Flash Group ระดมทุนได้อีก 15,000 ล้าน ดันมูลค่าบริษัทแตะ 70,000 ล้าน อีก 3 ปี เตรียมเข้าตลาดหุ้น

Flash Group ระดมทุนได้อีก 15,000 ล้าน ดันมูลค่าบริษัทแตะ 70,000 ล้าน อีก 3 ปี เตรียมเข้าตลาดหุ้น

9 ม.ค. 2023
หลังจาก Flash Group ผู้ให้บริการ E-commerce สัญชาติไทยแบบครบวงจร และเป็นบริษัทแม่ของ Flash Express ผู้ให้บริการด้านขนส่งเอกชน
ปิดดีลการระดมทุนรอบซีรีส์ D+ และซีรีส์ E ไปเมื่อกลางปี 2021 ที่ผ่านมา
จนมูลค่าบริษัทแตะ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33,500 ล้านบาท) และทะยานสู่การเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์น “ตัวแรกของไทย” ได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การเป็นยูนิคอร์น ยังไม่ใช่เส้นชัยของ Flash Group แต่เป็นเพียงหนึ่งขั้นบันได้บนเส้นทางธุรกิจเท่านั้น
และวันนี้ ดูเหมือนว่า Flash Group กำลังก้าวขึ้นไปอีกขั้น..
โดยล่าสุด คุณคมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร Flash Group ได้ให้ข้อมูลว่า
Flash Group ได้ปิดการระดมทุนรอบซีรีส์ F ไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2022
ระดมทุนไปได้กว่า 15,000 ล้านบาท (ส่วนหนึ่งมากจากผู้ถือหุ้นเดิม ลงทุนเพิ่ม)
ซึ่งดันให้มูลค่าบริษัทของ Flash Group แตะ 70,000 ล้านบาท ได้ในที่สุด
และทำให้ Flash Group เป็นสตาร์ตอัปที่มีมูลค่ามากสุดในประเทศไทย
รวมถึงเป็นสตาร์ตอัปที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับต้น ๆ ในอาเซียน
ทั้งนี้ คุณคมสันต์ ลี เผยอีกว่า หลังจากนี้อย่างน้อย 3 ปี น่าจะเตรียมนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น
ปัจจุบัน Flash Group มีบริษัทลูกประมาณ 10 บริษัท
นอกจาก Flash Express แล้ว ก็ยังมีบริษัทอื่น ๆ เช่น
-Flash Logistics ที่ให้บริการรับส่งสินค้าขนาดใหญ่
-Flash Fulfillment) ให้บริการการด้านคลังสินค้า ดูแลจัดเก็บสินค้า
-Flash Home บริการตัวแทนรับส่งพัสดุ
-Flash Money บริการด้านการเงิน
ตอนนี้ Flash Express ถือเป็นเบอร์ 1 ในตลาด หากนับในด้านจำนวนพัสดุที่จัดส่ง
โดยมีพัสดุจัดส่งเฉลี่ย 2.4 ล้านชิ้น/วัน หรือประมาณ 700 ล้านชิ้น/ปี
และบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจในหลายประเทศ เช่น ไทย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, ลาว
ซึ่งปีนี้ Flash Express จะขยายธุรกิจไปอีก 1 ประเทศ (กำลังเลือกอยู่ระหว่าง สิงคโปร์ และ เวียดนาม)
สำหรับผลประกอบการ บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด
ปี 2019 มีรายได้ 2,123 ล้านบาท ขาดทุน 1,666 ล้านบาท
ปี 2020 มีรายได้ 9,739 ล้านบาท ขาดทุน 716 ล้านบาท
ปี 2021 มีรายได้ 17,607 ล้านบาท กำไร 6 ล้านบาท
คมสันต์ ลี บอกว่า ปี 2022 รายได้ของบริษัททรง ๆ ตัวจากปีก่อนหน้า
แต่มีผลขาดทุน เพราะต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น ทั้งด้านต้นทุนพลังงานและต้นทุนบริการที่สูงขึ้น
คุณคมสันต์ ลี ยังให้มุมมองต่อสภาพการแข่งขันในตลาดจัดส่งพัสดุด่วน อีกว่า
การแข่งขันเรื่องราคาจบไปแล้ว ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันกันด้วยเรื่องความเสถียรและคุณภาพ เช่น พัสดุที่ส่งถึงมือลูกค้า ต้องสภาพดีเหมือนเดิม รวมถึงความรวดเร็วในการจัดส่ง
ซึ่งเรื่องความเร็วในการจัดส่งพัสดุนั้น ไทยถือว่าเร็วสุดในอาเซียน โดยใช้เวลาเพียง 2 วัน
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.