AI จะมาสอนหนังสือแทนครู ?

AI จะมาสอนหนังสือแทนครู ?

29 มิ.ย. 2019
ห้องเรียนแห่งหนึ่ง มีนักเรียนอายุ 7-12 ปี กำลังตั้งใจฟังบทเรียนอย่างกระตือรือร้น
แต่ห้องนี้ไม่มีครูคอยถือหนังสือ และท่องบทเรียนให้ฟัง
เสียงที่นักเรียนได้ยินมาจากเจ้า Alexa.. ผ่านหน้าจอทีวี
พอบทเรียนจบลง ก็จะมีคำถามแบบฝึกหัด ให้นักเรียนได้ทำ และสามารถพูดคุยโต้ตอบได้ทันที
Alexa เป็น AI software ของ Amazon คล้ายกับ SIRI ที่เรารู้จักกันใน iPhone
มีทักษะมากกว่า 20,000 แบบ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน โดยการสั่งงานด้วยเสียง
แต่เบื้องหลังคอร์สการเรียนการสอนนี้ เกิดจากซอฟต์แวร์ของบริษัท Bamboo Learning Inc.
Bamboo เป็นบริษัทให้บริการด้านซอฟต์แวร์ และการศึกษาสำหรับเด็ก 
เน้นพัฒนาการเรียนการสอนผ่านอุปกรณ์เสียง อย่างเช่น Educational voice software ที่อยู่ใน Alexa
ซึ่งก่อตั้งโดย Irina Fine และ Ian Freed อดีตผู้บริหารของ Amazon
เป้าหมายของบริษัทคือ อยากให้เด็กๆ ใส่ใจการเรียนรู้ มีความอยากรู้อยากเห็น และความคิดสร้างสรรค์
โดยให้เด็กได้ฝึกวิชาผ่านการฟังและการใช้เสียง
อย่างที่รู้กันว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ ที่ผ่านมา ได้ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมมากมายให้มีความก้าวหน้าตามไปด้วย
แต่ในวงการศึกษา เรากลับรู้สึกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก
ถึงแม้เราจะใช้กระดานอัจฉริยะแทนกระดานดำ นักเรียน และครูใช้แท็บเล็ต
แต่กระบวนการศึกษาเองนั้นเกือบจะเหมือนกันกับเมื่อ 50 ปีที่แล้ว..
แต่ครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งก่อนๆ 
เทคโนโลยี AI จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกอุตสาหกรรม 
จนหลายฝ่ายกังวลว่ามันจะมาทดแทนมนุษย์ ไม่เว้นแต่บุคลากรทางการศึกษา
โดยเฉพาะแวดวงการศึกษาในอเมริกาที่ตื่นตัวกับเรื่องนี้มาก 
จนมีคนตั้งคำถามว่า ครูที่เป็นคนจริงๆ ยังจำเป็นอยู่ไหม ?
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตลาด AI ในภาคการศึกษาของสหรัฐฯ จากปี 2018 ถึง 2023 จะเติบโตถึงร้อยละ 47
AI กำลังเข้าปฏิวัติวิธีการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ที่นักเรียนต้องนั่งโต๊ะ ฟังครูสอนหน้าห้อง แล้วจดบันทึก
มาสู่รูปแบบการเรียนรู้ใหม่ๆ
มันสามารถสร้าง “เนื้อหาการสอน” ที่เหมาะกับนักเรียนในช่วงอายุต่างๆ และยังใช้ไวยากรณ์ได้อย่างถูกต้อง ดีพอๆ หรืออาจดีกว่าครูที่เป็นมนุษย์..
สามารถอ่านการแสดงออกทางสีหน้า เพื่อทำความเข้าใจว่าใครกำลังมีปัญหา หรือไม่เข้าใจกับบทเรียนเรื่องไหนอยู่
และ AI สามารถประเมินความก้าวหน้าของผู้เรียน ระบุจุดเด่น และจุดด้อยของนักเรียนได้อย่างรวดเร็ว แล้วปรับโปรแกรมการศึกษาให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน
วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถมุ่งเน้นสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีที่สุด และตรวจพบสิ่งที่จำเป็นต้องปรับปรุง
เรื่องทั้งหมดเป็นเพียงบางส่วนที่ AI ทำได้ และในอนาคตมันสามารถพัฒนาได้อีกอย่างก้าวกระโดด 
ด้วยพลังการประมวลผลที่เพิ่มขึ้นและอัลกอริทึมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เลยทำให้เราเริ่มกังวลแล้วว่ามันจะมาสอนหนังสือแทนมนุษย์
ถึงแม้ตอนนี้เทคโนโลยี AI ยังไม่สามารถทดแทนคุณครูที่เป็นมนุษย์ได้ทั้งหมด 
เพราะเรายังไม่เชื่อใจในเทคโนโลยีนี้มากพอ และต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนอยู่
แต่ในอนาคต เมื่อมันมีสติปัญญาเหนือกว่ามนุษย์มาก และเราคุ้นชินกับมัน
สุดท้าย AI ก็จะมาทดแทนมนุษย์ได้ในที่สุด
ลองนึกภาพเรามี จาร์วิส เหมือนในหนัง Iron Man เป็นของตัวเอง
เราคงไม่ต้องการให้ใครมาสอน เพราะมีกูรูที่ให้คำตอบเราได้ทุกเรื่อง
ขนาดในปัจจุบัน 
หลายครั้งที่เวลาเราอยากรู้เรื่องอะไร ก็จะถาม Google ไม่ใช่ครู..
บางคนอาจแย้งว่า เราเหนือกว่าในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ 
แต่ไม่แน่ว่าอนาคต AI อาจสร้างสรรค์งานศิลปะได้ดีกว่ามนุษย์ก็เป็นได้
ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้คือ การหาว่ามนุษย์มีอะไรดีกว่าเทคโนโลยี 
แล้วสร้างรากฐานการศึกษาที่ถูกต้อง เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับมนุษย์
และสนับสนุนนักเรียนให้มีทักษะการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี ไม่ใช่แข่งกับเทคโนโลยี
ก็น่าสนใจไม่น้อย 
ถ้า AI ได้เข้ามา Disrupt การศึกษาไทย 
แล้วกระทรวงศึกษาธิการที่ได้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท มีข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน จะเป็นอย่างไร?
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.