รู้จัก The Elephant Pants แบรนด์ต่างชาติที่นำ “กางเกงช้าง” มาเพิ่มมูลค่า จนสร้างยอดขายได้ 200 ล้าน

รู้จัก The Elephant Pants แบรนด์ต่างชาติที่นำ “กางเกงช้าง” มาเพิ่มมูลค่า จนสร้างยอดขายได้ 200 ล้าน

12 ม.ค. 2023
ถ้าจะให้พูดถึงของดีประจำชาติไทยมาสักหนึ่งอย่าง นอกจากอาหารการกินและธรรมชาติอันสวยงามแล้ว
นาทีนี้ก็คงต้องยกให้กับ “กางเกงช้าง”
กางเกงมหัศจรรย์ ที่ไม่ว่าคนใส่จะตัวเล็กหรือตัวใหญ่ ก็สามารถใส่ได้พอดีอย่างน่าประหลาด..
ซึ่งความร้อนแรงของมันนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเหล่าศิลปิน-ดาราระดับโลก ที่ต่างหยิบกางเกงตัวนี้ มาใส่โชว์บนโซเชียลกันอย่างไม่ขาดสาย
ประกอบกับราคาขายที่ไม่แพง ตัวละ 100-300 บาท
จึงไม่แปลกเลยที่กางเกงช้าง จะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า
และสร้างรายได้ให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้า สามารถลืมตาอ้าปากได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ก็น่าเสียดาย.. ที่บ้านเรายังไม่ค่อยมีใครทำแบรนด์หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับกางเกงช้าง
กันสักเท่าไร ทั้งที่ก็มีความต้องการจากนักท่องเที่ยวมารองรับขนาดนี้
ทำให้ในบทความนี้ MarketThink จึงอยากจะขอหยิบยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
ของสองหนุ่มชาวอเมริกัน ที่เคยหยิบเอา “กางเกงช้าง” ของไทย ไปทำแบรนด์และสร้างมูลค่าเพิ่ม จนสร้างรายได้หลัก 200 ล้านบาท มาเล่าให้ฟังกันสักหน่อย..
เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2013
คุณ Nathan Coleman และคุณ James Brooks ได้มีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทย และได้ซื้อกางเกงช้าง กลับบ้านไปฝากเพื่อน
ซึ่งเพื่อน ๆ ของพวกเขา ก็ดูจะถูกใจกางเกงช้างจากไทยเอามาก ๆ
ทำให้ทั้งคู่เริ่มมองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดกางเกงช้าง มาทำเป็นธุรกิจอย่างจริงจัง
จนเกิดเป็นแบรนด์ “The Elephant Pants” ขึ้นมา
ซึ่งวิธีดำเนินธุรกิจของพวกเขา ก็เรียบง่ายมาก
- ช่วงแรก ทั้งคู่ใช้วิธีหาทุนทำธุรกิจ ผ่านช่องทาง Kickstarter แพลตฟอร์มการระดมทุนระดับโลก
ก่อนจะได้เงินระดมทุนมาราว ๆ 280,000 บาท
- ด้านสินค้า ก็ไปจ้างโรงงานผลิตที่เชียงใหม่
เพราะเป็นแหล่งที่ขึ้นชื่อ ในเรื่องของการผลิตกางเกงช้างอยู่แล้ว
ทำให้ได้ต้นทุนที่ถูกกว่าการไปจ้างที่อื่นออกแบบใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้น
- ส่วนเรื่องช่องทางการจัดจำหน่าย ก็ทำผ่านช่องทาง Facebook โดยทั้งคู่บอกว่ายอดขายเกิน 90% ของแบรนด์มาจากช่องทางนี้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งหน้าร้าน..
ดังนั้น ถ้าจะพูดว่า The Elephant Pants เป็นธุรกิจที่ซื้อกางเกงช้างจากไทย ไปขายต่อที่สหรัฐอเมริกา ก็คงไม่ผิดนัก
ซึ่งถ้าไม่สังเกตโลโกแบรนด์ที่ผูกไว้ที่กางเกงดี ๆ เราก็แทบจะแยกไม่ออกเลยว่า ตัวไหนคือกางเกงช้างจาก The Elephant Pants และตัวไหนคือกางเกงช้างทั่ว ๆ ไปจากบ้านเรา
แล้ว “The Elephant Pants” แตกต่างจากกางเกงช้างทั่วไปอย่างไร ?
คำตอบคือ การสร้างเรื่องราว (Story)..
ยอดขายทุก 10% ของ The Elephant Pants จะถูกนำไปบริจาคให้องค์กรที่ดูแลและปกป้องสัตว์ป่า
โดยที่หน้าเว็บไซต์หรือแฟนเพจ Facebook ของแบรนด์ ก็จะมีการเน้นย้ำเรื่องความสำคัญและคุณภาพชีวิตของช้างอยู่เสมอ
ซึ่งเจ้าของแบรนด์ก็ได้ทุ่มงบประมาณอย่างหนัก เพื่อสื่อสารจุดยืนตรงนี้ออกไป ให้ลูกค้าทุกคนได้เข้าใจ
โดยที่บางเดือน แค่งบการตลาดเพียงอย่างเดียว ก็ปาไปถึง 2.5 ล้านบาท เลยก็มี
พอเป็นแบบนี้ ทำให้กางเกงช้างของ The Elephant Pants สามารถเพิ่มและส่งมอบคุณค่า (Value) ที่ไม่มีใครในตลาดทำได้
ด้วยคุณค่าที่แบรนด์สร้างขึ้น และสื่อสารไปยังผู้บริโภคนี้ ทำให้แบรนด์สามารถอัปราคาขายสินค้าได้..
โดย The Elephant Pants ตั้งราคาขายไว้ที่ตัวละ “800 บาท”
เมื่อนำมาเทียบกับราคาขายส่งกางเกงช้างทั่วไปของบ้านเรา ที่เฉลี่ยไม่ถึงตัวละ 100 บาท
ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า ต่อให้จะหักส่วนที่นำไปบริจาค, ค่าขนส่ง หรือแม้แต่งบการตลาดแล้ว
เจ้าของแบรนด์ ก็น่าจะสามารถทำกำไรจากจุดนี้ได้ไม่น้อยเลย..
กลยุทธ์แบบนี้แม้จะดูธรรมดาก็จริง
แต่ก็ทำให้ The Elephant Pants สามารถทำยอดขายทะลุ 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือคิดเป็นเงินไทยราว 230 ล้านบาท ได้สำเร็จ ในระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น
และเชื่อหรือไม่ว่า ครั้งหนึ่ง The Elephant Pants
เคยเข้าไปขอเงินทุนผ่านรายการ “Shark Tank” ของสหรัฐอเมริกามาแล้ว
ถึงแม้ในตอนนั้น Shark หลายคนจะบ่นว่า ไม่ค่อยชอบโมเดลธุรกิจของ The Elephant Pants สักเท่าไร
- บางคนบอกว่า แบรนด์พึ่งพารายได้จาก Facebook มากเกินไป
และบอกว่าแค่ Facebook เปลี่ยนกฎแค่นิดเดียว ธุรกิจก็อาจจะเจ๊งได้
- บางคนก็บอกว่า ดิไซน์ของกางเกงช้างนั้นเลวร้าย จนอาจจะไม่มีใครกล้าใส่..
แต่สุดท้ายแบรนด์ก็สามารถปิดดีลกับ Shark คนหนึ่ง
พร้อมหอบเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 16.7 ล้านบาท กลับบ้าน แลกกับหุ้น 17.5% ของบริษัทได้สำเร็จ
หรือก็คือ กิจการ The Elephant Pants ถูกประเมินมูลค่าบริษัทไว้เกือบ ๆ 100 ล้านบาทเลยทีเดียว..
สุดท้ายนี้ แม้ว่าในปัจจุบันแบรนด์ The Elephant Pants จะหายไปจากสารบบเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งบางแหล่งข้อมูลก็ระบุว่า เจ้าของได้ตัดสินใจขายกิจการไปให้นักธุรกิจชาวจีน
แต่เรื่องนี้ ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการหยิบสินค้า “ทั่ว ๆ ไป” หรือ “ไม่ค่อยมีคนสนใจ” มาสร้างมูลค่าเพิ่มได้สำเร็จ
และก็ไม่แน่ว่า จริง ๆ แล้วประเทศไทยของเรา อาจจะยังมีสินค้าทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่สื่อถึงความเป็นไทย และน่ารักไม่แพ้กางเกงช้าง อยู่อีก
เพียงแค่กำลังรอใครบางคน ไปเพิ่มมูลค่าให้มันอยู่ก็ได้..
© 2024 Marketthink. All rights reserved. Privacy Policy.