอาสินทรัพย์มาค้ำประกันเพิ่มเติม
ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ การเพิ่มทุนให้บริษัท
แล้วใครเป็นเจ้าของ เจฟเฟอร์ ?
เจฟเฟอร์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยคุณสหรัฐ กฤษฎาชาตรี
อดีตเคยเป็นผู้จัดการแผนก Food & Beverage ของโรงแรมมาถึง 15 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออกมาเปิดร้านสเต๊กเล็กๆ ของตัวเอง
โดยแรงบันดาลใจมาจาก เห็นว่าในสมัยนั้น สเต๊กเป็นอาหารราคาแพง มักขายเฉพาะตามโรงแรม
และร้านสเต๊กดีๆ ก็ไม่ค่อยมี ที่พอนึกออกก็มีแต่ Sizzler ซึ่งอยู่ในห้างเป็นหลัก
ทำให้เขาเห็นช่องว่างตลาด เลยตั้งใจจะเปิดร้านสเต๊กดีๆ ในราคาถูกขาย ที่ใครๆ ก็กินได้ เจาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา
ซึ่งเปิดสาขาแรกที่ ม.รังสิต ในชื่อของ BKK Grilled
และได้ขยายสาขาเรื่อยมา เช่นที่ Town in Town, เอแบค, สามย่าน
พอร้านเริ่มมีชื่อเสียง มีสาขาจำนวนมาก ก็ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น Jeffer Steak ที่เราคุ้นเคยกันทุกวันนี้
ซึ่งเขาตั้งตามชื่อเล่นของลูกสาวเขา
แต่หลังจากนั้น เจ้าของก็ได้เปลี่ยนมือไป
ในปี พ.ศ. 2557 คุณสหรัฐ ได้ขายร้านเจฟเฟอร์ ให้กับ บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นมูลค่า 631 ล้านบาท ซึ่งในตอนนั้นมีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 74 สาขาทั่วประเทศ
บริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจหลักๆ ได้แก่ รับจ้างผลิตและจำหน่ายรายการโทรทัศน์ให้กับสถานีช่องต่างๆ เช่น ช่อง 3, สถาบันสอนภาษา Wall Street English, บริการจัดงานอีเว้นท์สื่อสารการตลาดครบวงจร และร้านอาหาร เจฟเฟอร์
ผู้ถือหุ้นใหญ่สุดคือ
1) แคทลีน มาลีนนท์ 22.5%
2) บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) 12.5%
3) บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด 10.0%
4) นายณัฐพล จุฬางกูร 9.5%
หรือสรุปได้ว่า มาลีนนท์ ตระกูลผู้ก่อตั้ง ช่อง 3 หรือ บีอีซี เวิลด์, ห้างเดอะมอลล์ และตระกูลจุฬางกูร เป็นเจ้าของทางอ้อมของ ร้านสเต๊กเจฟเฟอร์ ในตอนนี้นั่นเอง
ปัจจุบัน เจฟเฟอร์ มีอยู่ทั้ง 60 สาขา เป็นสาขาที่บริษัทดำเนินการเองทั้งหมด และเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา บริษัทได้เริ่มต้นกลยุทธ์เปิดขายแฟรนไชส์ ซึ่งตอนนี้ อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็น “แฟรนไชส์ซี” ของแบรนด์เจฟเฟอร์
โดยมีเป้าหมายขยายสาขาในรูปเเบบแฟรนไชส์ให้เพิ่ม 100 สาขาในระยะเวลา 5 ปี
ซึ่งค่าแฟรนไชส์ของเจฟเฟอร์อยู่ที่ 1 ล้านบาท
โดยผู้สนใจลงทุน ต้องเตรียมงบประมาณลงทุนรวมทั้งหมดแล้วประมาณ 6-7 ล้านบาทต่อสาขา ขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่
ก็คงต้องติดตามต่อไปว่า กลยุทธ์การขายแฟรนไชส์ หรือกลยุทธ์อื่นๆ ที่จะมีในอนาคต
จะเป็นการผ่าตัดที่ทำให้เจฟเฟอร์ รอดพ้นจากห้องไอซียู แล้วออกไปวิ่งโลดแล่นได้เหมือนแต่ก่อนหรือไม่
แต่ในตอนนี้ อาการดูไม่ค่อยดี และคงต้องมีหมอคอยดูอาการอย่างใกล้ชิด
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.